Font Size

15 มิ.ย.65-บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดงานเสวนาเชิงวิชาการออนไลน์ โรช คอนเน็ค เดอะ ดอทส์ (Roche Connect the Dots) ในหัวข้อ “ล้วงลึก เจาะประเด็น “ฝีดาษลิง” และการตรวจหาเชื้อแบบ PCR” เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงทั่วโลก

  
 
 

ผศ. นพ. โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสตระกูล ออโธพอกซ์ (orthopox) โดยติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือ การรับประทานเนื้อสัตว์ตระกูลสัตว์ฟันแทะ ซึ่งเมื่อติดเชื้อในคนจะทำเกิดอาการไข้ มีผื่นตุ่มน้ำ ตุ่มหนองตามร่างกาย คล้ายโรคฝีดาษ(smallpox) ที่ถูกกำจัดไปแล้วในไปปี ค.ศ 1968 ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงอัพเดต เมื่อวันที่4 มิ.ย.65 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันประมาณ 1,500 คน กระจายทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงในแถบยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศสเปน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และโปรตุเกส ที่มีรายงานการระบาดพบจำนวนผู้ติดเชื้อเกิน 20 คน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผศ.นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า แต่ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่ามีการแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด เนื่องจากไวรัสมีระยะฟักตัวนานได้ถึง 21 วัน และในบางรายพบว่าอาการผื่นตุ่มน้ำเกิดขึ้นเพียงในเยื่อบุช่องปาก และที่อวัยวะเพศถึง 60% คล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างเริม หรืออาจจะเป็นเชื้อซิฟิลิส ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคฝีดาษลิง ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้ สำหรับผู้ที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง มีความจำเป็นต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 3 สัปดาห์ จึงจะสามารถสังเกตอาการที่ชี้ชัดได้ว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อหรือไม่ หากไม่พบว่ามีการปรากฎ ก็ไม่จัดว่าเป็นผู้ป่วย

สำหรับแนวทางการรักษาในปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร สามารถรักษาด้วยยาต้านไวรัส 3 กลุ่ม ซึ่งถึงแม้จะยังไม่ใช่ยามาตรฐานเฉพาะสำหรับโรค แต่สามารถใช้ยารักษาฝีดาษในมนุษย์ได้ ได้แก่ Tecovirimat และ Cidofovir, Brincidofovir ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงต่อตับได้เพียงเล็กน้อย และเนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถหายได้เองในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง และอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ การใช้ยาต้านไวรัส ยังมีความจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยบางรายได้เท่านั้น ที่มีความเสี่ยงอันตรายจากโรคถึงชีวิต เช่นผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด


ในด้านการป้องกัน โดยการฉีดวัคซีน ผศ.นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนทั่วไปยังไม่มีความจำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนเหมือนกับโรคระบาดอื่น ๆ เช่นโควิด 19 เนื่องจากโอกาสในการแพร่ระบาดยังเป็นวงจำกัด จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ ได้แก่ แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์เจ้าหน้าที่พยาบาล ที่มีโอกาสสัมผัสโรคนี้ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย ซึ่งสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังจากมีความเสี่ยง” ผศ.นพ. โอภาส กล่าว

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวถึงการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม และเพื่อวางแผนแนวทางการปัองกันและรักษาว่า โรคฝีดาษลิงที่ระบาดขณะนี้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์แล้วมากถึง 40 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม และมีการกลายพันธุ์เร็วขึ้น ดังนั้นการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง หรือ MONKEY POX จะช่วยในการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และช่วยตอบคำถามว่าทำไมจึงมีการระบาดของโรคฝีดาษลิงพร้อมกันกว่า 100 รายในหลายประเทศนอกทวีปแอฟริกา(ซึ่งถือเป็นโรคประจำถิ่น) ทั้งในยุโรบ สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย

เมื่อถามว่าสถานการณ์โรคนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป หัวหน้าศูนย์จีโนม ฯ กล่าวว่า ต้องประเมินในแง่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุด จากการศึกษาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ฝีดาษลิงมีการกลายพันธุ์เร็วขึ้นเป็น 1 ตำแหน่งต่อเดือน จากเดิมเพียง 1 ตำแหน่งต่อปี ซึ่งการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น อย่างรวดเร็วเช่นนี้ ในแง่ร้ายถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอันตรายที่ต้องเตรียมรับมือ ส่วนในแง่ดี การกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วไม่เป็นผลดีต่อตัวไวรัสเอง เช่น โควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กลายพันธุ์มาก จะทำให้ไวรัสอ่อนแอลง


“ถ้ามองโลกในแง่บวก ผมมองว่า การระบาดของฝีดาษลิงจะสงบลงเองในอีก 3-4สัปดาห์ข้างหน้า และอีกมุมในแง่ร้ายสุด ซึ่งเราดูจากแผลคนติดเชื้อที่มักเกิดในร่มผ้า คล้ายซิฟิลิส มันอาจก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือเป็นศักราชใหม่ของโรคซิฟิลิส แต่ไม่ใช่ซิฟิลิสโดยตรง แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเรามีวัคซีนและยาต้านไวรัส “ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว


ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ กล่าวอีกว่าเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่จะมีคนติดเชื้อเข้ามาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่ามีการระบาดของโรคฝีดาษลิงในคนเกิดขึ้นในประเทศเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำการ PCR “สวอป” น้ำลาย ส่วนน้ำหรือหนองจากตุ่มแผล ทำการสกัดสารพันธุกรรม (nucleic acid purification) จะเป็นด่านแรก เพื่อดูว่าเป็นหรือไม่ แล้วค่อยดูสายพันธุ์ว่าเป็นแบบไหน จากแอฟริกา หรือยุโรป

ด้าน ดร. พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ หัวหน้าศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการว่า เนื่องจากโรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่มีข้อมูลและประสบการณ์ในการตรวจหาเชื้อฯ มาแล้ว และด้วยแผนปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีความพร้อม และการตอบโต้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา เป็นเสมือนการซ้อมแผนในสถานการณ์จริง ทำให้มีความพร้อมรับมือ สามารถตรวจเชื้อได้ในทันที โดยในปัจจุบันสามารถใช้วิธี RT-PCR และการถอดรหัสสารพันธุกรรม ซึ่งถือเป็นการป้องกันเชิงรุกที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการตรวจวินิฉัยเชื้อ ซึ่งจะสามารถแยกผู้ป่วยออกจากสังคมเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว ลดการแพร่ระบาดได้


สำหรับการตรวจวินิจฉัยเชื้อสามารถทำได้โดยเก็บตัวอย่างทั้งการสะกิดแผล เลือด และการสว็อบ ซึ่งผลตรวจจะออกภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนน้ำยาสำหรับตรวจ RT-PCR ต้องเป็นน้ำยาที่สามารถตรวจจับเชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดในปี 2022 นี้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่พบอาการผิดปกติต้องสงสัย สามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ข้อมูลจากการสอบสวนโรคจะถูกส่งไปยังกรมควบคุมโรค


” อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้คณะกรรมการพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์จะมีการพิจารณาระดับความรุนแรงของโรคฝีดาษลิง เพื่อการจัดลำดับอีกครั้ง จากที่จัดให้เป็นโรคมีความรุนแรงระดับ 3 ก็จะมีการประเมินจากสถานการณ์ของโรคอีกครั้ง” ดร.พิไลลักษณ์กล่าว

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/education-news/162195/