แม้ประเทศไทยยังคงให้ "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เนื่องจากสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทยขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องไม่ประมาท เพื่อป้องกันตนเองให้ห่างไกลจาก "โรคฝีดาษลิง" รวมถึงสังเกตอาการตนเอง และคนรอบข้าง
หลังจากที่ พบการระบาดของ "ฝีดาษวานร" หรือ "ฝีดาษลิง" ในหลายประเทศ โดย WHO ได้ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และล่าสุด นครซานฟรานซิสโก เป็นเมืองแรกในสหรัฐ ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแล้ว แม้รัฐบาลกลางยังไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับประเทศ
ขณะที่ประเทศไทย ยังคงให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เนื่องจากสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่เข้านิยามโรคติดต่ออันตราย ซึ่งไทยพบผู้ป่วยรายแรกเป็นชายชาวไนจีเรีย ที่จ.ภูเก็ต และ วานนี้ (28 ก.ค. 65) ไทยยืนยันพบ ผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่2 จากโรงพยาบาล(รพ.) วชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติแบบรักร่วมเพศ
มีอาการสงสัยป่วย เมื่อวันที่ 12 ก.ค.65 จากนั้น 2 วัน เริ่มมีไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และ 1 สัปดาห์ต่อมา มีผื่นที่อวัยวะเพศ ลำตัว หน้า แขนขา จึงมาตรวจที่รพ. ขณะนี้รับไว้ในรพ.และติดตามผู้สัมผัสมาตรวจและเฝ้าสังเกตอาการต่อให้ครบ 21 วัน
โรคฝีดาษลิง ติดต่ออย่างไร
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ เผยว่า โรคฝีดาษลิง เกิดจากไวรัส ติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผลของผู้ป่วย แต่ถ้าใกล้ชิดมากๆ เช่น กินข้าวหรืออยู่บ้าน นอนด้วยกัน ก็อาจติดต่อทางฝอยละอองได้
การรับเชื้อไวรัสกรณีผู้ที่ไม่มีบาดแผลที่ผิวหนังเลย เชื้อจะเข้าได้จากการสัมผัสด้วยมือแล้วไม่ได้ล้างให้สะอาด เชื้ออาจก่อให้เกิดตุ่มหนองในคอ ในปากได้ หรือเข้าทางเยื่อบุตา
อย่างไรก็ตาม ไวรัสของโรคฝีดาษลิงมีเปลือกหุ้มอยู่ โดยธรรมชาติก็จะเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตายหมด แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่นั้นยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
ระยะฟักตัว 21 วัน
อัตราการแพร่เชื้อต่อของผู้ป่วย หรือ R0 ของโรคฝีดาษลิง ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ถือเป็นโรคใหม่ของยุโรปและของไทย แต่เป็นโรคที่ระบาดในแอฟริกามานานแล้ว ฉะนั้น ประเทศไทยจะมีองค์ความรู้โรคฝีดาษลิงน้อย แต่ติดตามข้อมูลอยู่ตลอด
อย่างไรก็ตาม ที่มีการระบาดออกจากแอฟริกาเพราะเชื้อมากับคน ซึ่งระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิฯ ของแต่ละคน โดยทั่วไปที่รับเชื้อมามาก ระยะฟักตัวอย่างเร็วที่สุดจะอยู่ที่ 21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น
ปลูกฝีดาษมาแล้ว ป้องกันได้หรือไม่
ภูมิฯ แต่ละคนส่งผลต่อการแสดงอาการทางคลินิก โดยภูมิฯ เกิดจากการฉีดวัคซีน คือ ในคนไทยที่อายุมากกว่า 40 ปีจะได้รับการปลูกฝีดาษแล้ว ซึ่งภูมิฯ นี้ป้องกันการติดเชื้อถึง 80% แต่ในเด็กที่มีรายงานข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ก็พบน้อยเช่นกัน แต่ถ้าคนที่ได้รับการปลูกฝีดาษแล้ว เกิดกินยากดภูมิฯ อยู่แล้วติดเชื้อ ก็อาจมีอาการรุนแรงได้ ส่วนอาการแทรกซ้อนของโรค ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โรคประจำตัว
สังเกตอาการของโรค ฝีดาษลิง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) อธิบายว่า ในภาพรวมโรคฝีดาษวานร มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง อันดับที่ 56 โดยกำหนดอาการ ดังนี้
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- ต่อมน้ำเหลือง
- บวมโต
- เจ็บคอ
- มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง
- ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ และรอบทวารหนัก แขนหรือขา
- บางตุ่มอาจเกิดขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า
ระยะโรคฝีดาษลิง
รศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช กรรมการกลาง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า อาการของโรคฝีดาษลิง แบ่งเป็น 3 ระยะ
1) ระยะฟักตัว
เป็นระยะที่ไวรัสฟักตัวในร่างกาย ไม่มีอาการ ไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่อาจถึง 3 สัปดาห์ได้หลังสัมผัสเชื้อ
2)ระยะก่อนออกผื่น
เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ เมื่อยตัว ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ทางละอองฝอยในระยะนี้
3)ระยะออกผื่น
หลังจากมีไข้ 1- 3 วัน จะพบผื่นที่ ใบหน้า ลำตัว และกระจายไป แขน ขาสามารถพบได้ที่ ฝ่ามือ มือฝ่าเท้า
ผื่นมีลักษณะเป็น ตุ่มขนาดเล็ก จากนั้นจะเปลี่ยนเป็น ตุ่มน้ำใส และ แตกออก จน ตกสะเก็ด และหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์
การป้องกันโรคฝีดาษลิง
นพ.จักรพงษ์ กล่าวว่า วิธีป้องกัน คือ ไม่ไปใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นหรือผู้มีความเสี่ยง
1) หลีกเลี่ยงการ สัมผัสใกล้ชิด กับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่มีผื่น โดยเฉพาะในช่วงการแตกของแผลและมีสารคัดหลั่งจำนวนมาก
2) ควร แยกและทำความสะอาดอุปกรณ์ ที่ใช้ร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ
3) หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับ สัตว์รังโรค ที่มีอาการ
การรักษา ฝีดาษลิง
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวถึง แนวทางการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า โรคฝีดาษลิง ถ้าเกิดการป่วยติดเชื้อโดยตัวโรคจะสามารถหายได้เอง แต่จะต้องมาดูแลพิเศษในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมีอาการรุนแรง คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรคจะใช้วิธีการรักษาตามอาการ
“การรักษา กรมการแพทย์ก็จะเน้นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ส่วนยารักษาเฉพาะมีการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มียารักษาเฉพาะในตอนนี้ และ ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง สามารถหายได้ด้วยภูมิฯ ของร่างกาย ใช้เวลาราว 4 สัปดาห์”
ป้องกันโควิด + ฝีดาษลิง
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ยังระบุอีกว่า โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่าย ดังนั้น มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้ คือ Universal Prevention ทั้งล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มมีหนอง เป็นสิ่งสำคัญ
และมีข้อน่าสังเกตอาจจะติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงควรเพิ่มการป้องกันตัวเองเหมือนการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย นอกจากนี้ ขออย่าตีตรา และลดทอนคุณค่ากลุ่มเสี่ยง
ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/1018078?anf=