4 ม.ค.64 - นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ออก “กฎกระทรวงกําหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2563” กำหนดให้ลดเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่มกราคม-มีนาคมดังนี้ ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ลดเงินสมทบเหลือร้อยละ 3,ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดเงินสมทบเหลือ 278 บาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของทุกฝ่ายได้ถึง 15,660 ล้านบาท โดยเตรียมระบบรองรับการชำระเงินสมทบตามอัตราใหม่ ผ่านช่องทางต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 เช่น นายจ้างชำระเงินสมทบให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 ผ่านเคาท์เตอร์ธนาคารหรือผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ของธนาคารและที่สำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่ ส่วนผู้ประกันตน มาตรา 39 สามารถหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติในรอบวันที่ 15 ก.พ.64,บริการตามเคาน์เตอร์เทสโก้โลตัสจะเริ่มให้บริการวันที่ 7 ม.ค.64,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้บริการชำระได้ในวันที่ 15 ม.ค.64 และธนาคารธนชาตจะเริ่มในวันที่ 1 ก.พ.64
ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (โรคระบาด) สำหรับลูกจ้างผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน แต่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัว หรือนายจ้างหยุดประกอบกิจการจนลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง จะได้รับสิทธิทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลากักตัวแล้วแต่กรณี แต่ไม่เกิน 90 วัน เช่น ผู้ที่มีฐานเงินเดือน 15,000 บาทจะได้รับเงินเยียวยา 7,500 บาท ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียง 28 จังหวัดตามที่มีประกาศสั่งให้หยุดกิจการ
โดยสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th แล้วนำส่งนายจ้างได้ตั้งแต่วันนี้ (4 ม.ค.64 ) โดยจะต้องระบุเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารให้ชัดเจน สำหรับนายจ้าง ให้ยื่นขอรับสิทธิว่างงานผ่านเว็บไซต์เดียวกันและบันทึกข้อมูลในระบบอีเซอร์วิส โดยต้องบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบฟอร์มและหนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีราชการสั่งปิดหรือกักตัว แล้วส่งทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ โดยที่ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานฯ เมื่อครบถ้วนทุกขั้นตอน หลังจากนั้นเงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ และรอบตัดจ่ายกำหนดทุกสิ้นเดือนถัดไป หรือจนกว่าจะครบวันที่สถานประกอบการมีกำหนดปิด