#สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกที่ ๓ ในประเทศไทย
กำลังเลวร้ายมาก หลายฝ่ายต่างต้องการกำลังใจ
พระเมธีวชิโรดม หรือ ท่านว.วชิรเมธี
จึงเขียนบทความเพื่อให้กำลังใจ
แก่บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข
และแก่คนไทยทั้งประเทศ ดังต่อไปนี้
(กรุณาช่วยส่งต่อกันและกันเพื่อสร้างพลังบวกให้แก่คนไทย
ให้เยอะที่สุดและกว้างขวางที่สุด)
.
“วิชา เห็นอกเห็นใจคนอื่น”
.
โดยพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี)
.
การเผชิญกับภัยคุกคามอย่างโควิด-19
นับว่า เป็นเรื่องแย่มากพออยู่แล้วสำหรับสังคมไทย
แต่เรายังมีเรื่องแย่มากกว่านั้นซ้ำเติมเข้ามาอีก
นั่นคือ
การที่เราเอาแต่ด่าทอ
และด่วนตัดสินกันและกันหนักข้อมากขึ้นทุกวัน
เสียงด่าทอนั้น
เกิดขึ้นจากความไม่พอใจรัฐบาลบ้าง
ไม่พอใจตำรวจที่หละหลวมในการรักษากฏหมายบ้าง
ไม่พอใจคนที่ไม่รักษามาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มข้นบ้าง
ไม่พอใจดาราหรือศิลปินบางคน
ที่ติดเชื้อโควิดแล้วไม่ดูแลตัวเองให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นบ้าง
ไม่พอใจเหล่าอภิสิทธิ์ชนที่ทำตัวเหนือมนุษย์ทั่วไปจนกลายเป็นที่มาของระลอกที่ ๓ บ้าง
ไม่พอใจวัคซีนที่ไม่แน่ใจว่า ปลอดภัยจริงๆ หรือเปล่าบ้าง
.
และที่แย่ที่สุดก็คือ ไม่พอใจประเทศไทยไปเสียทุกเรื่อง
ที่อะไรๆ ก็ไม่ได้ดั่งใจไปเสียทั้งหมด
แม้แต่เตียงสนามก็สู้สิงคโปร์ อังกฤษ ออสเตรเลีย อเมริกา ไม่ได้
โดยหลงลืมความจริงไปว่า
เราเป็นเพียงประเทศที่กำลังพัฒนา
เมื่อเทียบกับประเทศที่กล่าวมาเหล่านั้น
.
ถ้าเราจะหาเรื่องด่าทอกัน ตัดสินกัน
ต่อให้มีพันปาก ด่ากันพันวัน ก็คงไม่จบไม่สิ้น
.
ในสังคมที่เต็มไปด้วยเสียงด่าทออย่างนี้
ยังจะมีใครกี่คนที่มีความสุขกันล่ะ
ผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ
เจ้าหน้าที่ของรัฐ
แพทย์ พยาบาล จิตอาสา สักกี่คนกัน
ที่จะมีกำลังใจปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ
.
ผู้คนทุกวันนี้ทำตัวเหมือนเม่นเข้าไปทุกที
เจอกันทีต้องสลัดขนพิษใส่หน้ากันจนปวดแสบปวดร้อนไปหมด
น้อยคนนักที่จะทำตัวเป็นแม่ไก่
ที่เจอกันเมื่อไหร่ก็โอบปีกปกป้องลูกด้วยความรัก
.
วิกฤติโควิดก็หนักหนาแล้ว
แต่วิกฤติความโกรธและเกลียดชังที่เริ่มก่อขึ้นมาในใจคน
ซึ่งหากเราไม่ระวังและไม่สำเหนียก
ก็จะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายหนักลงไปอีก
ถ้าในสังคมมีแต่คนก่นด่าความมืด
แต่ไม่มีคนจุดตะเกียงให้แสงสว่างกันเลย
เราจะหาความสุขกันได้จากที่ไหน
เราจะมีกำลังใจไขว่คว้าหาทางออกร่วมกันได้อย่างไร
.
