ความมีอคติและความสุดโต่งในตัว อาจทำให้คนไทยด้วยกันไมเชื่อมั่น ว่าเราแต่ละคนมีลักษณะทั้งสองอย่างคือทั้งรักชาติและชังชาติในตัวคนเดียวกันได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เจรจาพูดคุยกันด้วยดี มีความดูถูกกันและเกลียดชังกัน จึงไม่เป็นผลดีต่อชาติเลย
🔸บทความ ดร.พัทธจิต อาจารย์ ประจำ มหาวิทยาลัย วาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ครับ 🔸
อะไรเรียก “รักชาติ” อะไรคือ “ชังชาติ”...เราอยู่กันคนละขั้วจริงหรือ?
โพสต์นี้เป็นการแปลเก็บความปาฐกถาเรื่อง “谈谈爱国” “ความรักชาติคืออะไร” ของ อาจารย์จือ จงอวิ๋น (资中筠) อจ. ชาวจีนผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ และประวัติศาสตร์ค่ะ...อจ. พูดถึงความรักชาติในบริบทของประวัติศาสตร์จีน แต่ประเด็นมันเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์การเมืองไทยช่วงนี้เป็นอย่างยิ่ง เลยอยากจะเอามาเล่าต่อค่ะ (มีข้ามบ้าง สลับที่บ้าง เพิ่มเติมความคิดตัวเองเข้าไปบ้าง เพื่อความลื่นไหลในการอ่านนะคะ)
ปาฐกถานี้เริ่มต้นด้วยข้อสังเกตที่ว่า...หลายครั้ง วาทกรรมคำว่า “รักชาติ”(爱国) หลายครั้งถูกเอามาใช้ทำร้ายชาติ และเบียดเบียนประชาชนเสียเอง (祸国殃民)
อจ. จือ เริ่มด้วยคำถาม “เวลาคุณพูดว่ารัก ‘ชาติ’ คำว่า’ ชาติ’ หมายถึงอะไร” และก็เสนอว่า มีคำตอบอยู่ 3 ชั้น
ชั้นแรก คือ ชาติในความหมายของ “Country” หรือ “บ้านเกิดเมืองนอน ” ซึ่งเป็นความรู้สึกผูกพันในที่ที่ตัวเองเคยอยู่และเติบโต ความหมายชั้นแรกนี้ ไม่ได้มีนัยยะทางการเมือง
ชั้นที่สอง คือรักชาติในฐานะของ “nation” คือรักและหวงแหนใน “ประวัติศาสตร์ และอารยธรรม 5000 ปี” ของชาติ...แต่ความรักแบบนี้ ก็ต้องไม่รักแบบงมงาย ไม่รักแบบสุดใจจน “โงหัวไม่ขึ้น” เพราะไม่อย่างนั้น ก็อาจจะเจอชะตาเดียวกันกับจีนช่วงสงครามฝิ่น ที่จีนหลงมองตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางอารยธรรม มองประเทศอื่น ๆ ว่าเป็นพวกคนเถื่อน จนสุดท้ายกว่าจะรู้ตัวว่าพวก “คนเถื่อน” มีระดับอารยธรรมสูงกว่าตนหลายขุมนั้น ประเทศแทบไม่เหลืออะไรให้ชื่นชม...
ส่วนตัว ชอบประโยคนี้มาก “หากคุณไม่อ่านประวัติศาสตร์จีน จะไม่รู้ว่าจีนยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่หากคุณไม่อ่านประวัติศาสตร์ยุโรป จะไม่รู้ว่าจีนล้าหลังแค่ไหน " 不读中国史不知道中国的伟大,不读西洋史不知道中国的落后 " สุดท้ายแล้ว คุณต้องเรียนรู้ที่จะเปิดใจมองโลกจากแว่นของคนชาติอื่น ๆ...ความรักและความภูมิใจ มันต้องมาคู่กับการคิด วิเคราะห์ และเปรียบเทียบเสมอ...
.
ชั้นที่สาม คือ รักชาติในฐานะที่ชาติเป็น “state”...อันนี้ จะมีนัยยะของความเป็นสถาบันทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องละ แต่ก่อนสงครามฝิ่น concept เรื่อง state ยังไม่ชัด เพราะฉะนั้น ความรักชาติ คือความจงรักภักดีต่อสถาบันการเมืองสูงสุดในสมัยนั้น ซึ่งก็คือ “ราชสำนักชิง” นั่นเอง...
