Font Size
 
"โอไมครอน" แพร่เชื้อไว ไทยประมาท ทำเด็กโคม่าเยอะ เจอ Long COVID ซ้ำ
 
 

"โควิด" ระบาดหนัก พบทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้ว 489,523,949 คน หมอธีระ มองไทยประมาท "โอไมครอน" ส่งผลให้เด็กป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊ค Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) โดยระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด "โควิด" ซึ่งเมื่อวานทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 1,225,510 คน ตายเพิ่ม 3,578 คน รวมจำนวนผู้ติดเชื้อ 489,523,949 คน เสียชีวิตรวม 6,170,351 คน

โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อ "โควิด" สูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรปรวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.21 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.81 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 33.22 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 27.69 โดยสถานการณ์ระบาดของไทยเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก

ล่าสุด Wang L และคณะได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นเรื่องความรุนแรงของ "โอไมครอน" และ "เดลตา" ในเด็กเล็กน้อยกว่า 5 ปี ลงใน JAMA Pediatrics เมื่อวานนี้ 1 เมษายน 2565 พบว่า "โอไมครอน" นั้นรุนแรงน้อยกว่า "เดลตา" เพราะมีความเสี่ยงที่จะไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินลดลง 16%, เสี่ยงต่อการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลลดลง 34%, เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าไอซียูลดลง 65%, และเสี่ยงต่อการใส่ท่อช่วยหายใจลดลง 85% แต่ตัวเลขข้างต้น หากอ่านเผินๆ ด้วยกิเลสและความประมาท จะทำให้เข้าใจผิด ไม่กลัว "โอไมครอน"

ข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้คือ "โอไมครอน" ทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อไวกว่า "เดลตา" และมากกว่าถึง 7 เท่า ตัวเลขข้างต้นสูงมาก จึงไม่แปลกใจที่สุดท้ายแล้วตัวเลขผู้ป่วยเด็กที่ต้องไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน นอนโรงพยาบาล เข้าไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงเสียชีวิตจึงมากกว่าเดิม นี่คือสถานการณ์จริงที่เราเห็นได้จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีการระบาดหนัก 

นอกจากเรื่องติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตแล้ว สิ่งที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วโลกหนักใจคือ แม้รักษาหายในช่วงแรกที่ติดเชื้อแล้ว ผู้ที่เคยติดเชื้อ "โควิด" มาก่อนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวที่เรียกว่า "Long COVID" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ทั้งเรื่องความคิดความจำ อารมณ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และอื่นๆ จนนำไปสู่ความพิการ ทุพลภาพ ส่งผลกระทบทั้งต่อคนที่ป่วย ครอบครัว และสังคมได้อีกด้วย ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

อ้างอิง
Wang L, Berger NA, Kaelber DC, Davis PB, Volkow ND, Xu R. Incidence Rates and Clinical Outcomes of SARS-CoV-2 Infection With the Omicron and Delta Variants in Children Younger Than 5 Years in the US. JAMA Pediatr. Published online April 01, 2022.

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510167?adz=