ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,354 ราย เสียชีวิตอีก 16 คน “บิ๊กตู่” ห่วงกลุ่ม 608 และผู้ไม่ฉีดวัคซีน ย้ำควรถลกแขนไปให้หมอจิ้ม “สมช.” แย้ม 8 ก.ค.เตรียมหารือเรื่องปรับเป็นโรคประจำถิ่น หลังมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาป่วน “สปสช.” แจงด่วน ยันไม่มีลอยแพผู้ป่วยแน่ ยังได้สิทธิเหมือนเดิมแม้ปรับสถานะโรค
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,354 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,350 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการและเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,154 ราย อยู่ระหว่างรักษา 24,115 ราย อาการหนัก 690 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 288 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 16 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 9 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 15 ราย มีโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,525,269 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,470,490 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,64 ราย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งรายงานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 เสียชีวิต ดังนั้นเพื่อลดการรุนแรงและเสียชีวิตจากการติดเชื้อ จึงขอให้ประชาชนทุกคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ให้รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 3 เข็มขึ้นไปให้มากขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่ม 608
พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 8 ก.ค.ว่า จะพิจารณาแผนการเดินหน้าให้โควิดเป็น Endemic หรือการเป็นโรคประจำถิ่นตามที่ สธ.และ ศบค.ตั้งเป้าไว้ว่าจะเกิดขึ้นวันที่ 1 ก.ค. แต่เนื่องจากมาตรการที่เราผ่อนคลาย รวมถึงการแพร่ระบาดทำให้ต้องปรับแผน โดยมีการพูดคุยกันมาสองสัปดาห์ ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างปรับแผนให้ชัดเจน แล้วจะเสนอให้ ศบค.พิจารณาเห็นชอบ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะประชุมคือ การประเมินสถานการณ์การผ่อนคลายที่ผ่านมา การประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังมีเชื้อตัวใหม่เข้ามา ซึ่ง สธ.ยืนยันว่ายังมีขีดความสามารถในการรองรับอัตราการครองเตียงอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก ภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 9% เราตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 25% ถ้าเกินก็ต้องยกระดับโดย สธ.มีการรองรับไว้ รวมทั้งจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 หลังวันที่ 1 ก.ค. เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในการปรับโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นว่า สปสช.อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมตามนโยบายรัฐบาลเพื่อรองรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่นเช่นกัน โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช. ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ส่วนที่เข้าใจว่าตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. สปสช.จะลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 ขอชี้แจงและยืนยันว่าไม่มีการลอยแพแต่อย่างใด ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม
“หลังจากนี้ หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด-19 สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือใช้บัตรประชาชนไปรับเพื่อตรวจยืนยันได้ทันที หากขึ้น 2 ขีด คือผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือกลุ่มสีเขียว เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเจอแจกจบของ สธ. หรือโทรศัพท์ประสานร้านขายยาตามรายชื่อที่อยู่ในเว็บไซต์ สปสช. เพื่อรับยาตามโครงการเจอแจกจบ ที่ร้านขายยาได้เช่นกัน”
นายจเด็จกล่าวว่า กรณีกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา หากแพทย์ให้การรักษาแบบใดตามดุลพินิจ สิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละท่านก็จะดูแลครอบคลุมหมด ส่วนอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์สีเหลือง-แดง ก็ใช้สิทธิยูเซปพลัสเข้ารักษา รพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในส่วนของสายด่วน สปสช.1330 หลังจากวันที่ 1 ก.ค. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องโทร.แจ้งแล้ว แต่หากสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไร ให้โทร.สอบถามขั้นตอนได้ หรือหากมีอาการแย่ลง จะต้องทำอย่างไรต่อ หรือต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาใน รพ. ก็โทร.ได้เช่นกัน
"เมื่อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ไม่ใช่ว่ารัฐจะไม่ดูแล รัฐก็ยังดูแลอยู่ภายใต้งบประมาณจากกองทุนต่างๆ ยืนยันว่าไม่ได้ลอยแพผู้ป่วย ผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงได้รับการรักษาไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม" นพ.จเด็จกล่าว
ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.ค. บอร์ด สปสช.จะประชุมหารือเพิ่มค่าใช้จ่ายหมวดโควิด-19 เดิมที่ได้รับงบประมาณที่ได้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน จะนำมาอยู่ในงบบัตรทอง ซึ่งตามหลักการจะเปลี่ยนจากการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน มาเป็นงบระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพในแต่ละระบบแทน
"โรคโควิด-19 แม้จะไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรง แต่ก็ยังเป็นโรคที่สามารถฉุกเฉินได้ เมื่อประชาชนป่วยเป็นโรคโควิด-19 เกิดหายใจไม่สะดวก มีอาการเข้าข่ายยูเซป เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต หรืออยู่ในกลุ่มอาการสีแดง ก็สามารถเข้ารักษาได้ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่ระบบสำรองเอาไว้ แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว-สีเหลือง ก็เข้ารักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอยู่” พญ.กฤติยา กล่าว.