แต่สงครามฝิ่นไม่ได้เป็นเพียงแค่การปะทะกันทางกำลังระหว่างราชสำนักชิงกับอังกฤษเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการปะทะกันระหว่างความรู้และโลกทัศน์ของสองฝ่ายด้วย...หลังจากสงครามฝิ่น concept เรื่องชาติในฐานะ “modern state” ก็ชัดขึ้น...การรัก “ชาติ” ในความหมายนี้ จึงหมายถึงการเร่งปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย โดยเปิดรับเอาวิทยาการความรู้จากตะวันตกเข้ามาให้มากที่สุด และเร็วที่สุด และสิ่งนี้ก็นำไปสู่สโลแกนการปฏิรูปอุตสาหกรรม " ช่วยชาติ " การปฏิรูปการศึกษา“ช่วยชาติ” แล้วสุดท้าย ก็ค่อย ๆ ขยายไปสู่ “การปฏิวัติช่วยชาติ”
ทีนี้ก็เลยเกิดคำถามขัดแย้งขึ้น การกระทำแบบไหน ถึงเรียกว่า “ช่วยชาติ”...ตอนนั้น เสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย...ฝ่ายแรกคือ ฝ่ายปฏิรูปที่จงรักภักดีต่อราชสำนัก สนับสนุนให้ปฏิรูปราชวงศ์ชิงให้เป็น constitutional monarchy
ที่ทันสมัย ให้ราชวงศ์ชิงมีโอกาสได้ไปต่อ...ฝ่ายที่สองคือ...ฝ่ายปฏิวัติ คือต้องการล้มล้างราชวงศ์ชิง เพื่อให้จีนได้เกิดใหม่เป็นสาธารณรัฐ...กลุ่มหลังนี้นำโดย ดร. ซุนยัดเซ็นที่เรารู้จักกัน...ฝ่ายปฏิรูปได้พยายามทำให้ประเทศทันสมัยอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ถูกขัดขวางจากกลุ่มอำนาจเก่า โดยเฉพาะพระนางซูสีไทเฮา... สุดท้าย ราชวงศ์ชิงเลยถูกกลุ่มของ ดร. ซุนยัดเซ็นปฏิวัติไปในปี 1911 แล้วจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ...
กลับมาสู่คำถามหลัก แล้ว ความ “รักชาติ” คือรักอะไร...
ฝ่ายปฏิรูปรัก “ชาติ” ในฐานะที่ ชาติ=state ที่มีราชวงศ์ชิงเป็นผู้นำ state...เพราะฉะนั้นการธำรงไว้ซึ่งราชวงศ์คือความรักชาติ
แต่สำหรับฝ่ายปฏิวัติของซุนยัตเซ็น...ชาติ=nation...การล้มล้างราชวงศ์ชิง คือการล้มล้าง state เพื่อให้ชาติในฐานะ nation ได้ไปต่อ...
เช่นนี้แล้ว การกระทำของซุนยัตเซ็น ผู้ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นบิดาของชาติจีนจากจีนทั้งสองฝั่ง คือ การ“รักชาติ” หรือ “ ชังชาติ ” ?
พูดถึงความรักชาติ อีกตัวอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ กบฏนักมวย ( boxer’s rebellion, 1899-1901)...ซึ่งมักถูกยกย่องอยู่บ่อย ๆ ในฐานะวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จีนกระแสหลัก...กบฏนักมวยเป็นกลุ่มกบฏที่ตอนแรกมีเป้าหมายจะล้มล้างราชวงศ์ชิงฟื้นฟูราชวงศ์หมิง แต่สุดท้ายแล้ว ราชสำนักชิงไปดีลไว้ให้มาเป็นพวก แล้วให้คนเหล่านี้พุ่งเป้าไปที่การกำจัดคนต่างชาติในจีนแทน...คนกลุ่มนี้ ทั้งทำลายโบสถ์ ฆ่าบาทหลวง ทำลายสถานทูต...พอคนต่างชาติถูกล้างบางเป็นจำนวนมาก ประเทศแม่ของคนเหล่านั้นก็ขู่ว่าถ้าราชสำนักชิงไม่ทำอะไรสักอย่าง ประเทศเหล่านั้นจะส่งกำลังทหารมาช่วยคนชาติตัวเอง...
ตอนนั้น เสียงในราชสำนักแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกบอกให้ “กำราบ”กบฏนักมวย ไม่ให้สถานการณ์บานปลาย จะได้ไปบอกต่างชาติได้ว่าไม่ต้องส่งทหารมา เราเอาอยู่...ฝ่ายที่สองบอกให้ “ลุยต่อ” เราควรใช้ความโกรธแค้นจากประชาชนให้เป็นประโยชน์ ให้พวกนักมวยสู้กับพวกต่างชาติต่อไป...สุดท้าย ฝ่าย “ลุยต่อ” ชนะ ฝ่ายที่ให้กำราบโดนฆ่าตาย...ต่อมา ซูสีไทเฮาประกาศสงครามกับ 11 ชาติ เปิดให้พวกกบฏนักมวยเข้ามาในปักกิ่ง แน่นอน คนต่างชาติถูกสังหารหมู่...
