Font Size
 
ไทยป่วยใหม่ 2.2 พันราย   ดับ 20 คน ขยายเวลาผับตี 2 ส่อวืด นายกฯ ชี้ต้องดูกฎหมายเก่าด้วย สธ.ไฟเขียวยกเลิกเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" นอกราชอาณาจักรทั้งหมด ยังไม่พิจารณาเป็นโรคเฝ้าระวัง ไร้ข้อสรุปถอดหน้ากาก รอประเมินเปิดผับบาร์ 2 สัปดาห์ เคาะ "ฝีดาษวานร" โรคติดต่อเฝ้าระวัง ลำดับที่ 56

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,224 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,224 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,224 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 4,824 ราย อยู่ระหว่างรักษา 26,889 ราย อาการหนัก 725 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 359 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 11 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 17 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,471,179 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,414,072 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,218 ราย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอขอขยายเวลาการเปิดสถานบริการถึงเวลา 02.00 น. ว่าได้มีการพิจารณาเป็นระยะๆ ซึ่งได้ให้แนวทางไปแล้วใน ศบค. วันนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งจะมีข้อยุติในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ การที่จะขยายเวลาไปมากกว่ากฎหมายเวลาเดิม ต้องย้อนไปดูกฎหมายเดิมว่าให้สถานบริการแต่ละสถานบริการก่อนหน้าโควิด-19 ให้เปิดไปจนถึงเวลาเท่าไหร่ มีทั้งเที่ยงคืน ตี 1 ตี 2 จะไปดูว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะกฎหมายเก่ายังมีผลบังคับใช้อยู่ ถ้าจะแก้ตรงนั้นใหญ่โตไปขอให้เข้าใจแล้วกัน

"ส่วนเรื่องของการถอดหน้ากากอนามัย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังพิจารณาอยู่ ผมคิดว่าหลายคนก็คงยังไม่อยากถอด หลายคนก็อยากถอด บางอย่างก็เป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่ประกาศให้ถอดแล้วทุกคนต้องถอดหมด เพราะหลายคนยังไม่ไว้ใจ เขาก็ยังไม่ถอดหน้ากากอนามัย" นายกฯ ระบุ

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคโควิด-19 ที่เคยประกาศไว้ทั้งหมด เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวก สอดคล้องกับสถานการณ์โรคที่ดีขึ้น ส่วนมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าไทยก่อนหน้านี้มีการลดระดับไปเยอะแล้ว โดยหากมีการฉีดวัคซีนครบโดส ไม่ต้องตรวจเชื้อด้วย RT-PCR หรือ ATK แต่หากยังฉีดวัคซีนไม่ครบ เข้าประเทศยังต้องตรวจ ATK

2.ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 พร้อมกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ฝีดาษวานร” และกำหนดอาการของโรค 3.รับทราบสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย และสถานการณ์โลกดีขึ้น หลังเปิดเทอมยังไม่พบการระบาดที่น่ากังวล ส่วนการเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ 6 วันแล้วยังไม่พบเหตุการณ์ผิดปกติ แต่ต้องประเมินผลอีก 2 สัปดาห์ 4.เห็นชอบข้อเสนอแนะมาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิด ในสถานบันเทิง ผับ บาร์ ตามที่กรมอนามัยเสนอ

ส่วนเรื่องการถอดหน้ากากนั้น ที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีข้อสรุป จึงยังคงใช้มาตรการเหมือนเดิม ประเมินสถานการณ์อีกสักระยะ ซึ่งบอกไม่ได้ว่าต้องใช้เวลาแค่ไหน ก่อนเสนอ ศบค.พิจารณา ซึ่ง ศบค.จะมีการประชุมสัปดาห์หน้า ขณะนี้ประเมินสถานการณ์ทุกวัน แม้ว่าสถานการณ์ค่อนข้างคงที่ แต่ต้องรอดูผลกระทบจากการเปิดผับบาร์ด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่พบผลกระทบใดๆ

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนฝีดาษวานร นพ.โอภาสกล่าวว่า รอง ผอ.ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (USCDC) ได้เข้าพบและหารือร่วมกันกับกรมควบคุมโรค แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเตรียมการเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันทางองค์การเภสัชกรรมได้ประสานไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อเตรียมการแล้ว แต่ขณะนี้ดูเหมือนความรุนแรงของโรคไม่ได้มาก ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

วันเดียวกัน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวเปิดการประชุมว่า สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น และพบว่ากิจกรรมซึ่งจัดขึ้นหลายกิจกรรม อาทิ งานดนตรีในสวน มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนอยากใช้ชีวิตในรูปแบบปกติ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมข้อมูลการเตรียมพร้อม ศักยภาพการรองรับผู้ป่วยของ กทม. ทั้งผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรคฝีดาษลิง ก่อนนำเข้าที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ในสัปดาห์นี้ โดยจะเป็นการนำเสนอมาตรการที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ ได้มีชีวิตที่สะดวก ภายใต้มาตรการความปลอดภัยและปลอดโรค

จากนั้น นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม  โดยได้กำชับให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมหารือเตรียมมาตรการเพื่อเข้าสู่แนวทางการเป็นโรคประจำถิ่นของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเข้าที่ประชุม ศปก.ศบค.พิจารณาต่อไป

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึงกรณีการกระจายวัคซีนโควิด-19 จำนวน 16.8 ล้านโดส สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการวัคซีนของประชาชนว่า ขณะนี้มีการสื่อสารทำให้เข้าใจผิดว่าการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ไป รพ.สต. ทำให้เกิดปัญหาวัคซีนล้นตู้เย็น และให้ รพ.สต.เป็นถังขยะทิ้งวัคซีนนั้น ไม่เป็นความจริง  ขอชี้แจงว่าการจัดสรรวัคซีนโควิดให้แก่ รพ.สต.เป็นไปตามแผนการเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ผ่านความเห็นชอบจากอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. เมื่อวันที่ 20 พ.ค.65 เพิ่มความครอบคลุมในทุกกลุ่มเป้าหมายที่ครบกำหนด ซึ่งแผนการจัดสรรวัคซีน 16.8 ล้านโดสสำหรับ รพ.สต. ตัวเลขนี้เป็นโควตา จะทยอยส่งเป็นรอบๆ ไปที่คลังวัคซีนจังหวัด ขณะนี้มี 20 จังหวัดที่ได้รับครบตามโควตา โดยมีการประสานแจ้งแผนการจัดส่งให้หน่วยบริการทราบก่อนทุกครั้ง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะกระจายวัคซีนต่อไปที่ รพ.สต. ตามศักยภาพการฉีดและความจุของตู้เย็นแต่ละ รพ.สต. ซึ่งหากยังไม่พร้อม ก็สามารถปฏิเสธการรับวัคซีนตามโควตาได้.

 ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/one-newspaper/156935/