Font Size

หลากวิธีพิฆาต‘เชื้อดื้อยา’ของนักวิทยาศาสตร์

 

จะสู้รบปรบมือกับสิ่งมีชีวิตจิ๋ว ที่ไม่เกรงกลัวสารปฏิชีวนะพวกนี้ได้อย่างไร เรื่องนี้มีคำตอบหลายอย่างเกี่ยวกับ"เชื้อดื้อยา"

ปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์สายชีวภาพหรือการแพทย์เป็นกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ การพบจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียที่ต้านทานต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น และในจำนวนนี้ก็มีหลายกรณีที่แทบจะหาอนุพันธ์ใหม่ๆ ของยาที่ใช้ฆ่าเชื้อพวกนี้ไม่ได้อีกแล้ว ป่วยการที่จะไปกล่าวถึงยาเก่าๆ ที่ใช้มานาน เพราะมีการผลิตยาปฏิชีวนะเพื่อนำมาใช้รักษาโลกนานกว่า 70 ปีเข้าไปแล้ว

ยารุ่นแรกๆ ที่ผลิตได้จึงใช้รักษาไม่ค่อยได้มานานแล้ว

ถ้าถึงวันหนึ่งที่ "เชื้อดื้อยา" พวกนี้กระจายไปทั่ว วันนั้นหากเรามีแผลแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะติดเชื้อจนเสียชีวิตได้ไม่ยากเลย หากวันนั้นมาถึง หัตการที่ทำกันเป็นกิจวัตรและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก เช่น การผ่าตัดคลอดบุตรที่เรียกว่า ซี-เซ็กชั่น (C-section) หรือซีซาร์เซ็กชั่น เพราะร่ำลือกันว่าจูเลียส ซีซาร์ ถือกำเนิดมาด้วยวิธีการแบบนี้ ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพก และการผ่าตัดที่ซับซ้อนอย่างการปลูกถ่ายอวัยวะ คงกลายเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงมาก จนอาจจะจบลงที่การติดเชื้อ (ดื้อยา) และเสียชีวิตในที่สุด

เรื่องนี้ไม่ได้ไกลตัวเราคนไทยเลยนะครับ ผมรู้จักเพื่อนบางคนที่ต้องไปเข้าห้องผ่าตัดด้วยโรคบางอย่าง ปรากฏว่า กลับติดเชื้อดื้อยา กลับมาให้ต้องรักษาอีกรอบ ซึ่งสะบักสะบอมกว่ารอบแรก เพราะกว่าจะรู้ว่าเป็นเชื้อดื้อยาก็โดนยาไปหลายขนานทีเดียว ที่น่าเจ็บใจ ก็คือ สถานที่ซึ่งควรจะปลอดภัยสุดยอดอย่างห้องผ่าตัด กลับเป็นแหล่งเพาะเชื้อดื้อยาสำคัญ...เหมือนกันทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์จะสู้รบปรบมือกับสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่ไม่เกรงกลัวสารปฏิชีวนะพวกนี้ได้อย่างไร คำตอบอาจมีได้หลายแบบครับ ตัวอย่างแรกที่จะเล่าให้ฟังอาศัยอนุภาคนาโนครับ

 

 

แบคทีเรียหลายชนิดสร้างสารชีวพิษ (toxin) ที่ทำลายเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่มันไปอาศัยอยู่ด้วยได้ สารชีวพิษที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่งมีหลักการทำงานคือ การไปเกาะและเจาะ จนทำให้เกิดรูรั่วขึ้นที่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ สุดท้ายเซลล์นั้นก็จะแตกออกในที่สุด

ตัวอย่างแบคทีเรียกลุ่มนี้คือ พวก E. coli ที่เป็นญาติกับพวกที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของพวกเราด้วย อีกกลุ่มก็คือ แบคทีเรียสกุลลิสเทอเรีย (Listgeria) ที่โจมตีได้ทั้งระบบประสาทส่วนกลางและทางเดินอาหาร ชื่อสกุลดังกล่าวมาจากแพทย์ผ่าตัดชาวอังกฤษ โจเซฟ ลิสเทอร์ (Joseph Lister) ที่บุกเบิกเรื่องการผ่าตัดในสภาวะปลอดเชื้อ และใช่ครับ ... ถูกนำมาใช้ดัดแปลงเป็นชื่อน้ำยาบ้วนปากยี่ห้อดังรายหนึ่งด้วย

เชื้อที่ก่อโรคแอนแทร็กซ์ ซึ่งเคยมีการนำมาใช้ก่อการร้ายเป็นข่าวดังในประเทศสหรัฐอเมริกาก็อยู่กลุ่มนี้เช่นกัน ถ้ายังจำกันได้คือ รายที่เอาผงที่มีเชื้อแอนแทร็กซ์ส่งไปทางซองจดหมายนั่นแหละครับ