เรื่องเลยจบลงที่...พันธมิตร 8 ชาติส่งทหารมาปราบพวกกบฏ ความโกรธแค้นนำไปสู่การเผาทำลายพระราชวังหยวนหมิงหยวนในปักกิ่ง...และซากวังก็ถูกเก็บไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึง "ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู " จนถึงทุกวันนี้…
ในเวลาใกล้ ๆ กัน ยังมีกลุ่มข้าราชการหัวเมืองอีกกลุ่มเลือกไม่ฟังคำสั่งราชสำนัก ให้ที่คุ้มกันคนต่างชาติแทน แลกกับการที่ให้คนต่างชาติบอกทหารชาติตนไม่ให้เข้ามาทำลายพื้นที่ที่ตนดูแลอยู่ สุดท้ายพื้นที่เหล่านี้ กลายมาเป็นพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นที่สุด เศรษฐกิจดีที่สุด พัฒนาที่สุดในจีนทุกวันนี้
แล้วยังงี้ การกระทำของใครที่ เรียกว่า “รักชาติ” การกระทำของใครที่ควรถูกเรียกว่า “ชังชาติ” ?
เราเรียกกบฏนักมวยที่ถือสโลแกนเชิดชูราชวงศ์ชิง ทำลายล้างคนต่างชาติ แล้วจบลงด้วยการที่ต่างชาติส่งทหารมาทำลายวังจนย่อยยับว่า “รักชาติ” ได้อยู่หรือไม่
แล้วเราเรียกฝ่ายที่ขัดคำสั่งราชสำนัก แล้วเสนอให้เจรจากับศัตรูและให้ที่คุ้มกันกับคนต่างชาติ จนพื้นที่นั้นไม่ถูกทำลาย ว่า “ชังชาติ” ได้จริงหรือ?
.
การที่คุณพูดว่า “รักชาติ” คุณกำลังรักอะไร...รักตัว concept ที่โก้หรูหรือว่า รักในตัวประชาชน... “ชาติ” จะคงอยู่ไปทำไม ถ้าไม่ใช่เพื่อเป็น “เกราะ” ป้องกันให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและตามหาความสุขตามนิยามของตนเอง...เราต้องไม่ลืมว่า รากฐานของ “ชาติ” คือ ประชาชน...อย่าเอา concept คำว่า “ประชาชน” ในความหมายที่เป็นนามธรรมมาพรากสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของ "คน" ที่มีเลือดเนื้อและลมหายใจ...
ในเมื่อ รากฐานของ “ชาติ” คือ ประชาชน...การคุกคามประชาชน...จึงไม่สามารถเรียกว่า “ความรักชาติ” ได้
.
ประเทศที่ยิ่งใหญ่ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่ทำให้เราภูมิใจว่าเรามีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลในจินตนาการ แต่คือประเทศที่ให้ชนทุกชั้น คนทุกอาชีพมีพื้นที่และสิทธิที่จะไล่ตามความสุขของตัวเองได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งมันก็หมายความว่า ประเทศนั้น จะต้องให้ค่ากับ ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค นิติธรรม และอารยวิถี...ไม่ใช่หรือ
ถ้าประเทศนั้น ไม่ได้ให้ค่ากับคุณค่าเหล่านี้ แล้วคุณบอกเพียงว่า “รักชาติ” ด้วยความหวังว่า อยากให้ประเทศนั้น “มั่งคั่ง” และ ”แข็งแกร่ง” คุณต้องกลับมาถามตัวเองแล้วล่ะ ว่า “ใคร“ ที่มั่งคั่ง...สถาบันใดสถาบันหนึ่งมั่งคั่ง หรือ ประชาชนมั่งคั่ง?...แล้ว “อะไร” ที่แข็งแกร่ง...กองทัพกระนั้นหรือ? คุณต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่จะทำให้ชาติยืนหยัดอย่างยั่งยืนได้นั้น ไม่ใช่ความรักชาติอย่างหมดใจ ไม่ใช่ความมั่งคั่ง และไม่ใช่ความแข็งแกร่ง แต่มันคือการที่ชาตินั้นยึดมั่นในครรลองประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค นิติธรรมและอารยวิถี เป็นคุณค่าพื้นฐานต่างหากเล่า...
