Font Size
 
คืบหน้า! เผย '8 วัคซีน' ต้านโควิด เริ่มทดสอบทางคลินิก
 

ขณะนี้ หลายชาติพยายามเร่งพัฒนาวัคซีนต้าน โควิด-19 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ต้องรอถึงปีหน้ากว่าที่โลกจะมีวัคซีนมาใช้รักษาโรคนี้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีวัคซีนต้นแบบ 8 ตัวที่อยู่ในขั้นการทดสอบทางคลินิก

เริ่มด้วย วัคซีนของบริษัทแคนชิโน ไบโอโลจิกส์ อิงค์ของจีน ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพปักกิ่ง กำลังทดสอบทางคลินิกเฟส 1 และเฟส 2 เป็นการทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปี เฟสนี้ใช้กลุ่มตัวอย่าง 108 คน ซึ่งการทดสอบเฟส 1 และ 2 จะดำเนินการไปควบคู่กัน

2. วัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ปัจจุบันเข้าสู่เฟส 1/2 ทำการทดสอบในอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี 1,100 คนอายุ 18-55 ปี สุ่มรับวัคซีน และเริ่มประเมินและศึกษาวัคซีนในมนุษย์

3. วัคซีนของบริษัทอิโนวิโอของสหรัฐ กำลังทดสอบในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 40 คนในสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบคู่ขนานเฟส 1/2 ในเกาหลีใต้ควบคู่กันไป คาดว่าจะมีผลการทดสอบเบื้องต้นในเดือน มิ.ย.

4. วัคซีนของปักกิ่ง อินสติติวท์ ออฟ ไบโอโลจิคัล โพรดัคส์ / อู่ฮั่น อินสติติวท์ ออฟ ไบโอโลจิคัล โพรดัคส์ ซึ่งการทดลองยังอยู่ในเฟส 1

5. วัคซีนที่พัฒนาโดยปักกิ่ง อินสติติวท์ ออฟ ไบโอโลจิคัล โพรดัคส์ /ซิโนฟาร์ม เริ่มการทดสอบทางคลินิกตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2563 และกำลังวางแผนจะเริ่มการทดสอบเฟส 2 ควบคู่ไปกับเฟส 1

6. วัคซีนที่พัฒนารวมกันโดยเยอรมนี-จีน-สหรัฐ โดยบริษัทไบโอเอ็นเทค/โฟซุน ฟาร์มา/ไฟเซอร์ โดยในเยอรมนีเริ่มการทดสอบในเฟส 1/2 ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 200 คน อายุระหว่าง 18 ถึง 55 ปี เริ่มทดสอบในสัปดาห์นี้ไปแล้ว เตรียมขยายไปทดสอบเพิ่มในสหรัฐ คาดในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2563 อาจนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉินได้

7. วัคซีนของบริษัทซิโนวัคของจีน อยู่ในการทดลองเฟส 1 กำลังดำเนินการทดลองแบบสุ่มในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 144 คนระหว่างอายุ 18 ถึง 59 ปี

และ 8. วัคซีนของบริษัท โมเดอร์นา ร่วมกับสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐ (NIAID) กำลังทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 45 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี 

สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นไอเอช) ยังได้ขยายการทดลองให้ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ โดยทดสอบในอาสาสมัครวัย 56-70 ปี 3 คน และอายุ 71 ปีขึ้นไป 3 คน เพิ่งยื่นเรื่องไปยัง อย.ของสหรัฐ (เอฟดีเอ) เพื่อขอเข้าสู่การทดสอบในเฟส 2

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความเร็วในการพัฒนาและวิจัยวัคซีนต้านโรคโควิด-19 เป็นผลมาจากความพยายามของจีนในการจัดเรียงสารพันธุกรรมของไวรัส “ซาร์ส-โควี-2” (Sars-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคโควิด-19 และแบ่งปันข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. ทำให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถเพาะตัวอย่างไวรัสและศึกษาการทำงานของไวรัส แม้ไวรัสตัวนี้เพิ่งถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว

  • ผู้เชี่ยวชาญเตือนอาจไม่ได้วัคซีนอย่างที่คิด

ขณะที่หลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 และนักการเมืองก็พูดถึงเรื่องการพัฒนาวัคซีนที่มาถึงขั้นการทดลองในคน แต่อีกความเป็นไปได้ที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดกำลังเป็นกังวลอยู่ในเวลานี้คือ อาจไม่มีวัคซีนมารักษาโควิด-19 ซึ่งก็เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลายๆ ครั้งในอดีต

ดร.เดวิด นาบาร์โร ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขระดับโลกจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน และที่ปรึกษาโรคโควิด 19 ของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า มีไวรัสจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีวัคซีนรักษา

 

“เราไม่สามารถสันนิษฐานได้เต็มร้อยว่าจะมีวัคซีน หรือถ้ามี วัคซีนนั้นจะผ่านการทดลองว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยเพียงพอ และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั่วโลกต้องต่อกรกับไวรัสในฐานะเป็นภัยคุกคาม โดยสามารถใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้” ดร.นาบาร์โร กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ได้ ส่วนหนึ่งเพราะไวรัสตัวนี้ไม่ได้กลายพันธุ์เร็ว อย่างที่พบในเชื้อโรคตัวอื่นๆ อย่างมาลาเรีย หรือเอดส์ (HIV) แต่อีกหลายๆ คน รวมทั้ง ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิคุ้มกันบกพร่องของสหรัฐ กล่าวว่า อาจต้องใช้เวลาเป็นปีหรือปีครึ่ง

คริส วิตตี ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของอังกฤษประเมินไว้ว่า อย่างน้อยๆ ก็หนึ่งปีหรือเร็วกว่านั้น แต่หากการพัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นได้จริงในเวลาเหล่านี้ จะถือเป็นชัยชนะอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“เราไม่เคยเร่งพัฒนาวัคซีนในเวลาหนึ่งปีหรือปีครึ่งเลย ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่จะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องมีแผนสำรองไว้ด้วย” ดร. ปีเตอร์ โฮเตส อธิการบดีของวิทยาลัยเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งชาติของวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ในฮุสตันกล่าว

คณะนักวิจัยของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า วัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสต้นตอโควิด-19 ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง แสดงศักยภาพกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เพียงพอจะฆ่าเชื้อไวรัสได้ในขั้นทดลองก่อนดำเนินการทดสอบในมนุษย์

วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยมหาวิทยาลัย ควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลีย โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า การหนีบในระดับโมเลกุล หรือ โมเลคูลาร์ แคล็มพ์ (molecular clamp) ซึ่งได้รับสิทธิบัตรแล้ว และวัคซีนนี้ถูกนำไปทดสอบในหนูเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า สามารถกระตุ้นแอนติบอดี้ที่จำเป็นต่อการโจมตีไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 ได้ 

ด้านบรรดาผู้นำของโครงการวิจัยนี้ต่างยินดีกับผลลัพธ์ที่ดีพอต่อการเร่งพัฒนาวัคซีนตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ โดยศาสตราจารย์ พอล ยัง ผู้ร่วมนำการวิจัยของโครงการร่วมของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุว่า เป็นสิ่งที่ทีมงานคาดหวังไว้และทำให้ทีมวิจัยโล่งอก ที่ฝากความเชื่อมั่นไว้กับเทคโนโลยี จากความร่วมมือด้านนวัตกรรมความพร้อมเกี่ยวกับโรคระบาด ทั้งจากรัฐบาลกลางและรัฐควีนส์แลนด์ ตลอดจนบรรดาพันธมิตรเพื่อการกุศลนี้

ขณะเดียวกัน ได้มีการส่งตัวอย่างจากการทดลองในหนูไปยังสถาบันโดเฮอร์ตีในนครเมลเบิร์น เพื่อทดสอบความสามารถในการโจมตีไวรัสต้นตอโควิด-19 โดยเฉพาะ

ศาสตราจารย์คันทา ซับบาเรา จากสถาบันแห่งนี้พบแอนติบอดี้ระดับสูงในตัวอย่างการทดลอง บ่งชี้ว่าสามารถฆ่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีชีวิตในการเพาะเลี้ยงเซลล์ได้ ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญยิ่ง เพราะมีการตอบสนองทางภูมิคุ้ม กันที่คล้ายกับของวัคซีนโรคซาร์ส (SARS) ในแบบจำลองสัตว์ ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการติดเชื้อได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/878926