Font Size
 
"ลองโควิด" หมอธีระ เผยผลวิจัยคนเลือดกรุ๊ปโอเจอปัญหา Long COVID สูงมาก
 
 

ภาวะ "ลองโควิด" หมอธีระ เผย ผลวิจัยพบว่าเลือดแต่ละกรุ๊ปเจอปัญหา Long COVID ต่างกัน คนเลือดกรุ๊ปโอ มีโอกาสเป็นมากกว่าคนอื่น เพราะสาเหตุนี้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงประเด็นสถานการณ์ "โควิด" และ การเกิดภาวะ "ลองโควิด" หรืออาการคงค้างภายหลังจากที่มีการ ติดโควิด มาแล้ว โดยระบุ ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 503,050 คน ตายเพิ่ม 1,053 คน รวมแล้วติดไป 605,292,816 คน เสียชีวิตรวม 6,486,500 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.07 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.05

สถานการณ์ระบาดของ "โควิด" ในประเทศไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

 

ภาวะ "ลองโควิด" หรือ Long COVID กับกรุ๊ปเลือด

รศ.นพ. ธีระ ระบุต่อว่า Diaz-Salazar S และคณะจากประเทศสเปน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 27 สิงหาคม 2565เป็นการศึกษาแบบ case-control study ในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19  จำนวน 121 คน โดยมี 36 คนที่มีปัญหา "ลองโควิด" และอีก 85 คนที่ไม่มีปัญหา"ลองโควิด" พบว่า ผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป O จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหา Long COVID มากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าทำให้เสี่ยงมากกว่าราว 6 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่น 95% ตั้งแต่ 1.6-23 เท่า)

นอกจากนี้ยังมีจำนวนอาการผิดปกติต่างๆ มากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นอีกด้วย ทั้งนี้พบว่าผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป O จะมีค่าสารเคมีในเลือดที่บ่งถึงการเกิดกระบวนการอักเสบมากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่น  แม้การศึกษานี้มีจำนวนกลุ่มประชากรที่ศึกษาไม่มากนัก แต่ก็ให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจ และน่าติดตามว่าจะมีการศึกษาขนาดใหญ่ในอนาคตที่จะพิสูจน์ให้เห็นผลที่สอดคล้องกันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ปัญหา "ลองโควิด" Long COVID เป็นเรื่องจริงและทำให้ประเทศทั่วโลกต้องเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
WHO Webinar on "Scientific strategies from recent outbreaks to help us prepare for Pathogen X" องค์การอนามัยโลกกำลังจะจัดประชุมเพื่อพัฒนาแนวทางรับมือโรคระบาดในอนาคต ในวันจันทร์และอังคารที่จะถึงนี้ 29-30 สิงหาคม 2565 เนื้อหาการประชุมจะมีการทบทวนประสบการณ์ทั่วโลกที่ได้เรียนรู้จากการรับมือโรคระบาดหลายชนิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 
ทบทวนข้อมูลความรู้วิชาการ วิธีการจัดการโดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ คาดการณ์อนาคตว่าการระบาดทั่วโลกจะเป็นไปในลักษณะใด
รวมถึงการวางแผนรับมือการระบาด ทั้งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่คาดคิด

นอกจากนี้ยังจะมีการหารือถึงแผนการศึกษาวิจัยที่จำเป็น และระบบการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยให้ตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ใครสนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมรับฟังได้ฟรีในเว็บไซต์องค์การอนามัยโลกครับ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก

อ้างอิง
Diaz-Salazar S et al. Blood group O is associated with post-COVID-19 syndrome in outpatients with a low comorbidity index. Infectious Diseases. 27 August 2022.

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/covid-19-updated/527788?adz=