"ติดโควิดซ้ำรอบ 2" หลายคนเริ่มกังวล ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เป็นซ้ำแล้ว อาการรุนแรงมากกว่าครั้งแรกหรือไม่ มาหาคำตอบได้ที่นี่
"ติดโควิดซ้ำรอบ 2" เป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน และมีสาเหตุมาจากอะไร เริ่มกลับมามีการตั้งคำถามขึ้นบ่อยครั้ง หลังจากที่มีข่าวนักการเมืองรายหนึ่งติดโควิดซ้ำ 2 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" (Omicron) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีคำแนะนำ "ติดโควิดซ้ำ" หมายถึงอะไร และมีสาเหตุมาจากอะไร
การ "ติดเชื้อโควิดซ้ำรอบ 2" หมายถึง ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ แต่ต่อมาติดเชื้อซ้ำ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่พบว่า "โอไมครอน" พบการติดเชื้อซ้ำ
สูงกว่าเดลตา 3-6 เท่า
สาเหตุการติดเชื้อซ้ำ
- มักเกิดในช่วงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับไม่ครบ หรือรับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานกว่า 6 เดือน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- เชื้อที่มีการระบาดในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงจากเชื้อเดิม
- ผู้ป่วยลดลดมาตรการป้องกันตัวและมีพฤติกรรมเสี่ยง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า การ "ติดโควิดซ้ำรอบ 2" ที่ต่างสายพันธุ์กันสามารถติดเชื้อซ้ำได้ เช่น คนที่หายจากโควิดสายพันธุ์เดลตา ก็สามารถติดสายพันธุ์โอไมครอนซ้ำได้ ส่วนกรณีสายพันธุ์โอไมครอนเหมือนกัน แต่เป็นสายพันธุ์ย่อย เช่น BA.1 กับ BA.2 ยังเป็นความรู้ใหม่ ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดข้อเท็จจริงอีกครั้ง ตามหลักแล้วก็มีโอกาส แต่จะ 1 ในแสน หรือ 1 ในล้าน ต้องดูข้อมูลประกอบรวมถึงดูระยะเวลาด้วย
อาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรกหรือไม่
คนที่ติดเชื้อซ้ำ อาจต้องดูข้อมูลเรื่องความรุนแรงของอาการป่วย ประวัติ ข้อมูลทางระบาดวิทยารวมถึงระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อเนื่องจากร่างกายของแต่ละคน มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน และระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงก็ใช้ระยะเวลาแตกต่างกันด้วย รวมถึงตัองดูผลการตรวจจากห้องปฏิบัติ เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัด
ขณะที่ "หมอเฉลิมชัย" น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา บอกเหตุผลว่า ทำไมผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิดเพียง 1 เดือน จึงเกิดติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ มีความเป็นไปได้จากเหตุผล ดังนี้
- ถ้าการติดเชื้อโควิด ครั้งที่ 1 มีปริมาณเชื้อน้อย และอาการไม่รุนแรง อาจจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ไม่สูงนัก เมื่อไปสัมผัสเสี่ยงกับผู้ที่มีปริมาณเชื้อไวรัสมาก จึงอาจเกิดติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันควรจะสามารถป้องกันได้อย่างน้อย 3-6 เดือน
- ในการติดเชื้อครั้งที่ 2 อาจเกิดจากเป็นไวรัสคนละสายพันธุ์กัน เช่น ติดเชื้อครั้งที่ 1 เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 ของโอไมครอน ต่อมาติดสายพันธุ์ย่อยที่สอง คือ BA.2 ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันจากสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง ทำหน้าที่ป้องกันได้ไม่เต็มที่นัก
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เพิ่งหายป่วยจากการติดเชื้อ ไม่ควรประมาท เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ และอาจทิ้งระยะห่างน้อยกว่าที่เคยเชื่อกัน (3-6 เดือน) การป้องกันตนเอง มีวินัย ไม่ประมาท ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ในสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ตลอดจนฉีดวัคซีนเมื่อถึงกำหนดเวลา ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญ และใช้ได้ผลดีในการรับมือกับไวรัสก่อโรคโควิด ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม