Font Size

ศูนย์จีโนม รพ.รามาฯ เปิดข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ โอไมครอน (Omicron) แพร่เร็วกว่า "เดลตา" แต่อาจจาก "วายร้าย" อาจพลิกกลับมาเป็น "พระเอก"?

 

วันนี้( 4 ธ.ค.64) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ชนิด B.1.1.529 หรือ "โอไมครอน"

โดยระบุข้อความว่า "ข่าวดีจากโควิด-19 “โอไมครอน” ที่อาจเกิดขึ้นในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า จาก "วายร้าย" อาจพลิกกลับมาเป็น "พระเอก" เราได้รับข่าวสารอันเป็นการคาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst case scenario) ของ "โอไมครอน" กันมามากพอสมควร ดังนั้น post นี้ขอนำเสนอ การคาดการณ์สถานการณ์ที่ดีที่สุด โชคดีที่สุดที่ควรเป็นไปได้ (Best case scenario) ของ “โอไมครอน” บ้าง

Dr. John L. Campbell เป็นผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียของอังกฤษได้รับความสนใจในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 สำหรับวิดีโออธิบายและข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับไวรัส ดร. แคมเบล สรุปประเด็นของโรคโควิด-19 ได้ดีมาก โดยมีผู้ติดตามถึง 1.6 ล้านคนผ่านช่องทาง “Youtube” เนื่องจากการบรรยายของท่านจะอ้างอิงจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เชื่อถือได้เป็นหลัก

โดยท่านได้สรุปประเด็นของ “โอไมครอน” ไว้อย่างน่าสนใจซึ่งตรงกันหลายประเด็นที่ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้คือ

วัคซีนเชื้อตายอาจช่วยปกป้องการติดเชื้อ "โอไมครอน" ได้ดีหรือไม่?

 

เพราะวัคซีนเชื้อตายเป็นการใช้เชื้อไวรัสทั้งตัวเข้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งแม้จะกระตุ้นภูมิได้ไม่สูงเมื่อเทียบกับวัคซีนประเภทอื่น แต่จะกระตุ้นให้เกิด "แอนติบอดี" มากมายกว่า 20 ชนิด ต่างจากการใช้วัคซีนที่มีไวรัสเป็นพาหะ หรือวัคซีน mRNA ซึ่งภูมิจะขึ้นสูงกว่าแต่จะจำเพาะเจาะจงเฉพาะส่วน "หนาม" เพราะใช้เพียงส่วนหนามเข้ากระตุ้นภูมิเท่านั้น ดังนั้นหากติดเชื้อ "โอไมครอน" ที่ส่วนหนามเปลี่ยนไป อาจทำให้แอนติบอดีในร่างกายเราที่สร้างจากการกระตุ้นเพียงส่วนหนาม (จากวัคซีนไวรัสพาหะ และวัคซีน mRNA) ลดประสิทธิภาพในการป้องกัน "โอไมครอน" ลงได้

และกรณีไวรัสกลายพันธุ์จนสามารถแพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว (high transmissibility) ก็มักจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง (mild symptom) โดยไวรัสเองจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน (immune escape) ได้ลดลงเช่นกัน เหตุการลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับสายพันธุ์ “บีตา” ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี (immune escape) แต่แพร่ติดต่อได้ไม่ดี จนถูก สายพันธุ์“เดลตา” ซึ่งแพร่ติดต่อได้รวดเร็วกว่า (more transmissibility) เข้ามาแทนที่ โดย “เดลตา” เองแม้จะแพร่ติดต่อได้ดีแต่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนัก

หากคาดการณ์สถานการณ์ที่เป็นไปอย่างดีที่สุด โชคดีที่สุดที่ควรเป็นไปได้ (Best case scenario) “โอไมครอน” ซึ่งมีการกลายพันธุ์ไปมากและจากข้อมูลล่าสุดพบว่า สามารถแพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คนได้รวดเร็วกว่า “เดลตา” จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้ามาแทนที่เดลตาในที่สุด โดยผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการรุนแรง (mild symptom) ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดภูมิคุ้มกันโดยไม่ล้มเจ็บต้องเข้า รพ. หรือเสียชีวิต

“โอไมครอน” หากเข้ามาแทน"เดลตา" ได้สำเร็จ อาจช่วยลดระดับความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่มีอาการลดลงในที่สุด

เสมือนกับการให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็น แต่อ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) แก่คนทั่วโลก (โดยธรรมชาติ) ซึ่งเราน่าจะได้คำตอบภายใน 2-3 อาทิตย์ว่าบทสรุปแนวทางนี้ถูกต้องหรือไม่ ติดตามการบรรยายเต็มประมาณ 19 นาทีได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=Ls7zy6_0Z2s"

 ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/98388/

 

 

 

 

 

ภาพจาก AFP