“คุ้งบางกะเจ้า”
เปลี่ยนสีดำเป็นสีเหลือง
เปลี่ยนความโศกเศร้า เป็นพลังที่มุ่งมั่น
เพื่อบอกต่อความดีงามของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อชาวโลก
เรื่องนี้ยาว แต่ถ้าคุณปล่อยผ่านไป คุณจะเสียใจที่ไม่ได้อ่านเรื่องราวที่อาจเรียกน้ำตาจากความปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด
ผมโพสต์เรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ติดต่อมาหลายวัน หลายตอน วันนี้มีน้องที่เป็นแฟนเพจของผม ที่ใช้ชื่อว่า “มาดามอันนาเบล แห่งเทือกเขามองบลังค์” ได้เล่าประสบการณ์ที่สุดแสนประทับใจลงในคอมเมนท์ ผมเลยขออนุญาตเอามาขยายความเพื่อบอกต่อชาวไทยทุกคน
............................................................................
2 เดือน หลังจากที่ในหลวงร.9 เสด็จสวรรคต เป็นช่วงเวลาที่หนูทำงานที่โรงแรม5ดาวแห่งหนึ่งย่านสาทร ที่มองจากร้านอาหารบน Rooftop ลงไป จะเห็นคุ้งบางกะเจ้าชัดเจนมาก
ในขณะหนูกำลังทำงาน มีแขกต่างชาติ 3 ท่าน มายืนข้างๆ เพื่อเกาะระเบียงชมวิว 360 องศา
แขกต่างชาติ ถามหนูว่า เธอจะติดโบว์ไว้ทุกข์ไปอีกนานเท่าไหร่
(หนูติดโบว์ดำเล็กๆไว้บนชุดยูนิฟอร์ม)
หนูตอบว่า อาจจะซักปีนึงมั้งคะ
แขกท่านก็บอกว่า ต่อให้เธอไม่ติดโบว์ ไอก็รู้ว่าโบว์ดำจะอยู่บนหน้าอกยูไปตลอดกาลแน่ๆ "เพราะมันเป็นภาพจำของคนทั้งโลก"
ดังนั้น ไอแนะนำว่า ยูควรเอาโบว์ดำ ออกไปจากใจให้ได้นะ ไม่งั้นยูจะแอบร้องไห้ไปแบบนี้ตลอด อยากให้เปลี่ยนเป็นโบว์เหลืองแทนจะได้มั้ย
"เพราะคิงของยู มีภาพสีเหลืองให้จำใช่มั้ย มันคือสีแห่งความสว่างสไว"
แขกท่านตบบ่าหนูเบาๆ เพราะหนูเริ่มมีน้ำตา(อีกแล้ว)
ท่านชี้ไปที่บางกะเจ้า แล้วบอกว่า ตรงนี้คือพื้นที่ๆในหลวงทำให้เป็นสีเขียว เป็นโครงการราชดำริของคิงยูใช่มั้ย?
หนูสะอื้นมากกว่าเดิม เพราะ!!! หนูไม่เคยรู้เลย
ว่าบางกะเจ้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการราชดำริ ที่ในหลวงอยากให้เป็นปอดของคนกรุงเทพ
แขกเลยบอกว่า...
" ยูเปลี่ยนความเสียใจ มาเป็นความมุ่งมั่นสิ มุ่งมั่นทำงาน และระลึกถึงในหลวง ด้วยการบอกต่อความดีของพระองค์
ขนาดชั้นเป็นชาวต่างชาติ ชั้นยังเล่าได้เลย คนไทยอย่างยูต้องเล่าได้ดีกว่าแน่นอน อย่างน้อยยูก็ควรเริ่มเล่าให้แขกชาวจีน ที่กำลังเดินมาตรงนี้ฟังได้ ลองดูเลยสิ"
หลังจากวันนั้น
ทุกครั้งที่มีแขกไปยืนมองที่นั่น และกำลังสงสัยว่า เกาะตรงนั้นมันคือป่าหรืออะไร หนูที่กำลังแบกถาดหนักๆหรือกำลังทำงานกึ่งวิ่งก็จะพยายามแว๊บมาโฉบแขก เพื่อจะคอยอธิบายเสมอ ว่ามันคืออะไร และแนะนำให้คนต่างชาติไปปั่นจักรยานเล่นที่นั่น
และหนูจะเล่าเรื่องในหลวงให้คนอื่นฟังไปแบบนี้ ตลอดไปค่ะ
............................................................................
ขนาดคนต่างชาติยังรู้เรื่องพระราชกรณียกิจที่ช่วยพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนเลย
พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังไปไกลทั่วโลก
แต่ทำไมมีคนไทยจำนวนหนึ่ง ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นเลย ใจพวกเขาชั่งบอดสนิทเสียนี้กระไร
............................................................................
เชื่อว่าคนไทยหลายคนไม่รู้จักว่า
คุ้งบางกะเจ้า คืออะไร? อยู่ที่ไหน?
ผมไปหาข้อมูลมาฝาก!
และที่คือคำตอบที่คุณคนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพเองก็อาจไม่เคยรู้ว่า...
นิตยสาร ไทม์เอเชีย ฉบับ Best of Asia ได้ยกย่องให้บางกะเจ้า “เป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย”
............................................................................
ในช่วงปี 2525-2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประทับเฮลิคอปเตอร์ผ่านพื้นที่บางกระเจ้าอยู่เป็นประจำ และทรงมีพระราชดำริว่า ควรสงวนพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและคงความเป็นปอดของคนเมืองไว้
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงได้จัดซื้อสวนรกร้างในคุ้งบางกะเจ้า 1,276 ไร่นำมาฟื้นฟู
โดยในปี 2546 ได้กันพื้นที่จำนวน 148 ไร่สร้างเป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ และได้รับพระราชทานชื่อว่า “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์” ซึ่งมาจากชื่อเมืองโบราณในอดีต ปัจจุบันดูแลโดยสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้
จากนั้นในปี 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมสวนและชุมชนในคุ้งบางกะเจ้า มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“ให้ช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเอาไว้ อย่าให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมจนเกินกว่ากฎหมายกำหนด ควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเกษตรและป่าผสมผสาน การซ่อมแซมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์
ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันวางแผนให้เอื้อประโยชน์เท่าที่จำเป็นต่อการท่องเที่ยว และการศึกษาของเยาวชนคล้ายห้องเรียนธรรมชาติ”
คุ้งบางกระเจ้าจึงอยู่เป็นปอดของเมืองกรุงมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้
............................................................................
บางกะเจ้า หรือที่เรียกกันว่า กระเพาะหมู เป็นเกาะเทียมที่เกิดจากคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมีคลองลัดโพธิ์เชื่อมแม่น้ำทางทิศตะวันตก
บางกะเจ้าตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เกาะนี้ครอบคลุมพื้นที่ 16 กม² ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีประชากรอาศัยไม่หนาแน่น
ในบางครั้งได้รับการขนานนามว่า "ปอดสีเขียว" ของกรุงเทพ
ปี พ.ศ. 2549 นิตยสาร ไทม์เอเชีย ฉบับ Best of Asia ได้ยกย่องให้บางกะเจ้า “เป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย” (best urban oasis)
............................................................................
คำว่า กะเจ้า มีความหมายว่า นกยาง หรือ นกกระยาง น่าจะมาจากเมื่อก่อนมีนกกระยางอาศัยอยู่บริเวณนี้จำนวนมาก
ราวปี พ.ศ. 1400 มีการตั้งเมืองพระประแดงบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านให้กับอาณาจักรละโว้
และมีการเอ่ยถึงบางผึ้งในกำสรวลสมุทรในบทที่ 71 ซึ่งเป็นวรรณคดีอยุธยายุคต้น โดยกล่าวถึงบริเวณวัดบางผึ้งเหนือ คลองลัดโพธิ์ พบหลักฐานว่ามีการสร้างวัดกองแก้ว โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2243
จนเมื่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้ง ณ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา
ต่อมาปี พ.ศ. 2329 องเชียงสือซึ่งเป็นหลานของกษัตริย์ญวน ที่ได้หนีภัยการเมืองเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 เห็นว่าหมดภัยทางบ้านเกิดเมืองนอน
แต่จะทูลลากลับก็เกรงพระทัย จึงหนีลงเรือหนีไปทางปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงทราบ ทรงยกกองเรือตามไปแต่ไม่ทันกัน ทรงกริ้วมาก
ทรงเห็นว่า องเชียงสือรู้ความตื้นลึกหนาบางของไทยเป็นอย่างดี จึงโปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ ลงสำรวจพื้นที่สร้างเมืองใหม่บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา กรมพระราชวังบวรฯ เห็นว่าบริเวณ "ลัดโพธิ์" มีชัยภูมิที่ดี
จากนั้นได้สร้างป้อมค่ายหนึ่งป้อมชื่อ "ป้อมวิทยาคม" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้รับสั่งให้สร้างเมืองบริเวณปากลัด แต่ยังไม่สำเร็จเพราะเกิดศึกกับพม่าก่อน
แต่มีการถมคลองลัดโพธิ์ให้แคบเพื่อป้องกันการโจมตีจากทะเล อีกทั้งอาจทำให้น้ำเค็มจากปากน้ำไหลมาถึงกรุงเทพได้เร็วขึ้น
ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้โปรดให้ตั้งเมืองใหม่ชื่อ "เมืองนครเขื่อนขันธ์" โปรดให้เกณฑ์ชาวมอญจากเมืองปทุมธานี 300 คน ย้ายครัวมอญมาอยู่ที่เมืองนี้ ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองนี้
ซึ่งชื่อ”เมืองนครเขื่อนขันธ์” ที่รัชกาลที่ 2 ตั้งขึ้นมานี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานให้กับโครงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวสำหรับชาวกรุงเทพในชื่อว่า “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์”
............................................................................
“เปลี่ยนความเสียใจ มาเป็นความมุ่งมั่นสิ”
“มุ่งมั่นทำงาน และระลึกถึงในหลวง ด้วยการบอกต่อความดีของพระองค์”
“ขนาดชั้นเป็นชาวต่างชาติ ชั้นยังเล่าได้เลย คนไทยอย่างยูต้องเล่าได้ดีกว่าแน่นอน”
............................................................................
ขนาดคนต่างชาติยังรู้เรื่องพระราชกรณียกิจที่ช่วยพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนเลย
พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังไปไกลทั่วโลก
แต่ทำไมมีคนไทยจำนวนหนึ่ง ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นเลย ใจพวกเขาชั่งบอดสนิทเสียนี้กระไร
............................................................................
ถ้าชอบบทความนี้ ช่วยกันแชร์ให้ถึงคนไทยทุกคน เพื่อช่วยกันสืบสานงานของในหลวง และช่วยกันเล่าเรื่องพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายของในหลวง ร.9 ต่อชาวไทยและชาวโลกครับ
............................................................................
ที่มา : วิกิพีเดีย และ เว็บไซต์ Rabbit Finance
และขอขอบคุณเรื่องราวจากประสบการณ์สุดวิเศษของ ผู้ที่ใช้ชื่อใน Facebook ว่า “มาดามอันนาเบล แห่งเทือกเขามองบลังค์”
อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง