Font Size

"โอไมครอน" BA.2 ทดสอบแล้วพบก่อโรครุนแรง กระจายดีในจมูก-ทำปอดแย่ลง

"โอไมครอน" BA.2 หมอเฉลิมชัยเปิดผลทดสอบ พบก่อโรครุนแรงกระจายได้ดีในโพรงจมูก และทำสมรรถภาพปอดแย่ลง ติดเชื้อตัวนี้ต้องนอนโรงพยาบาลมากขึ้น

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ Blockdit "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" เกี่ยวกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ตัวใหม่ที่กำลังถูกจับตามองของทั่วโลก โดย ระบุว่า

ล่าสุด  ญี่ปุ่นพบว่าไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 (BA.2) ก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์ย่อยที่ 1 (BA.1) ในหนูแฮมสเตอร์

นับจากมีไวรัสโอมิครอนแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยมีความสามารถในการแพร่ที่รวดเร็วกว่าไวรัสเดลต้า แต่มีความรุนแรงน้อยกว่านั้น

ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา มีข้อมูลเบื้องต้นสรุปได้ว่า

1. มีไวรัสสายพันธุ์ย่อยอยู่ 3 สายพันธุ์คือ BA.1 , BA.2 , BA.3

2.BA.1 เป็นหลัก โดยมี BA.2 เป็นลำดับที่ 2

3.BA.2 มีลักษณะเด่นคือ แพร่เร็วกว่า BA.1 มากถึง 30% ทำให้ขณะนี้แพร่ไปแล้ว 74 ประเทศ และ 47 รัฐของสหรัฐฯ

4. มีถึง 10 ประเทศ ที่มีสายพันธุ์ย่อย BA.2 เป็นสายพันธุ์หลักประกอบด้วย บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล เดนมาร์ก ฟิลิปปินส์ จีน บูรไน กวม และมอนเตรเนโก

5.BA.2 มีความสามารถในการดื้อต่อวัคซีนพอๆกับ BA.1 ทำให้ต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ 74% (ของไทยคือ 68%)

6.มีความสามารถในการก่อโรคที่มีอาการรุนแรงพอกันกับ สายพันธุ์ย่อย BA.1 แต่มีข้อมูลในประเทศเดนมาร์กที่พบว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นทำให้นอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แตกต่างกับแอฟริกาใต้และอังกฤษการนอนโรงพยาบาลไม่ได้เพิ่มขึ้น

7.มีการดื้อต่อการรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น ภูมิคุ้มกันแบบ Monoclonal Antibody

นพ.เฉลิมชัย ระบุเพิ่มเติมว่า  ขณะนี้มีรายงานการศึกษา "โอไมครอน" BA.2  ของญี่ปุ่นจากหลายสถาบัน หนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยโตเกียว


ได้รายงานเบื้องต้นว่า

1. BA.2 อาจจะไม่ใช่สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน แต่ควรจะนับเป็นสายพันธุ์หลักชนิดใหม่ และใช้ชื่ออักษรกรีกลำดับใหม่ ความเห็นนี้สอดคล้องกับ Dr.D.Rhoads ซึ่งเป็นนักไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

2. จากการศึกษาในหนูแฮมสเตอร์ พบว่าสายพันธุ์ BA.2 ก่อให้เกิดโรคที่มีอาการหนักกว่าสายพันธุ์ BA.1 ทำให้สมรรถภาพปอดแย่ลง มีการแบ่งตัวในเซลล์จมูกเร็วกว่า จึงทำให้มีความสามารถในการแพร่เชื้อที่ง่ายกว่าด้วย

อย่างไรก็ตามความรุนแรงของโรคจะมีมากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ ความร้ายแรงของไวรัสเอง และระดับภูมิคุ้มกันของมนุษย์

ถ้า BA.2 มีความร้ายแรงในมนุษย์จริงก็ไม่ได้แปลว่า จะก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าเสมอไป  เพราะขณะนี้จำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนมีเป็นจำนวนมากเกินกว่า 10,000 ล้านโดสแล้ว  ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อาการไม่รุนแรงมากเท่ากับความร้ายแรงของไวรัสที่เพิ่มขึ้น

มนุษย์คงจะต้องติดตามศึกษาเรื่องคุณลักษณะต่างๆของไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ที่มีการกลายพันธุ์อยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาต่อไป

ไม่สามารถที่จะวางใจได้ว่า โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือมีความรุนแรงน้อยลง จนไม่มีผลกระทบขนาดใหญ่

เพราะถ้าไวรัสกลายพันธุ์ไปในทิศทาง ที่แพร่เชื้อเร็ว ดื้อต่อวัคซีนมาก และก่อโรครุนแรง ก็จะเกิดการระบาดขนาดใหญ่ทั่วโลก และโควิด-19 ก็จะอยู่ต่อเนื่องไปอีก ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะนานเท่าใด

แต่ก็มีโอกาสอยู่บ้างเช่นกัน ที่การ กลายพันธุ์ จะทำให้ไวรัสแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่สร้างความรุนแรงน้อยลง ก็จะเป็นโชคดีของมนุษยชาติ

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/505994?adz=