Font Size
 

หมอธีระ เผย ยอดเสียชีวิต "โอไมครอน" ของไทยยังติดอันดับ 7 ของโลก พร้อมเผย 3 ข้อ ผลวิจัยเกี่ยวกับ ภาวะ Long Covid แนะการสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งสำคัญ

 สถานการณ์ โควิด-19 วันนี้ (8 มิ.ย. 65) โดยรวมดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,688 ราย ติดเชื้อสะสม 4,473,867 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มลดลงเหลือ 21 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 30,239 ราย

 

 ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประเด็น สถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศไทย จากข้อมูล Worldometer พบว่า

 จำนวนติดเชื้อที่รายงานของไทยนั้นไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ เพราะหลัง 1 มิ.ย. มีการประกาศปรับมารายงานเพียงจำนวนคนป่วย ไม่ใช่รายงานการติดเชื้อใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

 ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 11.53% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย (อย่างไรก็ตามหากปรับตามคาดประมาณสัดส่วนของคนที่มีโรคร่วมเหมือน UK จะพบว่าคิดเป็น 15.85%

บทเรียนเรื่องวัคซีนในปี 2564 และสิ่งที่ควรทำ

 วัคซีนที่ได้รับการเรียกร้องจากบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในสังคมให้จัดหามาตั้งแต่ต้น และหามาตั้งแต่เนิ่นๆ คือ วัคซีน mRNA ที่มีหลักฐานวิชาการพิสูจน์ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพดีเมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน

ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง? อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้และจดจำให้ดี

 ณ ปัจจุบัน ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ที่มีนั้น สิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ไขสถานการณ์ และรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดประเทศซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดมากขึ้น โดยการตรวจคัดกรองโรคลดลงไปนั้น คือ การเร่งรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย mRNA vaccines

ส่วนวัคซีนชนิดอื่นนั้น ความจำเป็นต้องใช้ลดลง ควรสำรองไว้สำหรับคนที่ไม่สามารถรับวัคซีน mRNA ได้

อัพเดต Long Covid

 Zeng N และคณะ จากประเทศจีน ได้เผยแพร่ผลการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบจากงานวิจัย 151 ชิ้นจาก 32 ประเทศ รวมกลุ่มตัวอย่าง 1,285,407 คน และวิเคราะห์อภิมานอย่างละเอียด เกี่ยวกับการเกิดภาวะ Long COVID เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากล Molecular Psychiatry ในเครือ Nature วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

สาระสำคัญคือ

• หนึ่ง อัตราการพบภาวะ Long COVID ในคนที่เคยติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 โดยเฉลี่ย 50.1% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 45.4%-54.8%) โดยงานวิจัยต่างๆ ประเมินไปจนถึง 12 เดือนหลังการติดเชื้อ

• สอง คนที่เคยติดเชื้อแล้วแล้วมีอาการรุนแรง หรือสูงอายุ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID มากกว่า

• สาม คนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการน้อยนั้นพบว่ามีเรื่องโรควิตกกังวล และปัญหาด้านความจำ (memory impairment) บ่อย

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ

ในขณะเดียวกัน คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็จำเป็นต้องหมั่นดูแล คอยสังเกตสถานะสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติ ควรไปตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะภาวะ Long COVID นั้นเป็นได้หลากหลายระบบในร่างกาย รวมถึงปัญหาทางอารมณ์และจิตใจด้วย

การใส่หน้ากากเป็นหัวใจสำคัญ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในสังคมที่ยังมีการระบาดสูงกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศทั่วโลก และมีความเสี่ยงจากกิจกรรม และสถานที่ต่างๆ ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน

อ้างอิง

Zeng, N., Zhao, YM., Yan, W. et al. A systematic review and meta-analysis of long term physical and mental sequelae of COVID-19 pandemic: call for research priority and action. Mol Psychiatry. 6 June 2022

 

ข้อมูลจาก https://www.springnews.co.th/news/825583