Font Size

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19"

ยาใหม่อีกตัว แอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) เพื่อพลิกการรักษาโควิด-19 ป้องกันไม่ให้ปอดอักเสบรุนแรง และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ก็มาพร้อมผลข้างเคียงของยา...

ไม่ว่าจะเป็น ยาต้านไวรัสออกฤทธิ์กว้างอย่าง ‘ฟาวิพิราเวียร์’ หรือ ‘ฟ้าทะลายโจร’ สมุนไพรที่บรรเทาอาการป่วยโควิดได้ดี

ยาทั้ง 2 ชนิดที่กำล้งใช้อยู่ ล้วนไม่ได้มีหน้าที่รักษา COVID-19 โดยเฉพาะ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยก็ได้รับข่าวดีอยู่บ้าง

เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศอนุมัติให้มีการใช้ยาหลักตัวสำคัญอีกตัวหนึ่งแบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดอย่างหนัก ในชื่อยา'แอนติบอดี ค็อกเทล' (Antibody Cocktail)

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19"

นวัตกรรมยาAntibody Cocktail

เมื่อเห็นคำว่าค็อกเทล ขออย่าเพิ่งนึกถึงสูตรไขว้อันเลื่องชื่อ เพราะยา 'แอนติบอดี ค็อกเทล' Antibody Cocktail เป็นนวัตกรรมยาที่คิดค้นเพื่อรักษาโรค COVID-19 โดยเฉพาะ และได้รับอนุมัติใช้อย่างแพร่หลายในประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น อังกฤษ ฯลฯ

เพราะยาชนิดนี้เมื่อใช้ในผู้ป่วยระยะเริ่มต้น จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตอย่างเห็นผลได้นั่นเอง

Antibody Cocktail ผลิตขึ้นจากการผสม (ค็อกเทล) กันของ 2 โปรตีนที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อโรค (แอนติบอดี) คือ ‘Casirivimab’ (คาซิริวิแมบ) และ ‘Imdevimab’ (อิมเดวิแมบ) จนได้เป็นโปรตีนที่เรียกว่า ‘Monoclonal Antibody’ (โมโนโคลนอลแอนติบอดี)

โปรตีนดังกล่าว มีคุณสมบัติลบล้างการทำงานของเชื้อไวรัส โดยออกฤทธิ์ต่อโปรตีนส่วนหนามของ COVID-19 และนำสู่การยับยั้งการติดเชื้อในเซลล์ของผู้ป่วย

ที่สำคัญ การผสมกันของสองแอนติบอดีนี้ ยังพบการทดลองในห้องปฏิบัติการ ว่าสามารถออกฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ อย่าง สายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์เอปซิลอน ได้อีกด้วย

 

ข้อมูลจาก นายแพทย์น๊อต เตชะวัฒนวรรณา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต และผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า ทำให้เราจะเข้าใจได้ว่าปกติแล้ว ร่างกายของผู้ที่ได้รับเชื้อหรือผู้ที่ได้รับวัคซีน COVID-19 จะมีแอนติบอดีที่สามารถจดจำและคอยกำจัดไวรัสอยู่แล้ว
แต่จุดอ่อนคือ หากเชื้อมีการกลายพันธุ์ แอนติบอดี ที่มีอาจไม่ได้จำเพาะต่อไวรัสนั้นทั้งหมด และทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19"

ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์

 “Antibody Cocktail เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่ม ’Neutralizing Monoclonal Antibodies’ (NmAbs) หรือ ‘ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์’ ที่มีความไว (susceptible) ต่อไวรัสและเชื้อกลายพันธุ์

ทำงานด้วยวิธีเข้าจับโปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) โดยตรง และทำให้ไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายมีปริมาณลดลง ซึ่งจะส่งผลในการยับยั้งการติดเชื้อ COVID-19 โดยทันทีทันใด”

จนถึง ณ ตอนนี้ ผู้ที่สามารถรับยา Antibody Cocktail ในการรักษาได้ จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าเป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 (ระยะเวลาไม่เกิน 10 วัน) หรือเป็นผู้มีอาการของโรค ความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง

หรือเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่อาการรุนแรงขึ้นได้เมื่อติดเชื้อ ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้เป็นโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 30), โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูง, โรคปอดเรื้อรัง รวมถึงโรคหอบหืด, โรคเบาหวาน, โรคไตเรื้อรัง

รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต, โรคตับเรื้อรัง และรวมถึงผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันถูกกด จากผลการประเมินโดยแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19"

ซึ่งการให้ยาจะดำเนินการฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือโดยการฉีดเข้าทางชั้นใต้ผิวหนัง (SC) โดยที่ ‘ห้าม’ ฉีดเข้าทางชั้นกล้ามเนื้อ (IM) เด็ดขาด

และจะให้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นโดยบุคลากรทางแพทย์ และหลังจากได้รับยาแล้ว อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้

โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง เช่น อาการผื่นแพ้ อาการคล้ายหวัด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือความดันต่ำ แต่พบได้น้อยมาก

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19" 

นับวันที่วิกฤตการณ์จากโรคระบาดเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน ทางเลือกของการใช้ยา Antibody Cocktail หรือยาแอนติบอดีแบบผสม อาจเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาหลายอย่าง

ทั้งปัญหาเตียงเต็ม วัคซีนขาด หรือช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สมกับที่เป็นยารักษาโรค COVID-19 ‘โดยตรง’  

สามารถศึกษาข้อมูลและวิธีใช้ของ Antibody Cocktail ยารักษาโรค COVID-19 ได้ที่ https://youtu.be/JpTuzXwO-F0 / Website: www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/962217?anf=