Font Size

ส่องความคืบหน้า 'วัคซีนโควิด-19' ชาติมหาอำนาจ

ส่องประเทศมหาอำนาจ กับการมุ่งหน้าพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งรัสเซีย จีน สหรัฐ และอังกฤษ ที่ต่างเดินหน้าพัฒนาจนเข้าสู่ขั้นตอนของการทดสอบหรือทดลองแล้ว และอีกไม่นานโลกก็จะมีวัคซีนที่ถือเป็นความหวังในการรอดพ้นจากวิกฤติร้ายครั้งนี้

ประเทศมหาอำนาจโลกต่างขับเคี่ยว เพื่อแข่งขันค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ท่ามกลางความหวังของทุกประเทศที่ต้องการทั้งยารักษาและวัคซีนต้านไวรัส ที่ขณะนี้คร่าชีวิตคนทั่วโลกแล้วกว่า 22 ล้านราย

  • รัสเซีย

กระทรวงสาธารณสุขรัสเซียเดินหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชุดแรกหลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศข่าวดีว่า รัสเซียเป็นผู้สร้างวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นประเทศแรกของโลก มีชื่อว่า “สปุตนิก 5”  ผลงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยากามาเลยา เป็นสถาบันทางการแพทย์ใกล้กรุงมอสโก

มิคาอิล มูราชโก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนตัวนี้ปลอดภัย ถึงแม้ว่าการทดลองทางคลินิกยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และการทดสอบระยะสุดท้ายที่ต้องทดลองกับคนมากกว่า 2,000 คน

ขณะนี้เริ่มทดลองแล้วเมื่อ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา และต้องรอผลการทดลองอีก 6 เดือนข้างหน้า ท่ามกลางข้อกังขาจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และนักวิทยาศาสตร์จากโลกตะวันตกบางรายเตือนว่า รัสเซียเดินหน้าใช้วัคซีนเร็วเกินไปอาจเป็นอันตรายได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกว่า 20 ประเทศแสดงความสนใจที่จะใช้วัคซีนโรคโควิด-19 ของรัสเซีย โดยรัสเซียพร้อมทำงานใกล้ชิดกับดับเบิลยูเอชโอ ในการพัฒนาและใช้งานวัคซีนในอนาคต ผ่านโครงการส่งเสริมการเข้าถึงการต่อสู้กับโรคโควิด เพื่อเร่งพัฒนา ผลิต และเข้าถึงอย่างเป็นธรรมในด้านการตรวจรักษา และรับวัคซีนโควิด-19

  
  • จีน

จีนจดสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 ฉบับแรกให้กับบริษัทแคนชิโน ไบโอโลจิคส์ อิงค์ ร่วมกับสถาบันวิทยาการทหาร พัฒนาวัคซีนที่มีชื่อว่า Ad5-nCOV เป็นการพัฒนาวัคซีนโควิดจากการตัดต่อสารพันธุกรรม หรือไวรัลเวกเตอร์ (Viral vector vaccine) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน นับเป็นก้าวสำคัญที่จีนเข้าสู่ทดลองทางคลินิก ซึ่งจะเตรียมนำไปทดลองในซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งแคนชิโนกำลังเจรจากับรัสเซีย บราซิล และชิลี เพื่อทำการทดลองในประเทศเหล่านี้

ขณะที่สถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพอู่ฮั่น ภายใต้บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีนในเครือซิโนฟาร์ม เผยแพร่รายงานผลทดลองวัคซีนโควิดทางคลินิกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ชนิดเชื้อตาย หรือเป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคทั้งตัว (whole-virus vaccines) ทดลองกับอาสาสมัครแบ่งเป็น 96 คน เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และ 224 คน เข้าร่วมการทดลองระยะที่ 2 พบว่า วัคซีนกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในบรรดาอาสาสมัครได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงให้เห็นถึงการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

บริษัท ไชน่า เนชันเเนลไบโอเทคกรุ๊ป เผยเมื่อต้นเดือน ส.ค.ว่า โรงปฏิบัติการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด ชนิดเชื้อตายในกรุงปักกิ่งได้รับการยืนยันว่า ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ และยังมีโรงปฏิบัติการอีกหนึ่งแห่งที่เมืองอู่ฮั่น ทั้ง 2 แห่งสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายได้มากถึง 220 ล้านโดสต่อปี

 

  • สหรัฐ

นายฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ เปิดเผยว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ “วัคซีน ปฏิบัติการวาร์ป สปีด” กำลังอยู่ในขั้นทดลองเฟส 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย กับอาสาสมัครกว่า 30,000 คน เพื่อยืนยันประสิทธิภาพวัคซีน อาจทำให้สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอดีเอ) ไม่สามารถอนุมัติก่อนเดือนพ.ย.

 

การพัฒนาวัคซีนของสหรัฐ มีควบคู่กับการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จากบริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่งที่กำลังพัฒนาวัคซีน รวมกว่า 500 ล้านชุด คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ โดยหวังให้ทดลองเสร็จสิ้นและส่งมอบภายใน ธ.ค.นี้

บริษัทผู้ผลิตยา ไฟเซอร์ อิงค์ และไบโอเอ็นเทค ได้ทำข้อตกลงกับกระทรวงและกระทรวงกลาโหม ร่วมกันพัฒนาวัคซีน หากประสบความสำเร็จ มีเป้าหมายผลิตเพื่อส่งมอบวัคซีนโควิด 300 ล้านโดส ภายในเดือน ม.ค. ปีหน้า ส่วนบริษัทซาโนฟีของฝรั่งเศส และแกล็กโซสมิธไคลน์ พีแอลซีของอังกฤษ ได้บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐ ในการจัดซื้อวัคซีน 100 ล้านโดส

นอกจากนี้ยังบรรลุข้อตกลงกับแจนส์เซน ฟาร์มาซูติคอล บริษัทในเครือของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กำลังทดลองวัคซีนทดลองต้านไวรัสที่ชื่อ Ad26.COV2.S ถ้าสำเร็จจะผลิต100 ล้านโดส ส่งมอบให้กับสหรัฐทันที หลังจากที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ภายใต้อำนาจตามมาตรการฉุกเฉินจากเอฟดีเอ

 

  • อังกฤษ 

มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ภายใต้โครงการ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า เปิดเผยผลการทดลองในเฟส 1 และ 2 ประสบผลสำเร็จ ที่ชื่อว่า "ChAdOx1 nCoV-19" ได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 1,077 ราย พบว่า อาสาสมัครสามารถสร้างแอนติบอดี และเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สามารถต่อสู้กับโควิด เกิดผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยซึ่งสามารถลดลงได้โดยการใช้ยาพาราเซตามอล และไม่มีอาการร้ายแรงจากการทดลอง

ดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า ตอนนี้มีการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดทั่วโลกประมาณ 160 ตัวอย่าง แต่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ถือเป็นกลุ่มแนวหน้าที่จะผลิตวัคซีนสำเร็จเป็นอันดับต้นๆ  และเร็วที่สุดช่วงต้นเดือน ก.ย.

 

159781446155

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/894202?anf=