Font Size

2021 12 13 09 13 48

สธ. ยืนยันชุดตรวจ ATK ที่ไทยใช้สามารถตรวจพบได้ทุกสายพันธุ์ ส่วนวิธีมาตรฐานที่ใช้ตรวจพบได้แม้จะกลายพันธุ์เพิ่ม

วันนี้ (9 ธ.ค.64) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่า กระทรวงสาธารณสุขโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่าย ได้เฝ้าระวังตรวจสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 มาโดยตลอด ตั้งแต่มีการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน -8 ธันวาคม 2564 ทำการสุ่มตัวอย่างตรวจสายพันธุ์ไวรัส รวม 1,645 ราย แยกเป็น จากผู้ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักร 99 ราย และจากผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,546 ราย ตรวจด้วยวิธี SNP genotyping ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้นเฉพาะตำแหน่งและเฉพาะยีนเพื่อหาลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์ไวรัส

เมื่อสงสัยว่าเป็นสายพันธุ์ที่จับตามองจะส่งตรวจยืนยันด้วยวิธี Whole genome sequencing (WGS) เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งเกือบทั้งหมดพบเป็นสายพันธุ์เดลตาคือ 1,641 ราย ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนพบเพียง 4 ราย หรือไม่ถึง 1%

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพศหญิง 2 ราย ที่สงสัยเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ผลตรวจยืนยันด้วยวิธี WGS พบว่า เป็นโอไมครอนจริง ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 3 ราย เป็นชาวอเมริกัน 1 ราย และชาวไทย 2 ราย ทุกรายเดินทางมาจากต่างประเทศ และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้รับตัวอย่างผู้ติดเชื้ออีก 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 41 ปี เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo) ในระบบ Test & Go ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 2 เข็ม

ผลการตรวจเบื้องต้นสงสัยว่ามีโอกาสติดเชื้อโอมิครอน จึงนำตัวอย่างส่งตรวจหาสายพันธุ์ คาดว่าอีกประมาณ 2 วัน จะทราบผล ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้สอบสวนโรคเพื่อหาผู้สัมผัสและอยู่ระหว่างการกักตัวเพื่อรับการรักษาตามมาตรการ

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า จากข่าวที่พบการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์โอไมครอน ขอยืนยันว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจจับได้จากการตรวจเบื้องต้นด้วยวิธี SNP genotyping เมื่อพบตำแหน่งที่คล้ายกับเดลตา (S.T478K) อัลฟา (S.delHV69-70, S.N501Y) และเบต้า (S.K417N) ในตัวอย่างเดียวกันจะเข้าข่ายสงสัยเป็นโอมิครอน

 

อย่างไรก็ตาม จะติดตามสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อย่างใกล้ชิดและหาวิธีการตรวจที่ครอบคลุม รวมทั้งจะนำตัวอย่างเชื้อโอมิครอนมาทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดต่าง ๆ เพื่อหาความสามารถในการจัดการของวัคซีนต่อโอไมครอนต่อไป

“ขอยืนยันว่าชุดตรวจ ATK ที่ใช้อยู่สามารถตรวจหาเชื้อโอมิครอนได้ แต่ต้องมีการเก็บตัวอย่างและตรวจให้ถูกวิธี รวมถึงมีการตรวจซ้ำ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ซึ่งประเทศไทยสุ่มตรวจพบเพียง 4 ราย จากกว่า 1,600 ราย ถือว่าน้อยมาก และยังไม่มีรายงานการติดเชื้อที่รุนแรง ไม่มีคนเสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้ อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดและวัคซีนยังเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด” นายแพทย์ศุภกิจกล่าว

 

ภาพจาก TNN Online