แม้แต่พิษจากงูพิษ แมงป่อง และดอกไม้ทะเล ก็ออกฤทธิ์แบบนี้เช่นกัน

ฉางเหลียงเฟิง (Liangfang Zhang) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก คิดค้นวิธีการจัดการสารชีวพิษจากแบคทีเรียเหล่านี้ โดยใช้การเคลือบอนุภาคนาโนเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดแดง สารนาโนเหล่านี้จำเพาะกับสารชีวพิษแต่ละชนิด และทำหน้าที่เหมือนเหยื่อล่อให้สารพิษพวกนี้มาจับ คล้ายเป็นฟองน้ำที่คอยดูซับเอาสารพิษไว้ จนไม่อาจไปทำร้ายเซลล์อื่นๆ ได้

การทดลองในหนูปรากฏว่า หนูที่ติดเชื้อดื้อยาหากได้รับอนุภาคนาโนแบบนี้ ก็อยู่รอดปลอดภัยดี คาดว่าจะทดสอบระดับคลินิกในคนได้ในอีกไม่นาน

จุดแข็งของวิธีการนี้ ก็คือ เนื่องจากมันไม่ได้ฆ่าเชื้อต้นเหตุ จึงมีโอกาสที่เชื้อพวกนี้จะดื้อยาน้อยมาก จุดนี้สำคัญมากในการสร้างสารปฏิชีวนะรุ่นใหม่ครับ เพราะถ้าเรายังใช้วิธีเดิมๆ คือ ฆ่าเชื้อด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง พวกเชื้อโรคที่หลุดรอดไปได้ เพราะมีสารพันธุกรรมเหมาะสม ก็จะถ่ายทอดความสามารถนี้ให้กันอย่างรวดเร็ว สารปฏิชีวนะใหม่ๆ จึงสิ้นฤทธิ์เร็วมาก วนเวียนกลายเป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น

แต่วิธีนี้ก็มีจุดอ่อนคือ ต้นทุนที่แพงกว่ายาปฏิชีวนะมาก การทำให้สารไปเคลือบในจุดที่ต้องการก็ยังเป็นเรื่องยาก อนุภาคนาโนพวกนี้จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือไม่ ก็ยังตรวจสอบกันอย่างละเอียด จุดอ่อนข้อสุดท้ายคือ ต้องตรวจสอบจนแน่ใจว่าพวกมันจะย่อยสลายได้เอง ไม่หลงเหลือตกค้างสะสมในตัวผู้ป่วย

อีกวิธีการหนึ่งที่มีผู้ทำวิจัยกันอยู่คือ การใช้สิ่งที่เรียกว่า เพปไทด์ต้านจุลินทรีย์หรือ เอเอ็มพี (AMP, Antimicrobial peptides) วิธีการนี้เกิดจากความรู้ว่า มีโปรตีนสายสั้นๆ ในระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์และพืช ที่ใช้รับมือเชื้อโรคที่รุกล้ำร่างกายของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น โดยกลไกการทำงานก็คือ มักจะเป็นการโจมตีที่เยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรค จนทำให้พวกมันตายในที่สุด

ตัวอย่างที่ทดสอบกันอยู่ได้แก่ AMP ที่สกัดมาจาก เพรียงหัวหอม (tunicate) ที่เป็นสัตว์ทะเลที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน โดยนักวิจัยเติมกรดอะมิโนไม่กี่ตัวเข้าไปในโปรตีนสายสั้นๆ ที่ได้ และเมื่อใช้รักษาหนูที่ติดเชื้อ E. coli หรือเชื้อดื้อยาอื่น ก็พบว่าช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของหนู ทำให้เกิดการอักเสบน้อยลง และยังช่วยดึงดูดเอาเม็ดเลือดขาวมาสู้กับเชื้อโรคมากขึ้นอีกด้วย

วิธีการรักษาแบบนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่กินเวลาและแพงอยู่สักหน่อย วิธีการนำส่งสารไปยังเซลล์เป้าหมาย ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม ผลิตภัณฑ์สุดท้ายอาจจะเป็นครีมทาแผลเปิด รวมถึงอาจใช้ทาตามอุปกรณ์ผ่าตัด เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อีกทางหนึ่ง

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ตัวอย่างงานวิจัยนะครับ ยังมีวิธีการอีกหลายแบบที่ทำวิจัยกันอยู่ และไม่มีใครแน่ใจว่าสุดท้ายแล้ว วิธีการใดกันแน่ที่ดีที่สุดครับ

  การต่อสู้กับเชื้อโรคดื้อยาจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญเรื่องหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันเลยล่ะครับ

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/904115?anf=