รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า การที่เรามีไขมันหน้าท้องซึ่งเป็นสิ่งที่ขจัดออกไปได้ยากมาก สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในระยะที่รุนแรงได้สูงถึง 75% และจากผลการศึกษาดังกล่าว ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยข้างต้น ก็ได้ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีห่วงยางหน้าท้อง ว่าควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
นักวิจัยชาวอิตาลีค้นพบว่า การที่เรามีห่วงยางหน้าท้อง นั้นหมายความว่าในกระเพาะอาหารของเราย่อมเต็มไปด้วยไขมันสะสมเป็นจำนวนมาก ที่เสี่ยงต่อการอาการแทรกซ้อนร้ายแรง โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักเกินกว่าปกติและป่วยโรคโควิด-19 ที่สำคัญไม่ใช่แค่การติดเชื้อของไวรัสร้าย ที่มีแนวโน้มรุนแรงและอาจทำให้คุณมีอาการป่วยแย่ลงเท่านั้น แต่คนที่สะสมไขมันห่วงยางไว้ที่หน้าท้องเป็นจำนวนมาก อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือภาวะดื้ออินซูลิน และอาจทำให้คุณเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดพ่วงมาด้วย จากภาวะน้ำหนักตัวเกิน แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้นั้นคือเรื่องของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคุณที่ทำอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่เคร่งเครียด การดื่มแอลกอฮอล์ กินขนมหวานเป็นประจำ ที่สามารถทำให้คุณมีห่วงยางหน้าท้อง
ในโอกาสนี้ มีการนำเสนอ 10 เทคนิคที่จะทำให้คุณสามารถขจัดไขมันหน้าท้องคุณออกไปได้
1.ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า แอลกอฮอล์ที่อยู่ในไวน์แดงนั้น เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดห่วงยางหน้าท้องของคุณ โดยเฉพาะคนที่ดื่มไวน์แดง 2 แก้วทุกๆ วัน จะเป็นการเพิ่มปริมาณจำนวนแคลอรีมากถึง 72,000 แคลอรีต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับไขมัน 20 ปอนด์ อีกทั้งคุณสาวๆ ที่ชอบดื่มไวน์แดงนั้น จะทำให้มีไขมันส่วนเกินสะสมไว้ที่บริเวณสะโพกและต้นขา ในขณะที่ผู้ชายมักจะสะสมไขมันส่วนเกินจากแอลกอฮอล์ไว้ที่บริเวณพุงของพวกเขานั่นเอง
2.รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าโปรตีนเป็นกุญแจสำคัญในการลดไขมันหน้าท้อง ขั้นแรกมันจะปล่อยฮอร์โมน PYY หรือฮอร์โมนที่ช่วยทำให้คุณอิ่มอาหาร และปล่อยจากผนังลำไส้และกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสัญญาณที่ช่วยให้คุณส่งข้อความไปยังสมองของคุณว่าคุณอิ่มแล้ว การให้โปรตีนที่ดีในมื้อเดียว จะช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการกินมากเกินไป และจากผลการวิจัยระบุว่า การที่คนกินโปรตีนในปริมาณที่สูง จะทำให้มีไขมันหน้าท้องน้อยลง และอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนนั้นยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กับคุณได้อีกด้วย
3.ลดระดับความเครียดของคุณ ความเครียดทำให้ร่างกายของคุณได้รับไขมัน เนื่องจากมันกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา ซึ่งจะเพิ่มความอยากอาหารของคุณ นั่นจะทำให้คุณกินเยอะมากขึ้น
4.อย่ากินอาหารที่มีน้ำตาลมาก ปริมาณแคลอรี หรือไขมันที่ได้จากกลุ่มของน้ำตาล จะแตกต่างจากอาหารกลุ่มอื่นๆ เช่น โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่หมายถึงคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อร่างกาย เช่น ข้าวกล้องที่ไม่ขัดสี ธัญพืช ขนมโฮลวีต เป็นต้น ที่สามารถควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี เนื่องจากอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาลนั้น จะทำให้ร่างกายได้รับไขมันที่ทำให้ร่างกายของคุณผิดปกติ หรือทำให้ความอยากอาหารของคุณสับสน และนั่นยังกระตุ้นให้คุณผลิตน้ำมันออกมาจากร่างกายเป็นจำนวนมาก
