Font Size

 

"หมอยง" ย้ำป่วยโควิดพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เพราะได้รับวัคซีนแล้ว ย้ำหากติดเชื้อซื้อยากินเองขอให้พิจารณาและปรึกษาแพทย์ให้ดี

วันนี้ (11 ก.ค.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า

โควิด 19 ชีวิตต้องเดินหน้า

ยง ภู่วรวรรณ   11 กรกฎาคม 2565

ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ติดเชื้อ โควิด 19 ที่กำลังติดเชื้ออยู่ทุกคน ถึงแม้ขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง เพราะส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับเกิน 3 เข็มขึ้นไป จะเป็น 4 เข็ม 5 เข็ม ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่อาการจะน้อยลง

ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สูงอายุ จะเป็น 608, 708, หรือ 808 นอกจากได้รับวัคซีนแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ขณะนี้ ยาต้านไวรัส สำหรับผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต จำเป็นจะต้องให้เร็วที่สุด ทันทีที่ทราบว่าติดเชื้อ หรืออย่างช้าก็ไม่เกิน 5 วัน

ยาที่ใช้ในกลุ่มเสี่ยงในการป้องกันความรุนแรงดังกล่าว เช่น Remdesivir ให้เข้าเส้นเลือด  3 วัน จะให้เป็นผู้ป่วยนอก ให้แล้วกลับมานอนบ้าน หรือผู้ป่วยในก็ได้ จะลดความรุนแรงได้มาก 

ยาไวรัสชนิดรับประทาน Paxlovid ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถใช้ได้ดี แต่จะมีปฏิกิริยากับยาอื่นหลายชนิด รับประทาน 5 วัน มีรายงานหลังรับประทานครบแล้ว มีอาการเป็นซ้ำ เมื่อรับประทานยาครบแล้วมีอาการเกิดขึ้นอีก ที่ต้องติดตาม 

ยาอีกตัวหนึ่งคือ Monulpiravia ใช้รับประทานมีอาการข้างเคียงต่ำ แต่ห้ามให้ในคนท้องและเด็กเด็ดขาด เพราะยาอาจจะไปมีผลต่อการเปลี่ยนพันธุกรรม ซึ่งยังไม่ทราบระยะยาว ขณะนี้เริ่มมีใช้แพร่หลายขึ้น และได้ทราบว่ามีการหาซื้อกันเอง หรือนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ขอให้พิจารณาและปรึกษาแพทย์ให้ดี

เด็กนักเรียน ก็ต้องเดินหน้า การติดในโรงเรียน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นขณะเรียนหนังสือ การเรียนหนังสือในชั้นเรียนมีความจำเป็น จึงไม่ควรปิดโรงเรียน โรงเรียนควรมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้ออย่างเต็มที่ 

เด็กนักเรียนมักจะติดในช่วงรับประทานอาหาร หรือเล่นด้วยกัน ก่อนเข้าเรียน หรือหลังเลิกเรียนแล้ว ก่อนกลับบ้าน มีการซื้ออาหารรับประทานกัน จุดดังกล่าวจึงเป็นการแพร่กระจายเชื้อหรือติดต่อโรค ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ การไปโรงเรียนควรรีบไปและรีบกลับ ลดการติดต่อให้น้อยที่สุด ดูแลสุขอนามัย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่าง

การทำกิจกรรมบางอย่างที่เป็นการรวมกลุ่ม เช่นการเข้าค่ายของนักเรียน ก็ควรจะงดกิจกรรมทั้งหมด เน้นเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนในชั้นเรียน ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ก็จะช่วยได้มาก

การศึกษาของเด็กนักเรียนในวัยนี้ จะมีผล เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงานที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ

 

ข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ภาพจาก TNN ONLINE

ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/118972/