วันที่ 21 มิ.ย.64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการควบคุมโรคในจังหวัดภาคใต้ หลังพบเชื้อโควิดสายพันธุ์เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ว่า มีการเข้มมาตรการป้องกันแต่จะเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดรับทราบนโยบาย และกำชับทางกระทรวงมหาดไทย มีการติดต่อทางส่วนกลางอย่างเข้มงวด
ส่วนกรณีที่เจอเชื้อในโรงเรียนแต่ไม่มีการสกัดกั้นจนนำเชื้อไปแพร่ต่อนั้น นพ.โอกาส กล่าวว่า รายละเอียดขอให้ทางจังหวัดเป็นผู้รายงาน ซึ่งก็รายงานมาส่วนกลาง และเราก็ได้กำชับเพราะประชาชนอาจเข้าใจผิดว่าเจอเคสแล้วให้ปิด ซึ่งเราบอกตลอดว่าการปิดไม่ใช่แก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาคือ อย่าให้เดินทางออกมา ซึ่งจะตรงกับมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล ส่วนสายพันธุ์เบต้า หรือ แอฟริกาใต้ ก็มีการกักตัวอย่างน้อย 21 วัน ส่วนจะ 1 เดือนหรือไม่ ต้องให้คณะกรรมการวิชาการพิจารณาอีกครั้ง ขณะนี้มีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า โควิด-19 ในไทยตอนนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดียรองลงมา พบในแคมป์คนงานเพิ่มขึ้นแถว จ.นนทบุรี ส่วนภาคใต้เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จำนวนหนึ่งเจอนอกจังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดภาคใต้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนตัวเลขอยู่ระหว่างตรวจสอบ ไม่ได้ปกปิด สายพันธุ์แอฟริกาใต้ดื้อต่อวัคซีนพอสมควร แต่แพร่โรคไม่เร็วเท่าอังกฤษและอินเดีย
ดังนั้น ที่กังวลตอนนี้คือสายพันธุ์อินเดียที่พบติดเชื้อในหลายจังหวัดแล้ว ตามหลักการได้แจ้งพื้นที่ให้ควบคุมแล้ว หากคุมได้ก็จะหยุดเร็วใน 14 วัน ไม่แพร่เชื้อในวง 2 วง 3 แต่อย่างที่ทราบว่าปัจจัยที่จะควบคุมได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับเราคนเดียว ต้องเคร่งครัดมาตรการต่างๆ จึงรายงานต่อฝ่ายความมั่นคงให้เข้มงวด กิจกรรมใดๆ หากให้งดทำแต่ยังทำอยู่ ก็เป็นเรื่องยากที่จะลดการแพร่โรค รวมทั้งการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย อย่างเชื้อแอฟริกาใต้นั้น มีความชัดเจนว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อถามถึงกรณีโรงงานหลายแห่งไปดีลกับแล็บตรวจโควิดเอกชน ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ต้องมีการตรวจหาเชื้อใหม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีโรงงานหลายแห่งอยากตรวจเชิงรุก ขอให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ ไม่อยากให้ทำโดยพลการ เพราะมีตัวอย่างหลายโรงงานไม่เข้าใจว่าวิธีตรวจ ตรวจด้วยอะไร แปลผลอะไร เช่น นำแรพิดแอนติเจนไปตรวจแล้วสรุปว่ามีคนติดจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อสุ่มเท่านั้น แต่จริงๆ ต้องตรวจด้วยวิธีการที่เป็นมาตฐานคือ RT-PCR เพราะฉะนั้นการตรวจหาเชื้อขอให้ปรึกษากัน เพราะสุดท้ายพอตรวจเจอไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ยิ่งทำให้เรื่องยุ่งไปอีก เพราะไม่ได้จบแค่การตรวจเท่านั้น
“ปัญหาหนึ่งเวลาเจอคลัสเตอร์โรงงาน หรือแคมป์ เมื่อเกิดขึ้นมีการจัดการไม่เป็นระบบ ทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งหนีออกนอกพื้นที่ ซีลไม่จริง เดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้เกิดการกระจายโรคไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้เยอะ นี่คือข้อสังเกตที่พบของการแพร่ระบาดในปัจจุบัน” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า
กรณีโรงเรียนประจำ จ.ยะลา ที่พบเชื้อโควิด จากการติดตามโรงเรียนนี้ พบเบื้องต้นมีทั้งสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และอังกฤษ กำลังอยู่ระหว่างติดตามหาต้นตอว่าติดมาจากที่ไหน และกำลังเร่งติดตามว่าเชื้อกระจายไปยังจังหวัดไหนบ้าง