อัปเดตสถานการณ์ฝีดาษลิง ทั่วโลกรายงานป่วย 484 ราย ใน 27 ประเทศ ผลยืนยันแล้ว 401 ราย สงสัย 83 ราย "สเปน" ป่วยมากสุด พบที่ "อิหร่าน" เพิ่มอีกประเทศ อาการส่วนใหญ่ออกผื่น พบมากที่อวัยวะเพศ อนามัยโลกยังไม่แนะนำฉีดวัคซีน ไทยยังเฝ้าระวังเข้ม
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษวานร ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2565 ระบุว่า 1.สถานการณ์ทั่วโลกของโรคฝีดาษวานรตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นถึงวันที่ 28 พ.ค. 2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 484 ราย (เพิ่มขึ้น 53 ราย) เป็นผู้ป่วยยืนยัน 401 ราย (เพิ่มขึ้น 69 ราย) และผู้ป่วยสงสัย 83 ราย (ลดลง 16 ราย) ใน 27 ประเทศทั่วโลก (เพิ่มขึ้น 1 ประเทศ) โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 139 ราย (ร้อยละ 29) อังกฤษ 101 ราย (ร้อยละ 21) โปรตุเกส 74 ราย (ร้อยละ 15) แคนาดา 63 ราย (ร้อยละ 13) และเยอรมัน 21 ราย (ร้อยละ 4) ประเทศใหม่ที่พบผู้ป่วย ได้แก่ อิหร่าน
ข้อมูลทางระบาดวิทยาของสถานการณ์ทั่วโลก จากรายงานทั้งหมด 195 ราย ที่มีการรายงานข้อมูลปัจจัย เพศ พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 97) และเพศหญิง (ร้อยละ 3) สำหรับอายุ จากรายงาน 71 ราย ที่มีข้อมูล ทั้งหมดเป็นกลุ่มอายุ 20-59 ปี จากรายงานที่มีข้อมูลอาการ 92 ราย ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99) มีผื่น โดยผื่นที่พบ ได้แก่ ลักษณะแผลหรือ ulcerative lesion (ร้อยละ 80) ไม่ระบุลักษณะ (ร้อยละ 10) ตุ่มน้ำใส (ร้อยละ 8) ผื่นนูน และตุ่ม หนอง (ร้อยละ 1) ตำแหน่งของผื่น ได้แก่ ไม่ระบุตำแหน่ง (ร้อยละ 60) บริเวณอวัยวะเพศ (ร้อยละ 57) บริเวณปาก (ร้อยละ 19) และบริเวณรอบทวารหนัก (ร้อยละ 1) อาการอื่นที่พบ ได้แก่ ไข้ (ร้อยละ 27) ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ไอ กลืนลำบากเล็กน้อย และปวดกล้ามเนื้อ (ร้อยละ 1)
จากรายงานที่มีข้อมูลสายพันธุ์ 9 ราย ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ West African จากรายงานทั้งหมด มี 84 ราย ระบุว่ามีประวัติเดินทาง 49 ราย (ร้อยละ 58) โดยมีข้อมูลระบุมี ประเทศต้นทาง 20 ราย (ร้อยละ 54) ได้แก่ สเปน (ร้อยละ 45) อังกฤษ (ร้อยละ 10) โปรตุเกส เบลเยียม แคนาดา ประเทศในแอฟริกาแต่ไม่ระบุชื่อ (ร้อยละ 7) ไนจีเรียและเยอรมัน (ร้อยละ 3)
2.สถานการณ์ในประเทศไทย วันที่ 28 พ.ค. 2565 ยังไม่พบรายงานผู้ป่วย สำหรับการประเมิน ความเสี่ยงของการติดต่อโรคฝีดาษวานรในประเทศไทยมีโอกาสพบผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงาน ผู้ป่วย เช่น ประเทศแถบแอฟริกากลางและตะวันตก สหราชอาณาจักรอังกฤษ สเปน โปรตุเกสและแคนาดา
3.ประเด็นที่น่าสนใจจากต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ยังไม่มีเหตุผลที่จะต้องเร่งฉีด วัคซีนขนานใหญ่เพื่อป้องกันโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) เนื่องจากสถานการณ์ของโรคดังกล่าวในขณะนี้ ยังสามารถควบคุมได้ แต่เตือนให้ตระหนัก เพื่อรับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อที่เราจะสามารถใช้มาตรการที่เพียงพอ ในเวลาที่เหมาะสม ขณะที่สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ออกคำแนะนำใหม่เกี่ยวกับผู้ ติดเชื้อฝีดาษวานรโดยระบุว่า ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงของตนเองเป็นเวลา 21 วัน โดยเฉพาะ สัตว์เลี้ยงที่เป็นหนูเจอร์บิลหรือหนูทะเลทราย หนูแฮมเตอร์ส และสัตว์ตระกูลฟันแทะ เพราะอาจมีความไวต่อโรค นี้เป็นพิเศษ และกังวลว่าเชื้อไวรัสฝีดาษวานรอาจแพร่ระบาดไปยังประชากรสัตว์ประเภทดังกล่าว
4.ข้อสังเกตจากสถานการณ์และข้อเสนอแนะ โดยข้อสังเกตพบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็น เพศชาย วัยเจริญพันธุ์ แต่เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยเพศหญิงเพิ่มมากขึ้น ล่าสุด 5 ราย (ผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย ผู้ป่วย สงสัย 3 ราย) ในผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย มีประวัติเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ได้แก่ เบลเยียม เมือง Antwerp ที่มีการจัด Darkland Festival และประเทศในแอฟริกาแต่ไม่ระบุชื่อ ประเทศเยอรมันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 8 รายจากวันที่ 27 พ.ค. 2565 ซึ่งในวันนี้มียอดผู้ป่วยสะสมเกิน 20 ราย ประเทศอิหร่าน มีรายงานผู้ป่วยสงสัย รายใหม่ตรวจจับผู้ป่วยสงสัย 3 รายจากผู้ที่เดินทางข้ามพรมแดน ข้อเสนอแนะ ไทยควรเพิ่มการเฝ้าระวังและให้ความรู้ในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพื่อการป้องกันโรคในสถานบริการที่มีความเสี่ยง เน้น ย้ำประชาชนให้มีการปฏิบัติตามมาตรการ UP