หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เนื่องจากมีคนออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโดยมีความเข้าใจที่ผิดพลาดหลายประการ ในฐานะนักวิชาการด้านไวรัสวิทยาและวัคซีน ผมมีความจำเป็นที่ต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนและสังคมเข้าใจให้ถูกต้อง ในประเด็นต่างๆ ก่อนที่จะเกิดความตื่นตระหนก ความเข้าใจผิดต่างๆ ลามไปมากกว่านี้จนเกิดความเสียหายต่อการแพทย์ การสาธารณสุข และระบาดวิทยาในการควบคุมโรค ดังนี้
ประการที่หนึ่ง ในขณะนี้ตลาดของวัคซีนเป็นของผู้ขาย ไม่ใช่ผู้ซื้อวัคซีนที่จะผลิตออกมามีความขาดแคลนอย่างมาก และในระยะแรกไม่มีหลักประกันใดเลยที่จะบ่งบอกถึงว่าวัคซีนตัวไหนจะถึงเป้าหมาย ต้องมีการจองไว้ก่อน ซึ่งประเทศที่ร่ำรวยก็อาจจะได้เปรียบมีเงินจองวัคซีนที่จะคิดค้นและพัฒนาได้มากกว่าประเทศไทย
ประการที่สอง ในการจองแต่ละครั้งต้องมีการวางมัดจำ และการวางมัดจำนี้ถ้าวัคซีนผลิตไม่สำเร็จ เงินจำนวนนี้ก็จะไม่ได้คืน แม้กระทั่งการวางมัดจำกับบริษัท Astra Zeneca ก็ไม่สามารถใช้เงินหลวงไปวางมัดจำได้ จึงจำเป็นต้องใช้เงินของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ไปวางมัดจำ เพราะในช่วงดังกล่าวไม่มีหลักค้ำประกันได้เลยว่าจะได้วัคซีนตัวไหน
ประการที่สาม การให้วัคซีนในปีนี้ ในเด็กต่ำกว่า 18 ปียังไม่สามารถที่จะให้ได้ เพราะไม่มีการศึกษา ดังนั้น เมื่อตัดกลุ่มประชากรเด็กออกไปจะเป็นประชากรผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะได้รับวัคซีน ถึงแม้ประเทศจีนผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมาก จีนเองยังไม่คิดที่จะให้ถึง 50 หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากร
ประการที่สี่ เพราะการให้วัคซีนในปัจจุบันเป็นวิธีการเสริมจากการป้องกันที่มีอยู่แล้ว ในการสวมหน้ากากอนามัยล้างมือและกำหนดระยะห่าง ซึ่งถ้าเราทำได้ดีการให้วัคซีนก็ไม่ถึงกับต้องเร่งรีบมากจนเกินไป รอการศึกษาให้ได้วัคซีนที่ปลอดภัยดีกว่า
ประการที่ห้า ในปีหน้าตลาดของวัคซีนจะเป็นของผู้ซื้อ มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เราก็สามารถที่จะเลือกซื้อได้ในตัวที่ดีที่สุดและราคาถูกที่สุด ดังนั้น ผมเชื่อว่าการประเมินที่ 26 ล้านโดสแรก น่าจะมีความเหมาะสม เพราะรอเวลาที่จะเลือกวัคซีนตัวที่ดีที่สุดและราคาเหมาะสมเข้ามาเสริมในระยะสุดท้าย ดีกว่าที่จะทุ่มเงินมัดจำไปทั้งหมดแล้วในที่สุดก็ไม่สามารถจะเลือกชนิดวัคซีนได้ โดยจะเสียเงินมัดจำไปโดยเปล่าประโยชน์ วัคซีนตัวแรกที่ออกมาไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นวัคซีนที่ดีที่สุด
ประการที่หก สิ่งที่ได้อีกอย่างหนึ่งในการผลิตวัคซีนในประเทศไทย คือ การส่งต่อเทคโนโลยีต่างๆ (Transfer of technology) ในด้านการผลิตเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับชีววัตถุซึ่งมีความสำคัญมากในอนาคต และขณะนี้มีบริษัทใหญ่ที่ทำได้ในประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นบริษัท สยามไบโอไซน์ และไบโอเนทเอเชียที่จะเป็นบริษัทเชิดหน้าชูตาของไทย ได้เท่านั้น บริษัทอื่นยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ
ประการที่เจ็ด วัคซีนที่ออกมาใหม่เมื่อถามประชาชนว่าต้องการฉีดหรือไม่ ยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกามีคนที่ต้องการฉีดไม่ถึงครึ่ง ดูรายละเอียดได้จากผลโพลนี้ https://news.gallup.com/poll/325208/americans-willing-covid-vaccine.aspx
ประการที่แปด เนื่องจากกลัวภาวะแทรกซ้อนในการพัฒนาอย่างเร่งรีบ ประเทศไทยไม่ได้มีการระบาดอย่างรุนแรงอย่างในอเมริกาเสียด้วยซ้ำ การตัดสินใจสายกลางจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดีกว่าที่จะไปผูกมัดจนเกินไป
ประการที่เก้า การให้วัคซีนเป็นจำนวนล้านล้านคนจะต้องใช้เวลานาน เป็นไปไม่ได้ที่จะฉีดวันละเป็นล้าน การบริหารวัคซีนต้องรอบคอบ ตั้งแต่โลจิสติกส์จนถึงการให้การลงทะเบียนทุกอย่าง เร่งไม่ได้และไม่สามารถบังคับว่าทุกคนต้องฉีด ถ้าเราเลือกวัคซีนไม่ดีแล้วไม่มีคนฉีด ความสูญเสียจะมากมายจากเงินลงทุนไปโดยเปล่าประโยชน์ สิ่งที่ประเทศไทยเราทำอยู่ในขณะนี้มีความเหมาะสม พอเพียง พอดี บนพื้นฐานของความประมาณตน โดยใช้ความรู้ และพึ่งพาตนเองได้ ตามรอยพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว
ขอฝากให้คนไทยทุกคน แสวงหาความรู้ อย่าเชื่อข่าวลือหรือข่าวที่ไม่เป็นจริง และระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพของตนให้ดี ใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกู ล้างมือ รักษาระยะห่างทางกายภาพ แล้วเราจะผ่านวิกฤตมหาโรคระบาดไปด้วยกัน”