เกลือและสุขภาพ
เกลือเป็นสารประกอบที่จำเป็นต่อชีวิตโดยเฉพาะโซเดียมเป็นสารที่เราได้รับพร้อมกับอาหารทุกวันมากบ้างน้อยบ้างตามพฤติกรรมของแต่ละคน เกลือโซเดียมที่ใช้ในการประกอบอาหารอยู่ในหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือ เกลือแกง หรือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ผงชูรส หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต (Sodium Monoglutamate) และผงฟูโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) ในโมเลกุลของเกลือเหล่านี้ โซเดียมเป็นสารที่มีความสำคัญต่อร่างกายมากที่สุด เนื่องจากโซเดียมทำหน้าที่ความคุมความสมดุลของน้ำในร่างกาย และเกลือแกงเป็นเกลือที่ใช้ในการประกอบอาหารมากที่สุด นอกจากเราจะได้รับเกลือแกงจากการประกอบอาหารโดยตรงแล้ว เกลือแกงยังเป็นส่วนประกอบของซอสชูรสต่างๆ เช่น น้ำปลา น้ำซีอิ้ว ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น นอกจากนั้นเกลือแกงยังเป็นสารที่สำคัญในการถนอมอาหาร เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า รวมทั้งของหมักดองต่างๆ
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าแต่ละวันเราไม่ควรกินเกลือเกินกว่า 5 กรัม (ประมาณ 1 ช้อนชา) แต่จากข้อมูลการสำรวจพบว่าคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทย กินเกลือมากกว่านั้นถึง 2 เท่า คนไทยกินเกลือเฉลี่ยวันละ 10.8 กรัม ปกติเกลือส่วนเกินถ้าไม่มากมักจะถูกขับออกผ่านไต ออกทางปัสสาวะ และเหงื่อโดยไม่กระทบต่อสุขภาพมากนัก แต่ถ้าเกลือส่วนเกินมีปริมาณมาก เกลือจะดึงน้ำในร่างกายมาสะสมในกระแสโลหิต เมื่อมีการสะสมมากเข้า หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงซึ่งจะนำไปสู่โรคหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน ขณะเดียวกันไตก็จะทำงานหนักมากขึ้น ทำให้เกิดโรคไตตามมา
รายงานจากกระทรวงสาธารณะสุขพบว่า จากการสำรวจอัตราการเป็นโรคความดันโลหิตสูงของคนไทยที่ช่วงปี 2543-2553 พบว่าคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นจาก 259 ต่อ 100,000 คน เป็น 1,349 ต่อ 100,000 คน เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า และประมาณ 20 ล้านคน ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจ รวมทั้งอัมพาต ถ้าผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมการบริโภคเกลือให้ลดลงได้ โรคก็จะนำไปสู่อาการไตวาย ซึ่งต้องทำการล้างไต และฟอกเลือดเป็นประจำ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล จนกว่าจะได้รับการแก้ เช่น เปลี่ยนไต ซึ่งก็ต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก
แม้ว่าเราจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถ้าไม่มีเกลือแต่เราก็สามารถควบคุมให้มีความเหมาะสมได้ วิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ
- ลดการใส่เกลือรูปแบบต่างๆ ในการปรุงอาหารลง 30-50% โดยค่อยๆลดลงเป็นขั้นตอนเพื่อให้ลิ้นได้มีโอกาสปรับการรับรสเค็มตามเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอส ในอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วก่อนบริโภค
- ลดหรือหลีกเลี่ยง อาหารที่ได้รับการถนอมด้วยเกลือในปริมาณมาก เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า รวมทั้งอาหารอบทอดที่ผสมเกลือปริมาณสูง เช่น มันฝรั่งทอด และของขบเขี้ยวต่างๆ