Font Size

2021 11 29 09 50 31

แพทย์แอฟริกาใต้เผยอาการคนติดโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" เป็นอาการที่ "ไม่ปกติแต่ไม่รุนแรง" กลุ่มผู้ป่วยที่มีสุขภาพดี แค่อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ปวดเมื่อยร่างกาย-กล้ามเนื้อ

วันนี้ (28พ.ย.64) แพทย์หญิงแองเจลิเก้ โคเอตซี แพทย์ประสบการณ์ 30 ปี ประธานแพทยสภาแอฟริกาใต้ (ซามา) ซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาเตือนถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นคนแรก ระบุว่า หลังจากที่ตนเอง พบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่คลินิกในกรุงพริทอเรีย เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ จำนวน 19 คนที่มีอาการที่แปลกออกไป จากคนไข้ที่เคยรักษาก่อนหน้านี้

เวลานี้มีคนไข้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ราว 24 รายส่วนใหญ่เป็นชายวัยรุ่น ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน และในจำนวนคนไข้ทั้งหมดไม่มีใครเลยที่สูญเสียการรับรสหรือดมกลิ่น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการเช่นปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียเป็นเวลา 1 หรือ 2 วัน มีอาการไอเล็กน้อย แต่ไม่ได้มีอาการที่โดดเด่น โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน

แพทย์หญิงโคเอตซี ระบุว่า เคสที่น่าสนใจก็คือ เด็กหญิงวัย 6 ขวบ ที่มีอาการตัวร้อน มีอัตราการเต้นของหัวใจสูง จนคิดว่าจะต้องแอทมิต แต่หลังผ่านไป 2 วัน ก็อาการดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงโคเอตซี ระบุว่า คนไข้ทั้งหมดที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ของตนนั้นเป็นคนที่มีสุขภาพดี แต่ที่น่ากังวลก็คือกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอาจมีผลกระทบกับการติดเชื้อโอไมครอนได้มากกว่า

 

เช่นเดียวกับที่อิตาลี ซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน รายนั้น พบว่า ได้ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม แต่สุขภาพแข็งแรง ยังไม่มีอาการใดๆ

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลเด็กแบมบิโน จีซู ในกรุงโรมของ อิตาลี ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน ภาพแรกของโลกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 พ.ย.)

ภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่า เชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์บริเวณหนามโปรตีนมากกว่า ไวรัสกลายพันธุ์เดลตา 3.5 เท่า หรือมากถึง 32 ตำแหน่ง บริเวณหนามซึ่งใช้ในการก่อโรคในมนุษย์ ขณะที่สายพันธุ์เดลต้า กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพียง 9 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การค้นพบดังกล่าว ไม่ได้ชี้ให้เห็นโดยตรงว่าเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนมีอันตรายมากกว่า

ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคน จึงมองว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่ SARS-CoV-2 อาจเริ่มเปลี่ยนแปลงเหมือนไวรัสอื่น ๆ คือเมื่อมีการระบาดมากขึ้น ความรุนแรงจะเริ่มลดลง

 

 

ภาพจาก AFP

ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/97834/