ชาติที่มีเพียงคนรักชาติอย่างสุดหัวใจ มีเพียงความมั่งคั่ง และความแข็งแกร่ง...สิ่งเหล่านั้นจะค่อย ๆ นำ “ชาติ” นั้นไปสู่วิถีแห่งความป่าเถื่อนและการใช้ความรุนแรงในการปกครองประเทศ...ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ การที่หน่วยบินจู่โจมคามิคาเซ่ของญี่ปุ่นสู้อย่างตัวตายถวายหัว เอาเครื่องบินพุ่งชนเรือรบของฝ่ายศัตรูได้อย่างไม่เกรงกลัวความตาย ด้วยยึดมั่นใน “รัก” และ “ภักดี” ที่มีต่อชาติและจักรพรรดิ...แต่สุดท้าย “ความรักชาติ” เดียวกันนั้นก็นำญี่ปุ่นไปสู่การพ่ายแพ้สงคราม
หรือเรากำลังรักชาติแบบในสุภาษิตจีน “儿不嫌娘丑” (แม่สวยงามในสายตาลูกเสมอ) กันอยู่หรือเปล่า...ไม่ว่า “แม่” จะน่าเกลียดน่ากลัวแค่ไหน ยังไงลูกก็รักแม่เสมอ...มันฟังดูสวยงามนะ แต่อาจเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์อันใด ถ้าเห็นว่า “แม่” ล้าหลัง เราก็ควรช่วยกันปฏิรูป พัฒนา “แม่” ไม่ใช่หรือ...ถ้าเห็นว่า “แม่” ไม่สวย ก็ควรช่วยกันแต่งตัวแต่งหน้าให้ไม่ใช่หรือ... ถ้าเห็นว่า “แม่” ป่วย เราก็ควรหายามาช่วยรักษาเยียวยาไม่ใช่หรือ...การทำแบบนี้ มันน่าจะเป็นการ “รัก” แม่มากกว่าการพร่ำบอกตัวเองว่า “แม่จะน่าเกลียดน่ากลัวแค่ไหน ป่วยเป็นอะไร ลูกก็ยังรักแม่อย่างไม่มีเงื่อนไข” แล้วก็ปล่อยแม่ไว้ตามยถากรรมไม่ใช่หรือ
หากเป็นเช่นนี้ เราจะยังพูดกันอีกไหม ว่าคนที่ชี้ชวนให้เห็นปัญหาของ “ชาติ” เพื่อที่จะร่วมพัฒนาแก้ไข คือ “คนชังชาติ”?
หรือเราจะยังพูดอีกไหม ว่าคนที่ “รัก” ชาติด้วยศรัทธา อย่างหมดหัวใจ แล้วปล่อยชาติให้เป็นไปตามยถากรรม คือ “คนรักชาติ”?
.
อาจจะจริงก็ได้นะ ที่เค้าพูดกันว่า ว่าอีกฟากของความรัก ไม่ใช่ความเกลียดชัง แต่คือความเพิกเฉย (The opposite of love is not hate, it's indifference)
จริง ๆ แล้ว “คนชังชาติ” และ “คนรักชาติ” อาจไม่ใช่คนสองฝั่งฟากที่เราจะไปขีดเส้นแบ่งได้อย่างเด็ดขาดง่ายดาย
ความ “รักชาติ” กับความ “ชังชาติ” อาจไม่ได้เป็นขั้วตรงข้าม...แต่อาจจะเป็นเพียงสองด้านของ “ใจ” ดวงเดียวกัน...
ใจที่รอคอยเราเองไปสังเกต ค้นพบและตั้งคำถาม
.
ก่อนที่จะไปแขวนป้ายว่าใครว่า “ชังชาติ” ก่อนที่เราจะให้ค่ากับการกระทำของตัวเองว่า “รักชาติ”...อยากชวนให้ทุกคนได้ลองฉุกคิดถึงมิติที่กล่าวมาเหล่านี้ค่ะ...
ที่สุดแล้ว เราทุกคนอาจไม่ได้ต่างกันคนละขั้วอย่างที่เราเคยคิด
.
และสุดท้าย ปาฐกถานี้ชี้ให้เห็นว่า ความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของประเทศ ของประวัติศาสตร์และอารยธรรมของชาติอย่างงมงาย และชื่นชมใน “เอกลักษณ์” ของชาติจนหยุดเปรียบเทียบ ตั้งคำถาม และถกเถียงกับปัญหาที่อยู่ตรงปลายจมูก...มันอาจจะนำเราไปสู่วิกฤตที่ทำให้ชาติล่มจมได้ในสักวัน...
.
ได้แต่ภาวนาว่า ขออย่าให้วิกฤตนั้น เกิดขึ้นกับประเทศไทยเลย
พัทธจิต ตั้งสินมั่นคง
21 กันยายน 2563