Font Size

มวลกระดูก : การสร้างและการสลาย

 bmkr

               ตั้งแต่เกิดจนตายกระดูกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งด้านการเจริญเติบโตและความหนาแน่นของกระดูก เซลล์ของกระดูกมีชีวิตอยู่ประมาณ 5-6 เดือน จะตายไป แล้วก็มีเซลล์ใหม่เกิดขึ้นมาทดแทน เราเรียกกระบวนการนี้ว่า “วงจรชีวิตของกระดูก” (Bone turn over) ถ้าวงจรชีวิตของกระดูกสั้นหรือเร็วขึ้นผลที่ได้คือการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก หรือกระดูกบางหรือกระดูกพรุนนั่นเอง

               กระดูกจะมีความหนาแน่นมากที่สุดเมื่อคนเราอายุ 30 ปี ฉะนั้นการส่งเสริมให้คนอายุต่ำกว่า 30 ปี ได้รับแคลเซียมเพียงพอจะมีผลให้ความหนาแน่นของกระดูกตอนอายุ 30 ปี มีมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการส่งเสริม

                จากอายุ 30 ปี ไปแล้วจะเริ่มมีการสูญเสียมากกว่าการสร้างมวลกระดูกเล็กน้อย แต่เมื่อถึงช่วงวัยทองของผู้หญิง การสูญเสียมวลกระดูกจะรุนแรงที่สุด ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วปีละ 3-5%

               เมื่อเข้าวัยเกษียณอายุการสูญเสียของมวลกระดูกก็จะยังมีอยู่ต่อไปประมาณปีละ 0.5-1.0% และเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ การสูญเสียมวลกระดูกก็จะลดลงไปเรื่อยๆ แต่เมื่อมวลกระดูกลดลง 30 % ขึ้นไปซึ่งทำให้เหลือมวลกระดูกน้อยกว่า 70% กระดูกจะหักได้ง่าย แม้แต่อุบัติเหตุเล็กน้อยหรือแม้แต่การกระแทกเบาๆ หรือก้มตัวเก็บของทำให้กระดูกสันหลังทรุดลงได้โดยง่าย ซึ่งระยะนี้คือระยะกระดูกพรุน ในคนไทยพบว่าผู้หญิงที่อยู่ในระยะอันตรายนี้อยู่ที่อายุ 65 ปี แต่ของผู้ชายกว่าจะถึงระยะนี้จะนานกว่าผู้หญิงเพราะฮอร์โมนเพศยังไม่หมดทันทีทันใดจะค่อยๆ หมดลง และขึ้นกับว่าชายคนนั้นมีปัจจัยเสี่ยงของเรื่องกระดูกพรุนหรือไม่ เช่นการดื่มเหล้า กาแฟ กินยาบางอย่างประจำ ไม่ได้ออกกำลังกาย มีโรคประจำตัว เป็นต้น

               ฉะนั้นการรักษาโรคกระดูกพรุนจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก-ผู้ใหญ่-วัยทอง&วัยชรา ไม่ใช่มารักษาเมื่อกระดูกพรุนแล้ว เพราะไม่สามารถรักษาให้กระดูกหายพรุนได้ เพียงแต่รักษาไม่ให้กระดูกพรุนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการรักษาเมื่อกระดูกพรุนแล้วจะต้องเสียเงินมากกว่ารักษาตั้งแต่กระดูกยังไม่พรุนหลายเท่า และจะให้ดีที่สุดต้องรักษาไม่ให้กระดูกพรุนเกิดขึ้นกับคนไข้จนแก่ตายได้ จึงจะนับว่าเป็นการรักษาที่ถูกต้อง

               ที่ผ่านมามีการตรวจความหนาแน่นของกระดูก Bone Mass Density (BMD) ว่ามีกี่ % ถ้าอยู่ระหว่าง 90-100% ก็พอจะนับว่ามีมวลกระดูกปกติ เมื่อไรมีน้อยกว่า 90 % จึงจะเป็นกระดูกบาง และถ้าน้อยกว่า  70% จะเป็นกระดูกพรุน ฉะนั้นการวัดมวลกระดูกจึงบอกสภาพว่ากระดูกอยู่ในสภาพไหนเท่านั้น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะรอให้การวินิจฉัยว่ามีกระดูกพรุนก่อนจึงจะให้การรักษา นั่นคือความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะการวัดมวลกระดูกไม่สามารถบอกได้ว่าในขณะนั้นมีการสลายเนื้อกระดูกสมดุลกับการสร้างกระดูกใหม่หรือไม่ ถ้าสลายมากว่าสร้างและปล่อยให้สภาพนี้เป็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะจบด้วยกระดูกพรุน

               จะทราบได้อย่างไรว่าในขณะนั้นการสูญเสียกระดูกกับการสร้างกระดูกอยู่ในสมดุลหรือไม่ต้อง ใช้วิธีตรวจสารชีวเคมีในเลือดที่เกิดจากการล่มสลายกระดูกและการสร้างกระดูกนั่นคือ Biochemical Bone Markers (BMK)

 *  ข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ “การใช้ประโยชน์ Biochemical Bone Markers (BMK)” โดย ศ.กิตติคุณ นพ. เสก อักษรานุเคราะห์ จัดพิมพ์ โดย Roche Diagnostics (Thailand) Ltd.