เติมพลังบวกเข้าไปในใจคน
ดีกว่าหยดยาพิษใส่แก้วน้ำให้คนอื่นกันดีไหม ?
.
ผู้เขียนเข้าใจดีว่า
ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยผู้คนร้อยพ่อพันแม่
และมีความซับซ้อนเสียยิ่งกว่ากรุงสุโขทัยเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว
มักจะเต็มไปด้วยเสียงตะเบ็งเซ็งแซ่
ของคนที่อยากให้ความต้องการของตนได้รับการตอบสนอง
อย่างทันท่วงที
แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า
คนที่ปฏิบัติงานทั้งหลาย
เพื่อให้ความต้องการของเราถูกมองเห็น
และได้รับการตอบสนองนั้น
เขาก็เป็นคนเหมือนกันกับเรานั่นเอง
เขาก็มีครอบครัว มีพ่อมีแม่ มีลูกมีหลาน
เขาก็อยากมีคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกันกับเรา
และแน่นอน เขาก็อ่อนไหว เสียอกเสียใจเป็นพอๆ กับเราด้วย
.
หากเราไม่เห็นอกเห็นใจกัน
ไม่พยายามเข้าอกเข้าใจกัน
ไม่ส่งเสริมกำลังใจให้แก่กันและกัน
สถานการณ์เลวร้ายทั้งหลายจะดีขึ้นง่ายๆ ได้อย่างไรกัน
ด่าทอกันมามากพอแล้ว
เราลองมาส่งพลังบวกให้กันบ้างดีไหม ?
.
วันก่อนผู้เขียนได้อ่านพบบทความธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง
ที่เขียนโดยใครก็ไม่รู้ที่ส่งต่อๆ กันมาทางไลน์
แต่เนื้อหานั้นไม่ธรรมดาเลย
เพราะสารที่บทความนี้ต้องการจะสื่อ
คือสิ่งที่สังคมไทยและสังคมโลก
กำลังขาดแคลนอยู่ในตอนนี้
และเราก็ต้องการมัน
พอๆ กับวัคซีนป้องกันโควิดเลยทีเดียว
.
ลองมาอ่านกันดู
.
"แม่ของผมเป็นคนทำอาหารที่บ้านเป็นประจำทุกวัน
คืนหนึ่ง หลังจากที่แม่ทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน
แม่กลับบ้านมาด้วยความเหนื่อยล้า
และทำอาหารเย็นให้เราตามปกติ
ที่โต๊ะอาหาร
แม่วางจาน ที่มีปลาทูไหม้เกรียมบนโต๊ะต่อหน้าพ่อและทุกๆคน
ผมรอว่า แต่ละคนจะว่าอย่างไร
แต่... พ่อไม่พูดอะไร
และตั้งหน้าตั้งตากินปลาทูไหม้ตัวนั้น
และหันมาถามผมว่า ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง
.
คืนนั้น หลังอาหารเย็น
ผมจำได้ว่า ได้ยินแม่ขอโทษพ่อ ที่ทอดปลาทูไหม้
และผมไม่เคยลืมที่พ่อพูดกับแม่เลย
"โอย... ผมชอบ ปลาทูทอด เกรียมๆ อร่อยมาก นะแม่"
.
คืนต่อมา ผมเก็บคำถามไว้ในใจก่อนนอน
และถามพ่อว่า "พ่อชอบปลาทูทอด เกรียมๆ จริงๆ เหรอ"
พ่อลูบหัวผม และตอบว่า
"แม่ของลูก ทำงานหนัก มาทั้งวัน...
ปลาทูไหม้ 1 ตัว ไม่เคยทำร้ายใคร
แต่คำพูด ที่ต่อว่า กันนั้นต่างหาก ที่จะทำร้ายกัน"
.
"ชีวิตคนเรา
เต็มไปด้วย ความไม่สมบูรณ์แบบ
และแต่ละคน ก็ ไม่ได้เกิดมา สมบูรณ์แบบ ตัวเราเอง
ก็ไม่ได้มีอะไร ดีกว่าใครๆ"
.
แต่สิ่งที่พ่อเรียนรู้มาในช่วงชีวิต ก็คือ...
การเรียนรู้ ที่จะยอมรับ
ความผิดพลาดของคนอื่น และ ของตัวเอง
.
การเลือกที่จะยินดีกับความคิดต่างกันของแต่ละบุคคล
เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาชีวิตครอบครัว ที่มีความสุข และยืนยาว
.
“ชีวิตเรานั้น
สั้นเกินกว่าที่จะตื่นขึ้นมาพร้อมกับ
ความเสียใจที่ว่า เราทำผิดกับคนที่เรารักและรักเรา
ให้ดูแล และทะนุถนอม คนที่รักเรา
และพยายามเข้าใจ และให้อภัย จะดีกว่า"
.
“ถ้าเรารู้ เราจะ ทำไหม”
.
• เราจะบีบแตร
ใส่คนที่ ยืนยึกยัก ริมถนน ตรงแยกที่ผ่านมาไม๊– ถ้าเรารู้ว่า เค้าใส่ขาเทียม
.
• เราจะเบียดชน คนข้างหน้า ที่เดินช้ามากไม๊ – ถ้าเรารู้ว่า เค้าเพิ่งตกงาน
• เราจะขำ คนที่ แต่งตัวเชยไม๊ – ถ้าเรารู้ว่า เค้ามีชุดเก่ง แค่ชุดเดียว
• เราจะรำคาญ สาวโรงงาน ที่มาเดิน พารากอนไม๊ – ถ้าเรารู้ว่า นั่นคือ
การฉลองวันเกิดของเธอ
• เราจะหมั่นไส้ ลุงที่หัวเราะ
เสียงดังลั่น คนนั้นไม๊ – ถ้ารู้ว่า แกเป็นมะเร็ง ขั้นสุดท้าย
• เรารู้แจ่มชัดเสมอ…
ว่าชีวิตเรา กำลังเจออะไร
แต่เรา ไม่มีวันรู้ว่า
"คนที่เราเจอ – กำลังเจอ กับอะไร"
.
โลก กว้างกว่าเงาของเรา และโลก ก็ไม่ได้หมุนรอบตัวเรา
.
มองข้าม เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปบ้าง
ให้โอกาส และให้อภัย มีความเข้าใจ ซึ่งกันและกัน
จะได้รัก และอยู่ด้วยกัน อย่างยั่งยืนยาวนาน”
.
จากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้นนั้น
ผู้เขียนสรุปออกมาเป็น “กฎทองของชีวิต”
ซึ่งเมื่อใครนำไปปฏิบัติแล้ว
จะทำให้เป็นคนที่กลายเป็น “แหล่งพลังงงานทางบวก”
สำหรับคนที่อยู่ข้างหน้าเสมอ
นั่นก็คือ
.
๑.หัดมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เสียบ้าง
อย่าจริงจังกับทุกเรื่อง
จนความสัมพันธ์กับคนรอบข้างตึงเครียดไปหมด
๒.ไม่มีใครที่ทำอะไรได้สมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด
จงให้อภัยในความผิดพลาดของคนอื่น
เหมือนกับที่เราชอบให้อภัยแก่ตัวเอง
.
๓.สิ่งใดที่เราไม่ชอบ ก็จงอย่ามอบสิ่งนั้นแก่คนอื่น
สิ่งใดที่เราชอบ ก็จงมอบสิ่งนั้นแก่คนอื่น
.
๔.อย่ารำคาญความปรารถนาดีเล็กๆ น้อยๆ ของคนอื่น
ที่พยายามแสดงออกต่อเราด้วยความจริงใจ
.
๕.เรารักสุขเกลียดทุกข์และกลัวความตาย ฉันใด
คนอื่น ก็รักสุข เกลียดทุกข์ และกลัวความตาย ฉันนั้น
เอาใจเขามาใส่ใจเรา (อตฺตานํ อุปมํ กเร)
อย่างนี้แล้ว
จึงไม่ควรฆ่าใคร
ไม่ควรสั่งใครให้ไปฆ่า
.
(ว.วชิรเมธี)
๒๖ เมษายน ๒๕๖๔
.