19 ส.ค.64 - นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวว่า การตรวจภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรฉีดไขว้สลับชนิด โดยเฉพาะการต่อสู้และกำจัดสายพันธ์เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งเป็นการศึกษาจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้าจริง กับเลือดของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนในสูตรต่างๆ ดังนี้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม สามารถกำจัดไวรัสในหลอดทดลอง ค่าเฉลี่ยภูมิคุ้มกันขึ้นไป 24-25 ถือว่าจัดการกับไวรัสได้ แต่ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา
การสลับสูตรแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรก ตามด้วยซิโนแวค เข็มที่ 2 พบว่าภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 25 ไม่แตกต่างไปจากการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม การสลับสูตรแบบนี้ ไม่ได้สร้างคุณค่าเพิ่มขึ้น จึงไม่แนะนำให้ฉีด ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดเข็มที่ 2 ผ่านไป 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้นไป 76 เท่า สูงกว่าซิโนแวค2 เข็ม และการสลับสูตร ซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 พบว่าค่าเฉลี่ยขึ้นไปที่ 78 เหนือกว่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มอยู่เล็กน้อย แต่มีข้อได้เปรียบที่ใช้เวลาสั้นลงเพียง 5 สัปดาห์ และใช้ต่อสู้กับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่าผลการตรวจภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส ดังนี้ บูสเตอร์ด้วยซิโนฟาร์ม หลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แต่สูตรนี้เก็บตัวอย่างน้อย มีเพียง 14 คน ภูมิคุ้มกันขึ้นมาที่ 61 ซึ่งไม่มากเท่าไร เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ทำให้กระตุ้นภูมิได้ไม่สูงมาก และฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และบูสเตอร์เข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันขึ้นไปที่ 271 สามารถกำจัดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ดีมาก และมีภูมิคุ้มกันมากกว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม 10 เท่า
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ยังต้องติดตามว่าภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูงจะอยู่ได้นานอย่างไร รวมถึงการตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ และประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อสู้กับเชื้อสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) โดยการศึกษาวิจัยของกรมวิทย์ฯ จะให้คำตอบว่าวัคซีนบูสเตอร์โดสจำเป็นอย่างไร และต้องฉีดในระยะเวลาห่างกันอย่างไร เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงตามระยะเวลา ทั้งนี้ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปตรวจภูมิคุ้มกัน เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ว่าสามารถป้องกันเชื้อแต่ละสายพันธุ์ได้อย่างไร
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังเร่งศึกษาการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง ประสบการณ์การฉีดวัคซีนในอดีตพบว่า ใช้วัคซีนเพียง 25% สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงพอ กับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่ต้องใช้วัคซีน 100% หากผลการวิจัยมีผลสำเร็จ จะมีโอกาสเพิ่มจำนวนคนที่จะได้รับวัคซีนได้มากขึ้น 4-5 เท่า ก็จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการวัคซีนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้คงต้องรอผลทางวิทยาศาสตร์
ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/113880