“โรคฝีดาษวานร”เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ สถานะเดียวกับ “โรคโควิด 19” แต่ในเชิงของการป้องกันด้วย “วัคซีน”นั้น “ฝีดาษวานร”หรือ "ฝีดาษลิง"ยังไม่จำเป็นต้องให้ในวงกว้าง อาจพิจารณาให้เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ปัจจุบันมี 4 รุ่น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีวัคซีนฝีดาษคน(smallpox) มี 3 รูปแบบหลักที่องค์การอนามัยโลก แนะนำ คือ 1.วัคซีนรุ่น 2 ผลิตในสหรัฐอเมริกา พบอาการข้างเคียงน้อยราย แต่รุนแรง เนื่องจากเป็นเชื้อที่เพิ่มจำนวนได้ในเซลล์ของมนุษย์ ทำให้ไม่สามารถให้กับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้เป็นโรคผิวหนังประเภทโรคเรื้อนกวางได้ ข้อบ่งใช้ โดยการใช้เข็มจุ่มวัคซีนแล้วเขี่ยบริเวณต้นแขนให้เกิดแผล จากนั้นจะเกิดตุ่มภายใน 3-4 วัน และมีหนองตกสะเก็ดใน 3 สัปดาห์ เกิดเป็นรอยแผลเป็น
2.รุ่น 3 ผลิตในสหรัฐอเมริกา เป็นเชื้ออ่อนฤทธิ์ พบอาการมีข้างเคียงเล็กน้อย สามารถให้กับประชาชนได้มากกว่า ใช้ 2 โดส ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้รับอนุญาตในการป้องกัน ฝีดาษวานร(monkeypox)โดยองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2019 หากมีความจำเป็นต้องใช้กันก็อาจจะเป็นรุ่นนี้ และ3.รุ่น 4 ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น เป็นวัคซีนเชื้อเป็น เกิดจากการตัดต่อยีนสามารถใช้ป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ใช้ 1 โดส โดยเข็มจุ่มวัคซีนแล้วเขี่ยบริเวณต้นแขนให้เกิดแผล แต่ยังไม่มีการขออนุญาตในการป้องกันฝีดาษวานร
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มี “วัคซีนฝีดาษ”ที่สามารถใช้ในการป้องกัน “ฝีดาษวานร”ได้ ซึ่งผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม(อภ.)และมีการเก็บรักษาอย่างดีมากกว่า 40 ปี จำนวน 5 แสนโดสและยังสามารถนำมาใช้ได้หากมีความจำเป็น โดยเป็นวัคซีนรุ่น 1 เป็นวัคซีนเชื้อเป็นเก็บในรูปผงแห้งที่อุณหภูมิองศาเซลเชียส ผลิตจากน้ำเหลืองของสัตว์ รูปแบบการนำมาใช้โดยการหยดลงผิวหนังและใช้เข็มสะกิดผิวให้ถลอกเพื่อให้วัคนซึมผ่าน
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนฝีดาษคน (smallpox)นี้ พบว่า วัคซีนฝีดาษ จำนวน 13 รุ่นการผลิต ยังคงมีลักษณะทางกายภาพที่ดี ลักษณะเป็นผงแห้งจับตัวเป็นก้อนสีเหลืองอ่อน นำมาละลายด้วยน้ำกลั่น กลายเป็นใสสีเหลืองอ่อน มีความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วงค่า pH 7.38- 7.52 (มาตรฐานทั่วไป pH 6.0-8.0) ปริมาณสารก่อไข้ อยู่ระหว่าง 4.20- 31.1 EU/ml (มาตรฐานทั่วไป ไม่เกิน 200 EU/mI) ไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย
ผลตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ พบว่า เป็นไวรัสในกลุ่มไวรัสฝีดาษ Orthopoxvirus และวัคชีนมีค่าความแรง อยู่ระหว่าง 6.42- 6.86 LogTCIDso/ml (มาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนด ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 5.4 Log TCIDs/ml)
"วัคซีนฝีดาษจากองค์การเภสัชกรรม จำนวน 13 รุ่น ยังคงมีคุณภาพตามมาตรฐานวัคชีนไวรัสทั่วไปและยังคงมีคุณค่า หากเกิดการระบาดขึ้นในประเทศและไม่สามารถจัดหาวัคซีนฝีดาษมาใช้ได้ในสถานการณ์ที่มีการระบาดไปทั่วโลก วัคซีนฝีดาษที่มีอยู่นี้น่าจะนำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ อย่างไรก็ตามการที่จะนำมาใช้ได้ในสภาวะฉุกเฉินนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับรวมถึงวัคซีนทางเลือกที่มี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ได้รับวัคซีน" นพ.ศุภกิจ กล่าว
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงความจำเป็นของการให้วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงกับประชาชนทั่วไปว่า โรคนี้รักษาตามอาการ เหมือนจะน่ากลัวแต่ความรุนแรงของโรคไม่มากนัก ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ส่วนเรื่องวัคซีนขณะนี้ที่ผลิตมาและเตรียมจะใช้มีหลายบริษัท กรมควบคุมโรค กำลังดำเนินการสั่งจองวัคซีนเบื้องต้นไปแล้ว และยังมีวัคซีนเดิมสำหรับโรคฝีดาษที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.)เก็บไว้อยู่ในขั้นตอนที่อาจจะนำมาใช้ได้ต้องดูตามข้อบ่งชี้ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และการประเมินสถานการณ์เพื่อการนำมาใช้ต่อไป
“การให้วัคซีนดูตามความจำเป็น ซึ่งดูจากสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องให้วัคซีนในวงกว้าง แต่อาจต้องมีความจำเป็นในการฉีดให้กับกลุ่มเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่การแพทย์และสาธารณสุขที่ให้การดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด เนื่องจากวัคซีนตัวนี้มีผลข้างเคียงอยู่บ้างอาจต้องชั่งผลดีผลเสียระหว่างการฉีด และไม่ฉีด”นพ.โอภาส กล่าว
สอดรับกับแถลงการณ์ร่วมของ 5 องค์กรวิชาชีพแพทย์ได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ออกประกาศคำชี้แจงเรื่องโรคฝีดาษวานร
ระบุข้อหนึ่งว่า วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ(ฝีดาษคน) จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่เนื่องจากประเทศไทยหยุดฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษมาแล้วเกือบ 50 ปี ดังนั้นผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี น่าจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้จากการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ แต่ผู้ที่อายุน้อยกว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่มีโอกาสที่โรคนี้จะแพร่ระบาดมาถึงประเทศไทยได้น้อย จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้
ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/public_health/1018261?anf=