Font Size
ย้อนตำนานไวรัสมรณะ โควิดคร่าชีวิต 5 ล้านคน
จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จากทั่วโลกผ่านหลัก 5 ล้านคน มากกว่าการระบาดของไวรัสในศตวรรษที่ 20 และ 21 แบบเทียบไม่ติด ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่โลกนี้ผ่านการระบาดใหญ่ของไวรัสมาแล้วหลายครั้ง

มีเพียงการระบาดของไข้หวัดสเปนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 50 ล้านคนระหว่าง พ.ศ.2461-2462 ที่มากกว่าการเสียชีวิตเพราะโควิด-19 มาก อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดที่แท้จริงอาจสูงกว่าตัวเลขทางการ 2-3 เท่า สำนักข่าวเอเอฟพีเปรียบเทียบข้อมูลสำคัญไว้ดังนี้

โรคระบาดในศตวรรษที่ 21

การเสียชีวิตของมนุษย์จากโควิด-19 ที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าSARS-CoV-2 มากกว่าการระบาดของไวรัสอื่นๆ ในศตวรรษที่ 21

ปี 2562 ไวรัส H1N1 หรือไข้หวัดสุกรระบาด ตัวเลขเสียชีวิตทางการที่ 18,500 คน ต่อมาวารสารการแพทย์แลนเซ็ตปรับตัวเลขอยู่ระหว่าง 151,700-575,400 คน

ปี 2545-2546 โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) เกิดขึ้นครั้งแรกในจีนประเทศเดียวกับที่เกิดโควิด แต่มีผู้เสียชีวิตจากโรคซาร์สแค่ 774 คนเท่านั้น

ไข้หวัดใหญ่

จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่ไม่เป็นข่าวหน้าหนึ่ง ทั่วโลกอยู่ระหว่าง 290,000-650,000 คนต่อปีจากผู้ป่วยรุนแรง 5 ล้านคนตามข้อมูลของดับเบิลยูเอชโอ

ในศตวรรษที่ 20 เคยมีไข้หวัดใหญ่ระบาดนอกฤดูกาลสองครั้ง คือไข้หวัดเอเชียระหว่าง พ.ศ.2500-2501 และไข้หวัดฮ่องกง พ.ศ.2511-2513 แต่ละครั้งมีผู้เสียชีวิตราว 1 ล้านคน

โรคระบาดยุคใหม่ที่สร้างความหายนะที่สุดนับถึงวันนี้คือไข้หวัดสเปน ระหว่าง พ.ศ.2461-2462 เพราะเกิดจากไวรัสตัวใหม่ งานวิจัยเผยแพร่ในทศวรรษ 2000 ระบุว่า การระบาดต่อเนื่อง 3 ระลอกคร่าชีวิตผู้คน 20-100 ล้านคน สูงกว่าผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่กว่า 10 ล้านคนอยู่มาก

ไวรัสเขตร้อน

ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับอีโบลา ที่พบครั้งแรกใน พ.ศ.2519การระบาดใหญ่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกระหว่างเดือน ส.ค.2561-มิ.ย.2563 คร่าชีวิตประชาชนเกือบ 2,300 คน

 การระบาดเป็นช่วงๆ ของอีโบลาใน4 ทศวรรษคร่าชีวิตประชาชนไปราว 15,300 คน ทั้งหมดอยู่ในแอฟริกา อัตราการเสียชีวิตจากอีโบลาสูงกว่าโควิด-19 อยู่มาก ที่ราว 50% แต่อีโบลาติดต่อน้อยกว่าโรคจากเชื้อไวรัสอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่ได้ติดเชื้อผ่านอากาศ แต่เป็นการติดต่อกันด้วยการสัมผัสโดยตรงและสัมผัสใกล้ชิด

ไวรัสเขตร้อนอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออกที่คนป่วยหนักอาจถึงแก่ชีวิตได้มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่า

ไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะ มีผู้ป่วยมากขึ้นช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่คร่าชีวิตประชาชนราวปีละไม่กี่พันคน ตัวเลขล่าสุดจากดับเบิลยูเอชโอ ปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก 4,032 คน

เอดส์และตับอักเสบ

ถึงขณะนี้เอดส์ยังคงเป็นโรคระบาดสมัยใหม่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ตั้งแต่ปี 2523 ทั่วโลกเสียชีวิตจากเอดส์ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและไม่สามารถรักษาได้เกือบ 36.3 ล้านคน

ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเอดส์มีแต่ยาต้านไวรัส เมื่อใช้สม่ำเสมอสามารถลดการเจ็บป่วยและลดความเสี่ยงแพร่เชื้อได้ การรักษาวิธีนี้ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากที่เคยสูงสุด 1.7 ล้านคนในปี 2547 มาอยู่ที่ 680,000 คนในปี 2563 ได้

ส่วนไวรัสตับอักเสบ บีและซี ที่ส่วนใหญ่ติดต่อกันทางเลือด ก็มียอดเสียชีวิตสูงเช่นกัน แต่ละปีกว่า 1 ล้านค ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจน

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/969286?anf=