Font Size

27 พ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 530 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 524,556 คน ตายเพิ่ม 1,179 คน รวมแล้วติดไปรวม 530,082,845 คน เสียชีวิตรวม 6,307,296 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 
 
 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 69.42 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 62.84 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.89 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 21.54

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 14.56% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

…อัพเดตสถานการณ์การเสียชีวิตเฉลี่ยรายสัปดาห์ต่อประชากรล้านคน

ข้อมูลจาก Ourworldindata ชี้ให้เห็นว่าไทยเรายังมีอัตราตายสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชีย

นอกจากนี้หากจำแนกตามรายได้ของแต่ละกลุ่มประเทศ จะพบว่าอัตราตายเราก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle income countries) อีกด้วย

…ประเมินเรื่อง Long COVID

จากความรู้ล่าสุดที่ได้จากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่วันก่อน ซึ่งพบภาวะ Long COVID ในประชากรวัยผู้ใหญ่ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เฉลี่ย 1/5 หรือราว 20% และหากสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงเป็น Long COVID มากขึ้น เป็น 1/4 (25%)

ในขณะที่งานวิจัยในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่อีกชิ้นก็พบว่า การฉีดวัคซีนนั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Long COVID ได้ราว 15%

นำมาประเมินสถานการณ์ในประเทศ ซึ่งเรามีจำนวนคนติดเชื้อ (รวม ATK) ไปแล้วกว่า 6.4 ล้านคน

แม้ลองหักลบจำนวนเด็กหรือเยาวชนที่ติดเชื้อไป และหวังใจว่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศเราเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว

จำนวนคนที่จะประสบภาวะ Long COVID อาจมีสูงถึง 1,000,000 คน

สิ่งที่ควรทำคือ

หนึ่ง ทุกภาคส่วนควรช่วยกันกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ รวมถึงคนที่ติดเชื้อแล้วก็ควรป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

สอง รัฐควรลงทุนสนับสนุนทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับระบบสุขภาพ เพื่อจัดบริการให้คำปรึกษา ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดความรู้ทั้งเรื่องธรรมชาติของโรค การรักษา และการจัดทำระบบฐานข้อมูลระดับชาติ

สาม ประชาชนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ควรหมั่นอัพเดตความรู้อย่างสม่ำเสมอ และประเมินสถานะสุขภาพของตนเอง หากมีอาการผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ

โควิด…ไม่ได้จบที่หาย แต่ติดแล้วป่วยได้ ตายได้ ที่สำคัญคือเกิดภาวะผิดปกติระยะยาว Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด… ยังไม่ใช่เวลาที่จะถอดหน้ากาก ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่หลงไปกับคำลวงหรือกิเลส ควรป้องกันตัวให้เป็นกิจวัตร.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/149722/