คอลัมน์ “อาหารสมอง”
กรุงเทพธุรกิจ
อังคาร 16 ก.พ. 2564
โควิดติดได้อีกทางจาก.......
วรากรณ์ สามโกเศศ
ถึงแม้โลกจะมีความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นแต่ก็ยังไม่ครบถ้วน มีเรื่องการติดเชื้ออยู่ลักษณะหนึ่งที่ใกล้ตัวแต่อาจมองข้ามจนอาจตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่งได้โดยไม่รู้ตัว มาดูกันว่ามันเป็นมาอย่างไร และเราจะดูแลตัวเองกันอย่างไรให้ “อยู่ดี-อยู่รอด” จากการระบาดครั้งนี้
เรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มาจากการได้ฟังการนำเสนอและจากการอ่านข้อเขียน งานศึกษาของวิศวกรไทยกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจมาก กลุ่มนี้มาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ดร.กริชชาติ ว่องไวลิขิต ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล และ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ท่านได้ร่วมกันเขียนบทความเรื่อง “การระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยละอองลอย และมาตรการควบคุมการระบาดเบื้องต้น”
เราทราบกันดีว่าเชื้อโควิดแพร่กระจายผ่านหยดละออง (droplets) ของสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ(น้ำมูก น้ำลายซึ่งมีเชื้อปนอยู่เนื่องจากคอ จมูก ตามีช่องถึงกันหมด)ด้วยการไอ จาม พูดคุย ลมหายใจรดกัน ฯลฯ หยดละอองมีขนาด 60 ไมครอนถึง 2,000 ไมครอน ระยะการกระจายตัวไม่เกิน 1-2 เมตร ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้ใส่หน้ากากโดยมีระยะห่างคนอื่น 2 เมตร
ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ในตอนแรกไม่แนะนำให้ใส่หน้ากาก และแนะนำเฉพาะเรื่องการระวังหยดละอองเท่านั้น อย่างไรก็ดีญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ยืนยันความเสี่ยงในการติดโรคผ่านสิ่งที่เรียกว่าละอองลอย (aerosol) ซึ่งเป็นหยดเล็กมากๆที่มีกำเนิดจากหยดละอองโดยมีขนาดเล็กกว่า 60 ไมตรอน มันมิได้มาจากการไอ จาม พูดคุยและหายใจรดกันเท่านั้น หากมาจากการระเหยของหยดละออง ในตอนแรกมีการกระจายตัวมากกว่า 1.5 เมตร และมีอันตรายเพราะมันสามารถลอยตัวอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานับชั่วโมง สามารถสะสมได้ในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่ดี และสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้จากการสูดหายใจเข้าไปโดยตรง และผ่านอีกหนทางหนึ่งที่อาจถูกมองข้าม
หนทางนี้ก็คือการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ เช่นเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ก๊อกน้ำ ที่จับเปิดปิดประตู พื้น ฯลฯ ที่ละอองลอยหล่นมาจับหลังจากผู้กระจายเชื้อได้ออกไปจากห้องนั้นนานแล้วหลายชั่วโมง เมื่อสัมผัสแล้วก็เอามือไปโดนเยื่อจมูก (แคะจมูก นิ้วถูไชในโพรงจมูก) ถูลูกตา (น้ำตาเชื่อมต่อกับโพรงจมูกได้) เชื้อก็จะส่งผ่านเข้าสู่ร่างกาย
เชื้อโควิดนั้นติดกันผ่านเซลล์เนื้อเยื่อในโพรงจมูกเป็นสำคัญเพราะรูปลักษณ์ของเชื้อสามารถล็อกกับเซลล์ของเยื่อในโพรงจมูกได้อย่างเหมาะเจาะ
เชื้อนี้มิได้ติดกันจากการกินอาหารโดยตรงเหมือนอหิวาต์แต่จากการสัมผัสเชื้อที่ผสมอยู่ในอาหารหรือน้ำลายที่ติดอยู่ที่ช้อนเชื้ออาจซึมเข้าไปถึงเซลล์เนื้อเยื่อโพรงจมูกได้ผ่านเยื่อในปาก การล้างมือบ่อย ๆ หรือฆ่าเชื้อโรคด้วยเจลแอลกอฮอร์คือการฆ่าเชื้อที่อาจติดมือมาจากการสัมผัสผิวสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีละอองลอยหล่นลงมา หรืออาจติดสิ่งของหรือเสื้อผ้า การห้ามเอามือจับใบหน้าหรือหน้ากากอนามัยก็เพราะอาจเผลอเอามือไปโดนเยื่อในจมูก หรือตา หรือปากได้
การแพร่กระจายของเชื้อผ่านละอองลอยได้รับการยอมรับโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (EDDC) และสถาบัน Robert Koch ของเยอรมันนี นักวิชาการกว่า 231 คนส่งจดหมายเปิดผนึกถึง WHO เกี่ยวกับการติดเชื้อผ่านละอองลอย ในปัจจุบัน WHO ยอมรับความสำคัญของการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ผ่านละอองลอยแล้ว
วิศวกรกลุ่มนี้ของไทยศึกษาทฤษฎีและการจำลองสถานการณ์ พบความจริงหลายประการที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ขอสรุปอย่างไม่เป็นวิชาการเกินไปดังต่อไปนี้ (1) ความเสี่ยงในการติดเชื้อขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ (ก) ขนาดของห้องและอัตราการถ่ายเทอากาศภายในห้อง เนื่องจากละอองลอยนั้นลอยอ้อยอิ่งอยู่ในห้องได้เป็นเวลานานห้องยิ่งเล็กและไม่มีการถ่ายเทอากาศยิ่งทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น ในทางปฏิบัติควรมีการถ่ายเทอากาศ 3-5 เท่าของปริมาตรห้องต่อชั่วโมง (ข) กิจกรรมภายในห้อง ถ้ายิ่งมีการพูด ส่งเสียงที่ทำให้น้ำมูกน้ำลายกระเด็นออกมามาก หยดละอองและละอองลอยก็ยิ่งมีมาก ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น (ค)ระยะเวลาในการสัมผัส ยิ่งอยู่นานเท่าใดความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเพียงนั้น
(2) การใส่หน้ากากอนามัยทำให้สามารถสู้ละอองลอยได้แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เพราะในพื้นที่ปิดที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศเพียงพอ ละอองลอยสามารถลอดผ่านหน้ากากได้โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อระหว่างจมูกและหน้ากาก (มีคำแนะนำจากต่างประเทศว่าการใส่หน้ากาก 2 ชั้น โดยชั้นในเป็นหน้ากากชนิดการแพทย์ และชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้าชนิดที่ได้การรับรองจะช่วยได้มากเพราะชั้นนอกจะช่วยทำให้หน้ากากชั้นในกระชับขึ้น)
(3) ควรตรวจวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องเพื่อดูว่ามีการถ่ายเทอากาศเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดโดยเฉพาะห้องประชุมและห้องเรียน หากมีค่าคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า 800 ppm (parts per mllion) แสดงว่ามีการระบายอากาศที่ไม่ดี มีโอกาสสูงในการแพร่กระจายเชื้อ หากสูงกว่า 1,000 ppm ต้องจัดการอย่างรีบด่วน
(4) ระบบแอร์รวมทำให้เกิดการสะสมของไวรัสในรูปของละอองลอยในอากาศเพราะไม่ได้เป็นการระบายอากาศสู่ภายนอก หากวนเวียนอยู่ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ระบบแอร์รวมหากไม่จำเป็น หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรติดแผ่นกรองอากาศที่มีระบบฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต หรือระบบที่มีตัวกรองอากาศประสิทธิภาพสูงร่วมอยู่ด้วย
(5) การจัดกิจกรรมในพื้นที่เปิดโล่ง หรือกลางแจ้งสามารถตัดความกังวลเรื่องการถ่ายเทของอากาศไปได้ สามารถลดโอกาสในการติดเชื้อทั้งจากละอองฝอยและละอองลอยจากการใส่หน้าการตลอดเวลาโดยเว้นระยะห่าง 2 เมตร
(6)ในการป้องกันโควิด-19 ในรูปละอองลอยสำหรับร้านอาหารและพื้นที่ปิดอื่น ๆ ควรมีอัตราการระบายอากาศอย่างน้อย 5 เท่าของปริมาตรห้องในหนึ่งชั่วโมงโดยการเปิดหน้าต่างและประตูเป็นระยะ หรือใช้พัดลมร่วมและควรติดตั้งเครื่องวัดคาร์บอนไดออกไซด์ หากสูงกว่า 800 ppm ควรแก้ไขด้วยการลดจำนวนผู้ใช้ห้องหรือเพิ่มการระบายอากาศ
การทราบอันตรายจากละอองลอยในลักษณะต่าง ๆ ทำให้เราสามารถจัดการกับตนเองให้มีโอกาสในการติดเชื้อน้อยที่สุดได้ผู้เขียนคิดว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด หากมีผู้ติดเชื้อหลุดเข้าไปอยู่ในจำนวนคนไข้มากมายสักหนึ่งคน ภายใต้ระบบแอร์รวมและระบบการระบายอากาศที่เกือบทั้งหมดยังไม่สามารถปรับได้ทันโควิด-19 จะมีละอองลอยมากเพียงใดและจับอยู่พื้นที่ผิวต่าง ๆกว้างขวางเพียงใด
ลิฟต์เป็นอีกสถานที่น่าจะอันตรายที่สุดหากใช้โดยไม่ใส่หน้ากากที่มีประสิทธิภาพ
ก่อนจับหรือสัมผัสสิ่งใดให้นึกถึงละอองลอยไว้เสมออย่างไม่ใจลอยเพราะคุณภาพชีวิตของเราอาจหลุดลอยไปได้อย่างไม่ยากเลย
............................................