น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
มาใหม่อีกแล้ว !! ไวรัส BA.4.6 พบมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอีก 43 ประเทศทั่วโลก ส่อผลกระทบต่อวัคซีนใหม่เจนเนอเรชั่นที่ 2
จากสถานการณ์โควิดทั่วโลก ที่ในขณะนี้มีการระบาดไปมากกว่า 230 ประเทศและเขตการปกครอง
มีผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 588 ล้านคน เสียชีวิตมากถึง 6.4 ล้านคน คิดเป็น 1.1%
โดยสายพันธุ์หลักของไวรัสก่อโรคโควิดในขณะนี้คือ Omicron (โอมิครอน) ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มน่าเป็นห่วงกังวลหรือ VOC
Omicron มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย (Sub-variant) ไปอีกเป็นจำนวนมาก
แต่ที่โดดเด่นมากสุดในขณะนี้คือ BA.4 , BA.5 โดยความสามารถในการแพร่เชื้อสูงสุดในขณะนี้ได้แก่ BA.5 ซึ่งแพร่ได้เร็วกว่าไวรัสอู่ฮั่น 5 เท่า และแพร่ได้เร็วกว่าไวรัส Delta 3.6 เท่า
ในสหรัฐอเมริกาเองพบ BA.5 เป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วย BA.4 เช่นเดียวกับในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม มีรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ในสหรัฐอเมริกา ได้พบไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ BA.4.6
สามารถแซงไวรัสตัวอื่น ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ตามหลังเพียง BA.4/BA.5 ด้วยสัดส่วน 4.1%
ตามหลังอันดับสอง BA.4 ที่ 7% และ BA.5 ที่ 84%
พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน BA.4.6"
อย่างไรก็ตามการที่ BA.4.6 สามารถเพิ่มจาก 0% เป็น 4.1% ในเวลาอันสั้นนั้น บ่งบอกถึงความสามารถในการแพร่ระบาดที่แซงสายพันธุ์ย่อยอื่นๆขึ้นมาได้ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
โดยพบว่าใน 4 มลรัฐที่พบมากคือ ไอโอวา (Iowa) แคนซัส(Kansas) มิสซูรี(Missouri) และเนบราสกา(Nebraska) พบ BA.4.6 มากถึง 10.7%
และในรัฐที่อยู่ในเขตแอตแลนติกกลาง และรัฐทางใต้ ก็พบผู้ติดเชื้อ BA.4.6 มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
คงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ BA.4.6 จะมีความสามารถในการแพร่เร็ว ก่อโรครุนแรง ลดภูมิต้านทาน และดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด
และมีความแตกต่างของสารพันธุกรรมจาก BA ก่อนก่อนอย่างไร
เพราะในขณะนี้วัคซีนใหม่รุ่นที่ 2 หรือเจนเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯได้ผลิตสำเร็จ รอการอนุมัติจะฉีดในเดือนกันยายนนี้
ไม่ได้เตรียมไว้รับมือ BA.4.6 ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นมาหลังการวิจัยวัคซีนรุ่นที่สองสำเร็จ แต่เตรียมไว้รับมือ Omicron BA.1,.2,.5
ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมอย่างมากของ BA.4.6 ก็จะทำให้วัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 2 ที่ยังไม่ได้เริ่มฉีดให้กับประชาชนเลย มีประสิทธิผล ในการรับมือโควิดได้น้อยลงทันที
นับเป็นเรื่องที่ปวดเศียรเวียนเกล้าสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีน ให้ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของไวรัส คงต้องติดตามกันต่อไป
ข้อมูลจาก https://www.thansettakij.com/general-news/535597