กรณีพบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความลงในสื่อโซเชียลมีเดีย ระบุว่า ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 "Johnson & Johnson" จากคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยพบว่า มีการนำมาจากกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการใช้วัคซีน "Johnson & Johnson" ถึงแม้ว่าเป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายที่ 3 ของประเทศไทยแล้วก็ตาม "คมชัดลึกออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จักกับวัคซีน "Johnson & Johnson" เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 ในอนาคต
วัคซีน "Johnson & Johnson" เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) โดยนักวิจัยจะตัดต่อสารพันธุกรรมบางส่วนของเชื้อโควิด-19 มาใส่ในไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธ์ุ 26 (Human adenovirus type 26) ซึ่งเป็นไวรัสพาหะที่ถูกดัดแปลงให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ หรืออ่อนกำลังลงจนไม่ทำให้เกิดโรค แล้วนำมาฉีด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
นอกจากวัคซีน "Johnson & Johnson" แล้ว ยังมีวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเดียวกันอีก แต่ใช้สายพันธ์ุไวรัสอะดีโนของมนุษย์ที่ต่างกัน ได้แก่ วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ของประเทศอังกฤษ และวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ของประเทศรัสเซีย
คุณสมบัติวัคซีน Johnson & Johnson
- วัคซีน Johnson & Johnson เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดเดียว ที่ฉีดเพียง 1 เข็ม โดยฉีดบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน
- สาเหตุที่ฉีดเพียงเข็มเดียว เพราะจากการทดลองในระยะที่ 1 และ 2 พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีแล้ว ในขณะที่การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไม่ได้เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันมากนัก ซึ่งการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว ช่วยเพิ่มความสะดวกในการให้วัคซีน และลดต้นทุนในการขนส่งและฉีดวัคซีนได้มาก
ประสิทธิภาพวัคซีน Johnson & Johnson
- มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด 19 66.3% หลังเข้ารับการฉีดวัคซีน 14 วัน
- มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด 19 65.5% หลังเข้ารับการฉีดวัคซีน 28 วัน
วัคซีน Johnson & Johnson ไม่เหมาะกับใคร
- ผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่กำลังให้นมบุตรเนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS)
- ผู้ชายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน
- ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งก่อน ๆ
- ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ซึ่งอาจก่อโรคในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงได้มาก
ผลข้างเคียงที่พบทั่วไป
- ปวด บวม และมีรอยแดง บริเวณที่ฉีด
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- มีไข้ และอาการหนาวสั่น
- คลื่นไส้
ผลข้างเคียงเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน หลังได้รับการฉีดวัคซีน และควรหายภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
ผลข้างเคียงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) อาจเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์หลังฉีดวีคซีน
- ปวดศีรษะรุนแรง หรือปวดอย่างต่อเนื่อง
- ตาพร่ามัว
- หายใจถี่
- เจ็บหน้าอก
- ขาบวม
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด นอกเหนือจากบริเวณที่ฉีด
หากมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 1 อาการ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
เปิดประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียง "วัคซีน Johnson & Johnson" ที่ไทยไม่มี แต่ได้ฉีด