สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จ่อเพิ่ม "วัคซีน TDAP" ป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นวัคซีนพื้นฐานใหม่ เพิ่มภูมิคุ้มกันถึงทารกแรกคลอด ลดป่วยรุนแรงช่วงก่อนรับวัคซีน
นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมเพิ่มวัคซีนพื้นฐานใหม่เข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่า ปัจจุบันในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะอนุกรรมการวัคซีนหลักแห่งชาติ มีการบรรจุวัคซีนพื้นฐานเข้าสู่แผนงานแล้ว 11 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG)
- วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี
- วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
- วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี
- วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
- วัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ (HIB) ซึ่งบรรจุเข้ามาในปี 2562
- วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา ซึ่งบรรจุในปี 2563
วัคซีนใหม่ที่กำลังพิจารณาเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีหลายชนิด แต่ที่คืบหน้าที่สุด คือ วัคซีน TDAP สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ในการป้องกันโรคบาดทะยัก (Tetanus) คอตีบ (Diphtheria) และไอกรน (Acellular Pertussis) เนื่องจากภูมิคุ้มกันของโรคต่างๆ เหล่านี้ซึ่งเคยได้รับในตอนเด็ก เวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง การให้ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อหวังผลเพิ่มภูมิคุ้มกัน 2 ส่วน ทั้งในหญิงตั้งครรภ์และป้องกันในเด็กทารกด้วย ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวัคซีนหลักแห่งชาติแล้ว เหลือกระบวนการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เข้าใจว่าปี 2565 ก็น่าจะเสร็จเรียบร้อย ก็จะเสนอเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
“การฉีดให้หญิงตั้งครรภ์และมีผลไปถึงทารกด้วยนั้น จะช่วยลดการป่วยของเด็กทารกใน 3 โรคนี้ก่อนที่จะเริ่มรับวัคซีนพื้นฐานตามเกณฑ์ ซึ่งจะมีช่องว่างหรือ Gap อยู่ เนื่องจากเด็กทารกจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เข็มแรกคือ 2 เดือน ตามด้วย 4 เดือน 6 เดือน เป็น 3 เข็มแรก และต่อด้วย 1 ขวบครึ่งและ 5 ขวบ ซึ่งต้องรอ 3 เข็มแรกภูมิคุ้มกันถึงจะพอป้องกันได้ แต่จากข้อมูลพบว่า บางครั้งเด็กป่วย เช่น โรคไอกรนตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อายุไม่ถึง 4 เดือน ส่วนใหญ่ติดในครอบครัว เป็นช่วงที่เด็กยังมีภูมิคุ้มกันไม่เต็มที่หรือยังขึ้นไม่ทัน เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีนหรือวัคซีนไปเพียงเข็มเดียว ก็จะป่วยก่อนแล้วไอกรนในเด็กเล็กมักรุนแรงมากด้วย ถ้าให้วัคซีน TDAP ในหญิงตั้งครรภ์จะช่วยลดในลูกได้”นพ.นครกล่าว
ส่วนความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีนเอชพีวีเพื่อฉีดย้อนหลังให้เด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ไม่ได้ฉีดไป 2 ปีจากสถานการณ์โควิด-19 นพ.นครกล่าวว่า บริษัทที่นำเข้าวัคซีนเอชพีวีก็มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก ซึ่งทางกรมควบคุมโรคและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ระหว่างการเตรียมการงบประมาณในการจัดซื้อ เพราะขณะนี้เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ
ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1020710?anf=