เจาะลึกสตาร์ทอัพและบริษัทวิจัย "วัคซีนโควิด" อย่าง Pfizer/BioNtech และ AstraZenaca กับเส้นทาง กระบวนคิดค้น และขั้นตอนการทดสอบ ภาพสะท้อนของสตาร์ทอัพที่ทำงานร่วมกับบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ในภาวะวิกฤติ
สองอาทิตย์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของมนุษยชาติ เมื่อทั้งผู้ผลิตยารายใหญ่อย่าง Pfizer/BioNtech, Moderna และ AstraZenaca/มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ต่างก็ประกาศความสำเร็จในการทดลองวัคซีนโควิด-19 ขั้นสุดท้ายกับกลุ่มทดลองที่เป็นคนหมู่มาก (กว่า 30-40,000 คน) แล้วมีผลที่น่าพึงพอใจ และอยู่ระหว่างการจดทะเบียนกับองค์กรอาหารและยาในประเทศต่างๆ เพื่อการผลิตเป็นมวลมาก (mass production) แล้วกระจายให้ประชากรโลกต่อไป
ผมจะขอเล่าถึงรายแรกที่ประกาศว่าผลเป็นที่น่าพอใจคือ Pfizer/BioNtech ก่อนนะครับ BioNtech เป็นสตาร์ทอัพหรือบริษัทวิจัยขนาดเล็กทางด้านชีววิทยา ที่ต้องการศึกษาวิธีการทำวัคซีนป้องกันมะเร็งต่างๆ ซึ่งใช้เทคนิคที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้มีการรับรองและอาจจะใช้เวลาอีกนานที่จะยอมรับถ้าไม่เกิดเหตุการณ์โควิด
โดยปกติแล้ววัคซีนป้องกันไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ วิธีง่ายๆ คือฉีดเชื้อหวัดอ่อนๆ เข้าไปในร่างกายคน เมื่อร่างกายเจอเชื้อดังกล่าวก็จะสร้างเซลล์เพื่อทำการต่อสู้และฆ่าเชื้อดังกล่าว เมื่อสำเร็จก็จะทำให้คนคนนั้นมีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายรู้ว่าคือเชื้ออะไร และเคยเอาชนะเชื้อดังกล่าวอย่างไร นั่นคือการฉีดวัคซีนทั่วไปเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
แต่สิ่งที่กลุ่ม BioNTech วิจัยและพัฒนาคือสิ่งที่เรียกว่า messenger RNA หรือ mRNA กล่าวคือแทนที่จะส่งเชื้ออ่อน วัคซีนนี้ทำหน้าที่เป็นคนถือสาส์นที่ส่งข้อความหรือสัญญาณเข้าไปในร่างกายเพื่อบอกให้ร่างกายรู้ว่ากำลังจะถูกบุกรุกจากไวรัสชนิดไหน แล้วให้ร่างกายเตรียมตัวที่จะต่อต้านหรือกำจัดเชื้อดังกล่าว คงคล้ายกับคำสั่งในคอมพิวเตอร์ หรือการส่งสัญญาณให้เตรียมพร้อมว่าข้าศึกกำลังจะบุกในการสงครามเพื่อให้กองทัพเตรียมตัวให้พร้อม โดยโปรตีนที่จะทำลายข้าศึกได้คืออะไรบ้าง
กระบวนการดังกล่าวเป็นการคิดที่แตกต่าง และอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทางชีววิทยาและการแพทย์ แต่ภาวะโควิดทำให้สามารถนำมาใช้ทางปฏิบัติได้เร็วขึ้น โดย Dr.Ugur Sahin และ Dr.Ozlem Tureci คู่สามีภรรยาเชื้อสายตุรกีที่ครอบครัวของทั้งคู่อพยพไปประเทศเยอรมนี ได้ร่วมกันคิดค้นและก่อตั้งบริษัท BioNTech เมื่อ 12 ปีก่อนเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว
ในช่วงต้นนั้น เป็นการวิจัยหาวัคซีนเพื่อต่อต้านมะเร็ง แต่งานวิจัยเดียวกันนี้สามารถใช้กับโควิดได้ และในเดือน ก.พ.ปีนี้ หลังจากได้เห็นถึงรายละเอียดของโครงสร้างของไวรัส (genetic code) จากนักวิทยาศาสตร์จีน จึงได้หันมาพัฒนาวัคซีนดังกล่าว เมื่อมีความคืบหน้าและพิจารณาแล้วว่าจะต้องผลิตเป็นจำนวนมาก จึงได้เซ็นสัญญาร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ในวงการยาคือ Pfizer เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ในการ scale up หรือขยายขึ้นเป็นธุรกิจ เพราะอย่างที่ทราบว่าหนึ่งคนต้องฉีดสองเข็ม และถ้าต้องให้ประชากรในยุโรปทั้ง 740 ล้านคนได้ฉีดวัคซีนดังกล่าว หมายถึงต้องเตรียมกว่า 1,500 ล้านชุด ซึ่งสตาร์ทอัพคงไม่สามารถที่จะตอบโจทย์
ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับบริษัทขนาดกลางหรือ Mittelstand (คงคล้ายกับ SME บ้านเรา) เมื่อบริษัทต่างๆ ทราบถึงความต้องการและความจำเป็นของการผลิตวัคซีนดังกล่าว เหล่า supply chain ก็มีการเตรียมตัวอย่างเร่งรีบ เช่น หลอดแก้วที่จะต้องบรรจุวัคซีนซึ่งมีบริษัท 2-3 แห่ง ผู้ผลิตที่ได้ประสานงานและเตรียมผลิตอย่างจำนวนมาก โดยสามารถผลิตได้ 1,000 ล้านชิ้นในระยะเวลาอันสั้น
อีกประเด็นคือการเก็บรักษาหลอดดังกล่าวต้องเป็นที่อุณหภูมิต่ำถึง -70 องศาเซลเซียส ระหว่างการขนส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง บริษัทอย่าง Va-Q-Tec ก็เตรียมพร้อมที่จะผลิต thermal box หรือกล่องเก็บความเย็นจำนวนมากเพื่อที่จะประสานกับ DHL ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่ง (Logistic) ระดับโลกของเยอรมนีในการขนส่งทั้งในยุโรปและทวีปอื่นๆ เช่น เอเชีย แอฟริกา เป็นต้น จึงเห็นว่าการทำงานของประเทศเยอรมนีนั้นเป็นระบบและเตรียมพร้อมมาก
เทคโนโลยีของ Moderna เป็นแบบ mRNA เช่นกัน แต่สามารถเก็บโดยไม่เสื่อมคุณภาพได้ที่ -20 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ต้นทุนการกักเก็บลดลง น่าจะมีราคาจะต่ำกว่ากลุ่มแรก และก็เห็นว่าได้ร่วมมือกับรัฐบาลของสหรัฐ เพื่อเตรียมพร้อมในการ scale up เช่นกัน
ส่วน AstraZenaca ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด รัฐบาลอังกฤษและน่าจะรวมถึงรัฐบาลไทยด้วย ในการ scale up ยังคงใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมคือ ส่งม้า Trojan หรือเชื้ออ่อนๆ เข้าไปในร่างกายเพื่อสร้างภูมิก่อน พบว่าถ้าจะให้ได้ผลถึง 90% นั้น ต้องฉีดแค่ครึ่งเข็มในเข็มแรก แล้วเข็มที่สองจึงฉีดทั้งหลอด และด้วยที่เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมจึงน่าจะมีต้นทุนต่ำสุด ที่น่าจะเอื้อมถึงได้ไม่ยากสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย
จะเห็นว่าในภาวะโควิดนั้น แม้สตาร์ทอัพในหลายๆ อุตสาหกรรมได้หายไปจากเรดาร์ แต่ทางชีววิทยาและเภสัชกรรมมีการขยายตัวอย่างมาก แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่สตาร์ทอัพทำงานร่วมกับบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่เพื่อให้การขยายเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่เป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการอยู่รอดของชีวิตเรา
ก็หวังว่าทั้งสามบริษัท รวมถึงรายที่สี่คือสปุตนิกจากรัสเซีย ประสบความสำเร็จในการผลิตเป็นจำนวนมาก และโลกมนุษย์เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบ old normal ได้โดยเร็วนะครับ
ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/910051?anf=