"ดร.อนันต์" เปิดผลวิจัยใหม่ของเกาหลีใต้ พบข้อมูลชวนอึ้ง ไวรัส "โควิด" สามารถติดเข้าเซลล์ได้ทุกสายพันธุ์พร้อมกัน Omicron เข้าปอดไวกว่า 4.8 เท่า
(15 เม.ย.2565) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โพสต์เฟซุบ๊ค Anan Jongkaewwattana เผยผลวิจัยใหม่ เกี่ยวกับไวรัส "โควิด" สายพันธุ์ต่าง ๆ ระบุว่า
ทีมวิจัยของเกาหลีใต้ ได้นำเสนอผลการทดลองชิ้นหนึ่งออกมาน่าสนใจมาก เป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาตอบคำถามเกี่ยวกับความสามารถการติดเข้าสู่เซลล์ปอดของมนุษย์ ของไวรัส SARS-CoV-2 แต่ละสายพันธุ์ได้ชัดเจนขึ้น
โดยทีมวิจัยทำการแยกเซลล์ถุงลมปอดของมนุษย์ออกมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ และเหนี่ยวนำให้เซลล์ดังกล่าวเจริญเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า Organoid ซึ่งเป็นสภาวะที่ใกล้เคียงกับอวัยวะจริงในร่างกาย มากกว่าการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง ที่มักแยกมาจากเซลล์มะเร็งปอด และมีการเลี้ยงมาเป็นเวลานาน พอได้ระบบ Organoid ของปอดมนุษย์แล้ว ทีมวิจัยได้นำไวรัส "โควิด" ที่แยกได้จากผู้ป่วยในเกาหลีใต้ ที่มีการถอดรหัสพันธุกรรม 100% เรียบร้อยแล้ว 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เดิม (GR), Alpha, Delta และ Omicron จำนวนเท่า ๆ กัน มาผสมกัน และปล่อยให้ไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ติดเข้าสู่ Organoid ปอดที่สร้างขึ้น
ทีมวิจัยได้มีการใช้ระยะเวลาที่ให้ไวรัสไปบ่มกับเซลล์ที่เวลาต่าง ๆ กัน ที่น่าสนใจคือ เค้าใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาที ก็สามารถพบว่า ไวรัสสามารถติดเข้าสู่เซลล์ได้แล้วหลังจากบ่มไวรัสที่เตรียมไว้กับ Organoid ปอด ทีมวิจัยทำการแยกเซลล์ปอดที่ติดเชื้อออกเป็นเซลล์เดี่ยว แล้วนำเซลล์เดี่ยว ๆ นั้น ไปถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสในแต่ละเซลล์ ด้วยเทคโนโลยี SMART-seq3 ที่ทีมวิจัยระบุว่า สามารถอ่านรหัสพันธุกรรมในเซลล์เดี่ยว ๆ แต่ละเซลล์นั้นได้ละเอียด มากพอที่จะแยกสายพันธุ์ไวรัสที่เข้าไปติดเซลล์เหล่านั้น
ผลการทดลองจากการถอดรหัสเซลล์จำนวนเกือบ 190 เซลล์ ทีมวิจัยพบว่า 52 เซลล์ (คิดเป็น 27.2%) ถูกติดเชื้อ "โควิด" โดยไวรัส 1 สายพันธุ์ ในขณะที่มีเซลล์มากถึง 85 เซลล์ (44.5%) ถูกติดเชื้อไวรัสได้ 2 สายพันธุ์ และ มีมากถึง 52 เซลล์ หรือ 27.2% สามารถถูกติดเชื้อได้ 3 สายพันธุ์พร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก เพราะความเชื่อก่อนหน้านี้เกี่ยวกับโอกาสที่ไวรัสจะเข้าไปอยู่ในโฮสต์พร้อม ๆ กันมากกว่า 1 สายพันธุ์ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แต่ผลจากงานวิจัยนี้ก็บอกว่าไม่ยากเช่นกัน
ในบรรดาเซลล์ที่นำมาวิเคราะห์หาชนิดของไวรัสที่ติดเข้าไปได้ ทีมวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเซลล์ที่ติดสายพันธุ์โอมิครอน ตามมาด้วย Alpha และ Delta กับ สายพันธุ์ดั้งเดิม ทีมวิจัยพบว่า โอมิครอนมีความสามารถติดเข้าไปในเซลล์ปอดที่ใช้ในการศึกษานี้ไวกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ (ประมาณ 4.8 เท่า แต่ยังไม่ชัดเจนว่าผลของการศึกษานี้ จะขัดแย้งกับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบว่าโอมิครอนติดเซลล์ปอดไม่ดีหรือไม่ คงต้องดูในรายละเอียดของชนิดของเซลล์ที่ใช้ ตลอดจนความแตกต่างของไวรัสด้วย
"ดร.อนันต์" ระบุว่า แต่ประเด็นที่สนใจเป็นพิเศษคือ โอกาสที่ไวรัสเข้าไปเพิ่มจำนวนตัวเองในเซลล์เดียวกันได้หลาย ๆ สายพันธุ์ในเวลาเดียวกัน เพราะนั่นคือกลไกการสร้างไวรัสลูกผสมตระกูล X ทั้งหลาย ถ้าเกิดขึ้นได้ง่ายขนาดนี้ไวรัสหน้าตาแปลก ๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกันครับ
ขอบคุณข้อมูล Anan Jongkaewwattana