ลูกใครๆ ก็รัก ผู้บริหาร ศธ. โยกเผือกร้อน ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์นักเรียน" วัย12-17 ปี เงื่อนไขเปิดเรียนเทอม2 เต็มรูปแบบ แต่ต้องได้รับการยินยอมจาก "ผู้ปกครอง" เจอแบบนี้พ่อแม่จะเลือกทางไหนดี
จะเปิดเรียนเต็มรูปแบบ ในภาคเรียนที่2/2564 หรือประมาณต้นเดือนพฤจิกายนนี้ นักเรียนอายุระหว่าง 12-17 ปี ต้องได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 โดส ในสัดส่วนร้อยละ 70 ของโรงเรียนที่จะเปิดเรียนตามปกติ ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ครอบคลุมนักเรียน ทั้งสายสามัญตั้งแต่ระดับชั้นมัธยม.1-ม.6 นักเรียน นักศึกษา สายอาชีวศึกษา ในระดับปวช. และนักเรียนกศน.อายุไม่เกิน 17 ปี เรียกได้ว่าเด็กกลุ่มนี้ที่มีอยู่ประมาณ 4-5 ล้านคน อยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต อนาคตพวกเขาคือกำลังสำคัญของประเทศไทย
ฉีดวัคซีนไฟเซอร์นักเรียน จะต้องได้รับ “การยินยอม” จากพ่อแม่หรือ "ผู้ปกครอง"ของนักเรียนเป็นสำคัญ เป็นการกล่าวย้ำของผู้บริหารศธ. ไล่เรียงมาตั้งแต่ “ครูเหน่ง” ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)ตามด้วย ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัดศธ.) และดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการกพฐ.
ลูกใครๆก็รัก หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ "ผู้ปกครอง" ต้องคิดหนัก จะให้ลูกฉีดวัคซีนไฟเซอร์ดีไหม ผู้ปกครองบางคนตอบชัดเจนตั้งแต่ผู้บริหารศธ.ออกแถลงข่าวผ่านทุกช่องทางสื่อสาร ว่าไม่ให้ลูกฉีดวัคซีน หวั่นพิการ หรือเสียชีวิต
จับพิรุธ การเตรียมการฉีดวัคซันไฟเซอร์ให้นักเรียนรับเปิดเทอม2/2564 ไม่มีใคร หรือหน่วยงานไหนมาการันตีความกังวลใจของพ่อแม่ "ผู้ปกครอง" ถึงความรับผิดชอบที่อาจจะเกิดจากผลข้างเคียงจากรับวัคซีน
“ ฉีดไปเลยองค์การอนามัยโลกให้การรับรอง และอย.ไทยก็รับรองวัคซีนไฟเซอร์” อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข ตอบคำถามสื่อถึงความปลอดภัยเมื่อนักเรียนรับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว
“คมชัดลึกออนไลน์”ได้ขอความรู้จากบรรดาหมอเด็กหลายสถาบัน ต่างลงความเห็นตรงกันว่าการฉีดวัคซีนในเด็กไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่ เนื่องจากว่ายังไม่ค่อยมีผลงานวิจัยที่เพียงพอ จริงๆอยากจะสนับสนุนวัคซีนเชื้อตายมากกว่า
"แต่ทุกวัคซีนก็มีผลข้างเคียง แม้ฉีดในผู้ใหญ่ ถ้าจะฉีดจริงๆควรจะฉีดในเด็กกลุ่มเสี่ยง และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อลดผลข้างเคียง ถ้าเป็นลูกหลานหมอต้องรอดูสักระยะก่อนเพราะเชื้อโควิดยังกลายพันธุ์ต่อเนื่อง" หมอเด็ก รายหนึ่งระบุ
ขณะเดียวกันหมอเด็ก บางสถาบันก็แสดงความกังวลว่า จากการติดตามข่าวสารการวิจัยอยูตลอดเวลาเริ่มมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิต-19 จนถึงปัจจุบันทั้งประเทศไทย และจากต่างประเทศ ข้อมูลจากUSA กลุ่มประเทศยุโรป Australia กลุ่มประเทศเอเซีย และ WHO ได้มีการวิเคราะห์ถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นของวัคซีนทุกยี่ห้อได้มาฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์ทุกคน ซึ่งความไม่ปลอดภัยต่อระบบร่างกาย และการกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิค-19 ในคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน หน้าเป็นห่วงต่อระบอายุขัยในอนาคต
ทำความรู้จักวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer ดีไหม ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร
วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธีใหม่ล่าสุดที่เรียกว่าmRNAซึ่งไม่เคยมีการผลิตวัคซีนด้วยวิธีนี้มาก่อน เป็นการจำลองสารพันธุกรรมโมเลกุล คล้ายหนามของเชื้อไวรัส หนามของไวรัสมีหน้าที่จับเซลล์ในร่างกายทำให้ติดเชื้อ mRNA มีไขมันอนุภาคนาโนห่อหุ้มอยู่ เพื่อป้องกันการย่อยสลายจากเอนไซม์ หลังจากฉีดวัคซีน mRNA เข้าไป เซลล์ในร่างกายจะกินไขมันดังกล่าว ทำให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนที่คล้ายหนามของไวรัส โปรตีนก็จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อป้องกันไวรัส
วัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) หรือชื่อทางการว่า BNT162b2 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิด mRNA ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech) ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 และ WHO ให้การรับรองเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทย เมื่อวัน 24 มิถุนายน 2564
ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ สามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟ่า ได้ถึง 89.5%ป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ เบต้า ได้ถึง 75%หรืองานวิจัยของ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ ก็ชี้ว่า ไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพ 88% ในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากไวรัส เดลต้าหรืออินเดีย
วัคซีนไฟเซอร์ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21-28 วัน ใช้วิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขนด้านบน ภูมิคุ้มกันจะเริ่มเกิดหลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้ว 12 วัน แต่ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่หลังจากฉีดครบ 2 เข็ม
อายุผู้ฉีด16 ปีขึ้นไป แต่มีผลข้างเคียงหลังฉีดไฟเซอร์ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ ท้องเสีย อ่อนเพลีย ปวด บวม มีรอยแดงบริเวณที่ฉีด ชาตามร่างกาย
ว่ากันว่า กระทรวงศึกษาธิการ เร่งมือให้เขตพื้นที่การศึกษา ส่งไม้ต่อให้โรงเรียนเร่งรัดสำรวจรายชื่อนักเรียนที่ผู้ปกครองลงชื่อแสดง “การยินยอม” เป็นลายลักษณ์อักษร ให้ลูกหลานฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2564 และกำหนดให้แต่ละโรงเรียนจัดสถานที่ฉีดวัคซีนภายในโรงเรียน รายละเอียดทั้งหมดตั้งเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อเริ่มฉีดเข็มแรกวันที่ 4 ตุลาคม2564
ถึงเวลาที่พ่อแม่ "ผู้ปกครอง" ต้องตัดสินใจ จะให้ลูกเลือกรับวัคซีนไฟเซอร์ หรือรอวัคซีนเชื้อตาย หรือเพียงปลูกฝึกฝังค่านิยมให้ลูกมีวินัยเข้มแข็ง ตามมาตราการของกระทรวงสาธารณสุข
เช่น ไม่ไปพื้นที่เสี่ยง หรือชุมชน เมื่อจำเป็นต้องออกไปพื้นที่เสี่ยง ต้องใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างทำความสะอาดมือทุกครั้งเมื่อมีการจับสิ่งของ และมีจิตสำนึกในเรื่องSocial Distending ก็มีความปลอดภัยแล้ว
กมลทิพย์ ใบเงิน เรียบเรียง