5.จัดการกับความไวต่ออาหาร ผู้คนมักมีความไวต่ออาหาร ที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลาหลายปี หากคุณคิดว่าคุณมีอาการแพ้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ของคุณ ซึ่งอาจแนะนำให้คุณไปพบนักโภชนาการ สำหรับความไวต่ออาหารที่พบบ่อย ได้แก่ นมและกลูเตน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้สามารถนำไปสู่การอักเสบของลำไส้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความไวหรือแพ้อาหารมากขึ้น และการต่อสู้กับอาการแพ้เหล่านี้อาจส่งผลอย่างมากต่อการที่น้ำหนักตัวของคุณลดลง รวมถึงส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของคุณเช่นกัน
6.ยกของหนัก ทุกคนรู้ดีว่าการออกกำลังกายเป็นประจำเป็นสิ่งจำเป็นในการลดน้ำหนัก แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เลือกการออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนัก จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนคนนั้นเสมอไป ที่สำคัญนั้นการเอกเซอร์ไซส์ด้วยรูปแบบการยกอุปกรณ์ลดน้ำหนัก เช่น การเล่นเวทเทรนนิ่ง จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับมวลกล้ามเนื้อของคุณ และยังช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันให้กับร่างกาย ซึ่งขณะที่ร่างกายกำลังเบิร์นไขมันนั้น ก็จะทำให้น้ำหนักตัวของคุณลดลง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการออกกำลังกายที่ดีที่สุด คือการออกด้วยท่าทางที่หลากหลายผสมผสานกัน เช่น นอกจากเล่นเวทเทรนนิ่งแล้ว ก็สามารถเต้นแอโรบิกต่อได้ทันที เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นแรง และสูบฉีดโลหิตได้ค่อนข้างดี
7.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ของการดูแลสุขภาพโดยรวม เพราะนั่นจะทำให้คุณสามารถควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี และจากการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลา 16 ปี ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืนนั้น มีแนวโน้มที่จะทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า ผู้หญิงที่นอนหลับ 7 ชั่วโมงต่อคืน
8.กินปลาที่มีไขมันชนิดดีทุกสัปดาห์ กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีอยู่ในปลา ได้รับการยกย่องว่ามีคุณสมบัติที่ดีมาก เช่นการช่วยชะลอวัย และต่อสู้กับโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมต่างๆ
9.เลี่ยงการปรุงอาหารด้วยน้ำมันชนิดต่างๆ แต่ทำอาหารด้วยน้ำมันมะพร้าว จากการศึกษาวิจัยโดยการงดการใช้เนย และน้ำมันมะกอกทำอาหาร แต่ให้ใช้น้ำมันมะพร้าวแทนนั้น พบว่าน้ำมันมะพร้าวสามารถช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกายของคุณได้ และยังช่วยลดการสะสมไขมันที่จะเพิ่มสูงขึ้น กระทั่งกลายเป็นอ้วนลงพุงได้ เนื่องจากในน้ำมันมะพร้าวจะมีกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ไม่สะสมในร่างกาย
10.กินอาหารที่มีไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ในปริมาณมากๆ การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยซึ่งละลายน้ำได้ดี เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการช่วยลดน้ำหนักเพราะไฟเบอร์จะสร้างเจลจากอาหารที่คุณกินเข้าไปในระบบทางเดินอาหารของคุณ และทำให้เส้นใยอาหารดังกล่าวได้รับการดูดซึมไปใช้งานกับร่างกาย จากการที่เจลเส้นใยอาหารไหลผ่านภายในระบบทางเดินอาหารอย่างช้าๆ และที่สำคัญไฟเบอร์ที่ได้จากเส้นใยอาหารดังกล่าวไม่เพียงช่วยลดน้ำหนัก แต่ยังทำให้คุณอิ่มนานขึ้น หมายว่าความว่าคุณจะกินอาหารน้อยลงนั่นเอง.
ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/104151
ช่วงนี้ผมคุยกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็น “ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน” เพื่อวิ่งแข่งกับการแพร่เชื้อที่ยังหนักหน่วงอยู่ในหลายจุด
ความเห็นของนายแพทย์ส่วนใหญ่ตรงกันว่า จะต้องไล่ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุด
และต้องมีปริมาณวัคซีนมากขึ้น...ยี่ห้อเพิ่มขึ้น ไม่พึ่งพิงเฉพาะที่เรามีอยู่ในขณะนี้
ชาร์จที่ผมนำมาให้ดูมาจาก Our World in Data ที่รวบรวมข้อมูลมากมายหลายเรื่อง รวมถึงประเทศไหนฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าไหร่
ณ สัปดาห์ที่แล้ว หากนับสัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสแล้ว ไทยเราอยู่อันดับที่ต่ำมากแม้เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา
จึงต้องมีการตอกย้ำหนทางเดียวที่จะต่อสู้กับโควิดได้คือ การปรับแผนการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วและกว้างขวางที่สุด
ยิ่งเมื่อมีการยืนยันว่า สายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ได้เจาะเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ก็ยิ่งต้องเร่งฝีเท้าในการฉีดวัคซีน
และต้องแสวงหาหนทางที่จะนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ที่สามารถต่อกรกับสายพันธุ์ที่คุณหมอบางคนเรียกว่าเป็น “เจ้าพ่อ” (เพราะรุนแรงและรวดเร็ว)
คุณหมอมานพ พิทักษ์ภากร แห่งศิริราชมีความเห็นในเฟซบุ๊กของท่านว่า
“มีข่าวว่า B.1.351 (South African variant) มาเยือนเมืองไทยแล้ว สายพันธุ์นี้ป้วนเปี้ยนแถวชายแดนใต้มาเป็นเดือนเนื่องจากมีการระบาดในมาเลเซีย
ขออย่าให้เข้ามาระบาดถึงใจกลางเมืองหลวงแบบ B.1.617.2 (Indian variant) นะครับ
เพราะวัคซีนที่ได้ผลกับสายพันธุ์นี้มีแค่ Pfizer (และอาจรวมถึง Moderna ด้วย) ที่ 75%, J&J ที่ 64-66% และ Novavax ที่ 60.1% (สำหรับ non-HIV)
ส่วน AstraZeneca เหลือแค่ 10.4% สำหรับ Sinovac ถ้าเทียบระดับ antibody ที่ขึ้นหลังฉีดแล้วคาดว่าคงแทบไม่ได้ผลเช่นกัน
อาจถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนนโยบาย เร่งนำเข้า Pfizer, Moderna และ J&J vaccine มาให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรครับ ถ้าปล่อยให้ B.1.351 ระบาดนี่อาจดูไม่จืดเลย
สาเหตุหลักที่ทำให้ B.1.351 ดื้อต่อวัคซีนและ antibody มาก คือการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484 บน spike protein ที่เป็น E484K คือเปลี่ยนกรดอะมิโนจาก glutamate ไปเป็น lysine มีผลทำให้ antibody จับกับ spike protein ได้ยาก นอกจากนี้การกลายพันธุ์ในตำแหน่งอื่นที่สำคัญคือ N501Y ที่เหมือนกับสายพันธุ์ UK ทำให้เชื้อจับกับตัวรับบนผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น แถมยังเจอ K417N ซึ่งทำให้เชื้อจับกับเซลล์ได้ดีขึ้นด้วย
ในปัจจุบัน B.1.351 เป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีนและ antibody ที่สุด รองลงมาคือ P.1 หรือสายพันธุ์ Brazil ซึ่งมี E484K เช่นกัน
ส่วนสายพันธุ์ India ที่ก่อนหน้านี้ระบาดคือ B.1.617.1 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันแต่เป็น E484Q ทำให้ดื้อบ้างแต่ไม่เท่ากับ B.1.351 แต่สายพันธุ์อินเดียที่ระบาดหนักในขณะนี้ และเพิ่งพบในบ้านเราคือ B.1.617.2 ไม่พบ E484Q ซึ่งคาดว่าสายพันธุ์นี้ไม่น่าจะดื้อต่อวัคซีน”
คุณหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แห่งคณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย บอกว่า
“สายพันธุ์ที่ทั่วโลกมีการจับตาอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกาใต้
พบว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้น เป็นสายพันธุ์ 'เจ้าพ่อเบอร์ 1'
สายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดในไทยตอนนี้นับว่า 'เด็กอนุบาล'
เพราะสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้นมีความสามารถในการแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการรุนแรง และผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าสายพันธุ์ดังกล่าวดื้อต่อวัคซีนแทบทุกชนิด
แต่ในเมื่อเราขณะนี้เรามีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และ วัคซีนซิโนแวค ก็ขอให้รัฐบาลเร่งปูพรมฉีดในประชากรอย่างรวดเร็ว ใครพร้อมขอให้ฉีดได้เลย”
มาถึงจุดนี้ไทยเราเข้าสู่ช่วง “ศัตรูประชิดติดตัว” แล้ว จำเป็นต้องทบทวนทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีโดยพลัน เพราะเราแพ้สงครามครั้งนี้ไม่ได้เป็นอันขาด.
ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/104152
วันนี้ (25 พ.ค.) นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ เป็นหัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ข้องใจเกี่ยวกับวัคซีนของ "บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)" หลังพบว่ามีเทคโนโลยีสร้างภูมิต้านทานไวรัสโควิด-19 คล้ายของ "จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน" และ "สปุตนิก" โดยหมอมนูญได้ระบุข้อความว่า
"ผมตั้งคำถามบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ว่าทำไมไม่ปรับลดโดสการฉีดวัคซีนให้เหลือเข็มเดียวสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาในภาวะที่มีวัคซีนไม่เพียงพอ
วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าใช้เทคโนโลยีอะดีโนไวรัส (Adenovirus) เป็นพาหะนำรหัสพันธุกรรม (DNA) ของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อโปรตีนส่วนที่เป็นหนามของเชื้อไวรัส เหมือนกับเทคโนโลยีวัคซีนของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) สหรัฐอเมริกา วัคซีนสปุตนิก (Sputnik) ของประเทศรัสเซีย และวัคซีนแคนซิโน (Cansino) ของประเทศจีน ที่ให้โดสเข็มเดียวจบ ไม่ต้องให้เข็มสองดังที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้ากำหนดไว้
ข้อแตกต่างของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าคือใช้อะดีโนไวรัสของลิงชิมแปนซีแทนที่จะใช้อะดีโนไวรัสของคนเหมือนบริษัทอื่น
ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหลังฉีดเข็มแรกดีพอๆ กับวัคซีนของบริษัทอื่นที่ให้ฉีดเพียงเข็มเดียว มีการศึกษาในคนไทยพบภูมิคุ้มกันขึ้นสูงมากหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าโดสแรก 4 สัปดาห์ วัคซีนสปุตนิกของรัสเซียเดิมให้ 2 เข็ม ต่อมาปรับลดลงเหลือ 1 เข็มเพื่อจะได้ฉีดให้คนมากขึ้น เป็นความคิดที่ถูกต้องสำหรับประเทศที่ขาดแคลนวัคซีน ล่าสุดวัคซีนแคนซิโนของจีนประกาศให้เข็มเดียวพอ
เหตุผลที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้เข็ม 2 เพื่อกระตุ้นให้มีภูมิคุ้มกันนานขึ้น แต่ในภาวะที่มีไวรัสกลายพันธุ์หลายชนิดที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก อย่างไรเราต้องให้เข็มถัดไปที่เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่ทั้งกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และสามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และบราซิลในต้นปีหน้า
ประโยชน์ของการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียวทำให้มีวัคซีนมากขึ้นสามารถฉีดจำนวนคนได้มากขึ้นเท่าตัว เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร็วขึ้น ถึงเวลาแล้วที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าน่าจะปรับคำแนะนำให้ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาลดเหลือ 1 เข็ม เหมือนวัคซีนทุกบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน"
จากวิกฤติการระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบที่ 3 ส่งผลให้ภาครัฐบาลต้องขอความร่วมมือให้งดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท ทั้งการสั่งปิดสถานบันเทิง และออกคำสั่งให้งดรับประทานอาหารในร้าน รวมถึงการขอให้ประชาชนอยู่บ้าน งดกิจกรรมเสี่ยงนอกบ้านที่ไม่จำเป็นทั้งนี้จากกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลากหลายธุรกิจที่จำเป็นต้องหยุดกิจการ ซึ่งก็มีทั้งการพักชั่วคราว หรือบางกิจการก็มีการเลิกกิจการไปเลย เรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนทำงานที่อาจจะต้องสูญเสียรายได้ หรือบางคนก็คือสูญเสียงานไปเลย
โดยตลอดระยะเวลาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่พอจะช่วยได้ เพื่อประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ โดยหนึ่งในมาตรการที่สำคัญคือ การช่วยเหลือประชาชนที่ว่างงานหรือออกจากงาน ซึ่งสามารถขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม
จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมพบว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 มีจำนวนทั้งสิ้น 11,124,209 ราย และมีการถูกเลิกจ้างหรือลาออกจำนวนถึง 1,212,307 คน รวมกับกรณีที่ต้องหยุดทำงานแบบสุดวิสัยจากกรณีล็อกดาวน์และการระบาดของเชื้อโควิด-19 จำนวน 945,587 คน รวมในปี 2563 ปีเดียวมีผู้ประกันตนได้สูญเสียรายได้และว่างงานรวมทั้งสิ้น 2,157,894 ราย
แต่อย่างไรก็ดี ในกลุ่มผู้ประกันดังกล่าวหลังจากสถานการณ์การระบาดในรอบแรก รอบสองคลี่คลายลง ก็สามารถกลับเข้ามาทำงานตามระบบปกติไปได้ ส่งผลให้จำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 จนถึงเดือนล่าสุด เม.ย.64 ก็ยังมีสูงถึง 11,051,132 ราย เมื่อเทียบกับช่วง ธ.ค.63 ก็พบว่ามีตัวเลขของผู้ประกันตนที่หายไปจริงๆ 7.3 หมื่นคนเท่านั้น นับว่าจำนวนคนว่างงานในระบบก็ยังไม่สูงมากนัก
สำหรับการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งก็นับตั้งแต่รอบที่ 2 และรอบที่ 3 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้ประกันตนที่ต้องออกจากงาน ทั้งจากการลาออกปกติและการหยุดงานจากเหตุสุดวิสัย นับตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.2564 พบว่า มีรวมทั้งสิ้น 390,899 ราย แบ่งเป็นการลาออก และออกจากงานปกติ 323394 ราย และออกจากงานแบบสุดวิสัย 67,505 ราย
นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันในสังคมได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ว่างงานอย่างเต็มที่จากการระบาดของโควิด-19 และเป็นเหตุให้ธุรกิจถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว หรือกรณีต้องทำการกักตัว สำนักงานจะให้ผู้ประกันตนเบิกเงินทดแทนว่างงานในอัตรา 50% ของเงินเดือน (นับที่ 15,000 บาท) เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือกรณีที่ธุรกิจห้างร้านไม่ได้ปิด แต่ต้องถูกบังคับให้กักตัวเพราะใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และทำให้สูญเสียรายได้ ก็สามารถมาเบิกเงินกับประกันสังคมได้ แต่กรณีนี้จะต้องมีหนังสือรับรองจากแพทย์หรือเอกสารจากกระทรวงสาธารณสุขประกอบ
พร้อมกันนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สำนักงานประกันสังคมก็มีมาตรการดูแลผู้ประกันตนหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกเลิกจ้าง ทางประกันสังคมก็มีการขยายวงเงินในการจ่ายชดเชย จากเดิม 50% ก็เพิ่มให้เป็น 70% เดิมไม่เกิน 180 วัน ก็เพิ่มให้เป็น 200 วัน ซึ่งกรณีนี้จะช่วยถึง ก.พ.ปี 2565 หรือ 2 ปีนับตั้งแต่ปี 63 กรณีลาออก เดิมได้ 30% ก็เพิ่มให้เป็น 45% และได้ระยะเวลา 90 วัน (จากฐานค่าจ้าง 15,000 บาท)
“นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด สำนักงานประกันสังคมมีการจ่ายเงินในกรณีชดเชยการว่างงานสำหรับปี 2563 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 44,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ชดเชยการตกงาน-ลาออกตามปกติ 29,000 ล้านบาท และกรณีชดเชยการตกงานแบบสุดวิสัย 15,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 ยังไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการ เท่าที่ทราบมีการจ่ายชดเชยไป 700 ล้านบาท”
เอกชนปรับตัวรับการระบาด
นางสาวสุฐิตา โชติจุฬางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ และเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท เพราะเนื่องด้วยธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาศัยคู่ค้าชาวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและในไทยเองเป็นหลัก ดังนั้นความตั้งใจในปัจจุบันคือ ต้องช่วยกันประคับประคองทั้งบริษัท ผู้เช่า คู่ค้า และพนักงาน ให้สามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรควิกฤตินี้ไปด้วยกันให้ได้ สำหรับแผนการปรับลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายนั้นทางบริษัทไม่มีนโยบายดังกล่าว แต่ใช้แผนการบริหารด้านค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม ณ ช่วงเวลาและสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้
ทั้งนี้ บริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากพนักงานถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและเติบโตขององค์กรอย่างที่สุด อย่างไรก็ตามเราใช้วิธีบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เช่น การลดจำนวนการจ้างบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานในบริษัทลง และเน้นในเรื่องการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานในแต่ละสายงานของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของบริษัทให้ lean มากที่สุด อีกทั้งอะไรที่สามารถ save ได้ก็ต้องขอความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกๆ ฝ่ายให้ช่วยกัน เช่น การบริหารค่าใช้จ่ายในด้านการจ่าย Overtime (OT) เป็นต้น
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทางเดอะมอลล์ กรุ๊ป ไม่มีการลดพนักงาน แต่ก็มีการโยกย้าย (reallocate) พนักงานบางส่วน แบ่งไปทำใน 2 ส่วน คือ 1.ช่องทางออมนิแชนเนล เช่น Chat & Shop เพื่อเป็นการ support ลูกค้าที่ไม่สะดวกมาเดินห้างในช่วงนี้ ลูกค้าก็จะหันมาซื้อสินค้าในช่องทางดังกล่าวเยอะขึ้น และ 2.เป็นที่ทราบกันว่า ทางเดอะมอลล์ได้รับเลือกเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ช่วงนี้ไม่ได้มีลูกค้ามาจองจัดงานอีเวนต์ จึงเปิดห้อง MCC Hall ให้ กทม.เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน และให้พนักงานบางส่วนมาทำหน้าที่อาสาสมัครให้บริการแก่ประชาชนที่เข้ามารับบริการ
นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ได้มีมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าเช่า โดยลดภาระค่าเช่าให้กับร้านค้าทุกศูนย์การค้าในเครือเฉลี่ย 30-70% ตามประเภทกิจการ และกรณีมีเหตุจำเป็นต้องปิดร้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 บริษัทไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าปรับ และมีมาตรการเชิงรุกทำความสะอาดครั้งใหญ่ทุกครั้งที่พบไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมเข้าไปดูแล การกลับมาเปิดร้านอีกครั้งจะต้องดำเนินการภายใต้ทีมพนักงานชุดใหม่ทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุดของผู้มาใช้บริการและร้านค้าอื่นๆ ภายในศูนย์ฯ
กระทบการจ้างงานบางอุตสาหกรรม
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดนั้น มีการจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคอุตสาหกรรมเองก็มีการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งออกนั้นจะมีปัญหาเรื่องนี้มากกว่า ส่วนกลุ่มที่เป็นภาคอุตสาหกรรมและเกี่ยวข้องกับการส่งออกด้วยนั้น ได้รับผลกระทบน้อยลงมาเนื่องจากยังมียอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ตลอด แม้จะน้อยลงแต่ก็ยังไม่กระทบกับกลุ่มแรงงาน ซึ่งสรุปได้ว่าปัญหาเรื่องแรงงานที่เกิดขึ้นปัจจุบันนี้อยู่ที่ประเภทของงานโดยตรง เพราะบางอุตสาหกรรมก็ยังดี แต่บางอุตสาหกรรมก็แย่ ซึ่งแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือเรื่องของการแก้ปัญหาโควิดก่อน เพื่อที่จะส่งเสริมมายังผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นภาคบริการหรืออุตสาหกรรมให้ดีขึ้น ให้สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติไม่กระทบต่อการจ้างงาน
ขณะที่ มาตรการรัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้น่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่มองตอนนี้คือเรื่องของประกันสังคม ก่อนหน้านี้ทาง ส.อ.ท.เคยเสนอแนวทางเพื่อเป็นการช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้ประกันตน โดยเสนอให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน เนื่องจากการขาดสภาพคล่องของธุรกิจ และเสนอให้มีการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ส่วนของนายจ้างจาก 3% เหลือ 1% ของค่าจ้างผู้ประกันตน จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น งานก่อสร้างขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมติดตามกำกับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข จัดทำแผนการตรวจสอบเชิงรุก โดยประสานกรมควบคุมโรคจัดทำแผนรับการฉีดวัคซีน และดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนมิถุนายน 2564 เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรฐานสาธารณสุข และตรวจเชิงรุกบุคลากรในสังกัด
“ได้มีข้อสั่งการในเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้หน่วยงานในสังกัดตระหนักถึงความปลอดภัยของบุคลากร รวมถึงประชาชนที่มาติดต่อประสานงานหรือใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และให้ทุกหน่วยงงานปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด” นายศักดิ์สยามกล่าว
เศรษฐกิจทรุดหนัก
การระบาดของ “โควิด-19 ระลอกที่ 3” ถือว่ารุนแรงกว่าการระบาดในระลอกก่อนๆ อย่างชัดเจน จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน อัตราการแพร่เชื้อที่สูงขึ้น จำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าการระบาดในระลอกดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับการระบาดในช่วงอื่นๆ โดยเฉพาะการระบาดในระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 เพราะมาตรการรัฐที่ยังไม่เข้มงวดเท่า ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนยังสามารถดำเนินไปได้
อย่างไรก็ดี “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” คาดว่าการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 นี้จะมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ อยู่ที่ 1.4-1.7% ต่อจีดีพี ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสถานการณ์การระบาด ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศอยู่ที่ 1.2% ต่อจีดีพี ขณะที่การระบาดในระลอกแรกมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศสูงสุดที่ระดับ 2.2% ต่อจีดีพี ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุ
ขณะที่ “ธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์)” ได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า จากความรุนแรงของผลกระทบในการระบาดของโควิด-19 จะทำให้มีคนไทย “ยากจน” เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.5 ล้านคน โดยผลกระทบต่อแรงงานจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2563 ทำให้งานหายไปกว่า 3.4 แสนตำแหน่ง ชั่วโมงการทำงานลดลง 2-3 ชั่วโมง การว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นถึง 9% ขณะที่ค่าจ้างลดลง 1.6% ส่วนไตรมาส 3/2563 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 4/2563 นั้น แม้ว่าสถานการณ์แรงงานจะเริ่มดีขึ้น และทำให้จำนวนงานเพิ่มขึ้น 8.5 แสนตำแหน่ง แต่ก็ยังมีจุดอ่อน คือ “ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างในภาคการเกษตรที่ยังต่ำกว่าในปีก่อนหน้า”
นักศึกษาจบใหม่ว่างงานสูง
และล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกมาให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤติโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ปี 2563 พบว่า ประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน จึงทำให้ลดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพหรือทักษะในการประกอบอาชีพจากการไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน 14% หรือกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคน "ว่างงาน” 17.9% หรือกว่า 6 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานทั้งในและนอกระบบส่วนมากยังไม่มีแผนการออม ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ด้วยสถานะของแรงงานในระบบทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลายเป็นบุคคลที่มีทักษะเชิงเดี่ยว ไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง.
ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/103972
19 พ.ค.2564 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด 19 วัคซีน ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 จำเป็นที่จะต้องให้วัคซีนหรือไม่” มีเนื้อหาว่า ในปัจจุบันทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคโควิด 19 เมื่อหายแล้วสามารถเป็นกลับซ้ำได้อีก ส่วนใหญ่จะเป็นหลัง 3 เดือนไปแล้ว ผู้ที่เป็น covid19 แล้วจึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน หลัง 3 เดือนไปแล้ว
จากการศึกษาเบื้องต้นที่ลงพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine พบว่าการให้วัคซีนในผู้ที่หายป่วยจาก covid-19 แล้ว การให้เพียงครั้งเดียวจะมีระดับภูมิต้านทานกระตุ้นได้สูงเท่ากับคนธรรมดาที่ไม่เคยป่วยและให้วัคซีนครบ 2 ครั้ง
ผู้ที่หายป่วย ควรได้รับวัคซีนหลังจาก 3 เดือนนับจากการติดเชื้อ ส่วนจะให้ 1 ครั้งหรือ 2 ครั้ง ยังไม่ได้สรุปออกมาชัดเจน
แต่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าภูมิต้านทาน ของผู้ที่หายป่วยแล้วจะเริ่มลดลงหลัง 6 เดือนและลดลงไปเรื่อยๆ ทางศูนย์ที่ดูแลอยู่ ขณะนี้ทำการศึกษาในผู้ที่หายป่วยในช่วง 3-6 เดือนจะให้วัคซีนกระตุ้น 1 ครั้ง และผู้ที่หายป่วยเกินกว่า 6 เดือนหรือเป็นปีแล้วจะให้วัคซีนให้ครบ 2 ครั้ง และกำลังตรวจผลภูมิต้านทาน รวมทั้งระบบหน่วยความจำ ของภูมิต้านทานอย่างละเอียด เพื่อจะได้ใช้เป็นคำแนะนำ ขณะนี้โครงการได้เริ่มแล้วดำเนินไปได้ด้วยดี และอยากเชิญชวนคนที่หายป่วยในระลอกที่ 3 นี้ เข้าร่วมโครงการได้รับวัคซีนด้วย โทร 02 256 4929
ดังนั้นอยากจะสรุปว่า ผู้ที่หายป่วยแล้วควรได้รับวัคซีนป้องกัน covid อย่างน้อย 1 ครั้ง หรือขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่หายป่วยมาแล้ว ถ้าเพิ่งหายป่วยในช่วง 3-6 เดือน ควรได้รับอย่างน้อย 1 ครั้ง และผู้ที่หายมาแล้วเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป ก็ควรจะได้รับวัคซีนให้ครบ 2 ครั้ง ทั้งนี้เพราะประเทศของเรามีวัคซีนในปริมาณที่จำกัด และมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่มีการติดเชื้อใน รอบที่ 3 และกำลังจะหายป่วย #หมอยง
คุณหมอธนรักษ์ ผลิพัฒน์ หรือที่นักข่าวรู้จักดีในชื่อ “หมอแก้ว” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นหนึ่งใน “นักรบเสื้อขาว” ในแนวหน้าของการทำสงครามกับโควิด-19 ขณะนี้
ผมอ่านข้อความของคุณหมอเป็นประจำ มีข้อมูลและความคิดเห็นที่น่าสนใจเสมอ
ประเด็นเรื่องคนไทยจำนวนหนึ่งยังมีความลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ เป็นหัวข้อที่สำคัญ
วันก่อนผมอ่านพบที่คุณหมอแก้วได้ตอบข้อสงสัยที่รวบรวมมาจากคนไทยหลายฝ่าย
ผมขอนำเอาบางตอนมาเล่าให้ฟังครับ
ถาม: คุณหมอฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง ฉีดวัคซีนอะไร มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
หมอแก้ว: ผมฉีดแล้วครับ ฉีดครบ ๒ เข็มแล้ว ฉีดวัคซีนซิโนแวค ฉีดทั้ง ๒ เข็มก็ไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรครับ ฉีดเช้า บ่ายก็ไปทำงานต่อได้ วันรุ่งขึ้นก็ไม่มีอะไร สามารถทำงานได้ตามปกติครับ
ถาม: คุณหมอมั่นใจวัคซีนซิโนแวคหรือคะ
หมอแก้ว: มั่นใจครับ ส่วนตัวผมคิดอย่างนี้ครับ
ประการแรก วัคซีนของซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่เราคุ้นเคย เป็นวัคซีนเชื้อตาย เทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่เราใช้มาหลายปีแล้ว ปัญหาค่อนข้างน้อย
ที่ผ่านมาพบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ค่อนข้างน้อย อาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงยิ่งพบได้น้อยมากๆ
ถ้านับถึงวันนี้ ประเทศไทยเราได้วัคซีนซิโนแวคไปแล้วกว่า 1 ล้าน 3 แสนโดส (ตัวเลขเมื่อสัปดาห์ก่อน) ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีนเลย อาการแพ้เกิดขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ส่วนที่แพ้รุนแรงก็ตรวจพบได้เร็วและสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลจากประเทศชิลี ซึ่งมีการใช้วัคซีนทั้งซิโนแวคและไฟเซอร์ พบว่า
- วัคซีนทั้ง ๒ ชนิดก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ แต่พบไม่บ่อย
- ซิโนแวคก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงน้อยกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ โดย
- วัคซีนซิโนแวคมีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง 2.7 ต่อประชากรแสนคนที่ได้รับวัคซีน
- ในขณะที่ไฟเซอร์มีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง 10.3 ต่อประชากรแสนคนที่ได้รับวัคซีน
ประการที่ ๒ วัคซีนมีประสิทธิผลป้องกันโรคได้
จากข้อมูลที่ซิโนแวคยื่นให้กับองค์การอนามัยโลก
วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการประมาณ 50% ถึง 84% และ
สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ประมาณร้อยละ 85% ถึง 100% ขึ้นอยู่กับว่าทำการวิจัยที่ประเทศใด
ถาม: แล้วทำไมการวิจัยวัคซีนที่ทำการวิจัยในประเทศต่างๆ จึงมีค่าประสิทธิผลที่แตกต่างกัน
หมอแก้ว: ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ เช่น ความชุกของการติดเชื้อในขณะนั้น ความรวดเร็วของการระบาด ลักษณะประชากรที่นำมาใช้ในการทำวิจัย และที่สำคัญมากๆ คือ แต่ละการวิจัยใช้วิธีการนับผู้ป่วยไม่เหมือนกัน บางการศึกษานับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง บางการศึกษาวิจัยนับผู้ป่วยที่อาการค่อนข้างเบา บางการศึกษารวมผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเข้าไปด้วย
นอกจากนี้ สายพันธุ์ของเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่ขณะนั้นก็มีผลต่อค่าประสิทธิผลของวัคซีนด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดล้วนทำให้ค่าประสิทธิผลของวัคซีนที่ได้แตกต่างกัน ทำให้เราไม่สามารถจะเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนที่ทำการศึกษาในบริบทที่แตกต่างกันได้
ขนาดตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนชนิดเดียวกัน ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ยังให้ผลที่แตกต่างกันได้เลย
วัคซีนซิโนแวคที่รายงานผลการวิจัยว่ามีประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ ประมาณร้อยละ 50 เป็นการศึกษาวิจัยที่ประเทศบราซิลซึ่งเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่เป็นเชื้อสายพันธุ์บราซิล
ในขณะที่การวิจัยในประเทศชิลี ซึ่งรายงานประสิทธิผลของวัคซีนที่ร้อยละ 60 เป็นการทำการวิจัยในขณะที่เชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนั้นเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์บราซิล
เมื่อเห็นผลการวิจัยจากหลายๆ ที่ ดูข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก็ค่อนข้างโอเคครับว่าวัคซีนซิโนแวคมีอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงค่อนข้างต่ำ
และมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ และการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้ในระดับที่น่าพอใจ
ทั้งยังน่าจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์บราซิลได้ระดับหนึ่งด้วย
ถาม: พอเข้าใจแล้วว่า เราไม่ควรนำตัวเลขผลการวิจัยจากรายงานที่ทำการวิจัยแยกกันมาเปรียบเทียบกัน ถ้าอย่างนั้นตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนของไฟเซอร์ที่สูงมากถึง 95% ก็ไม่ได้แปลว่าไฟเซอร์ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่นหรือเปล่าคะ
หมอแก้ว: การจะตอบว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหนจริงๆ สามารถทำได้ ถ้าเราสามารถนำวัคซีน ๒ ชนิดมาทำการวิจัยเชิงทดลองเปรียบเทียบกันแบบตัวต่อตัวในงานวิจัยชิ้นเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรเดียวกัน ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่เหมือนกัน และมีสภาพแวดล้อมอื่นเหมือนกัน
ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการทำงานวิจัยแบบนี้ออกมา ทำให้การเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีน ๒ ชนิด ทำได้ยากมาก
ขอยกตัวอย่างแล้วกันครับ เช่น
ถ้าเราดูตัวเลขประสิทธิผลของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าที่ต่างคนต่างทำวิจัย จะพบว่าไฟเซอร์รายงานประสิทธิผลของตัวเองอยู่ที่ 95% และแอสตร้าเซนเนก้ารายงานประสิทธิผลวัคซีนของตัวเองอยู่ที่ 62-90% โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 70% ถ้าดูอย่างนี้บางคนก็อาจจะสรุปว่าไฟเซอร์ดีกว่าแอสตร้าเซนเนก้า
ต่อมา มีรายงานผลงานวิจัยเชิงสังเกตชิ้นหนึ่งออกมา โดยทำการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนทั้งไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าในประชากรเดียวกัน
และเขาก็รายงานเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนทั้ง ๒ ชนิดหลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไป 28-34 วัน พบว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิผลสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 85% ในขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผลสามารถป้องกันโรคได้ 94%
อย่างนี้ก็อาจจะพอพูดได้ว่าวัคซีนทั้ง ๒ ชนิดนี้เมื่อนำมาใช้จริงในภาคสนามในประชากรเดียวกันก็พบว่ามีประสิทธิผลพอๆ กัน ดูแอสตร้าเซนเนก้าจะมีภาษีเหนือกว่าไฟเซอร์เล็กน้อยด้วยซ้ำไป
ในขณะที่งานวิจัยเชิงสังเกตอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเก็บข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนในภาคสนาม เมื่อนำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนของไฟเซอร์มาใช้งานจริง ก็รายงานผลออกมาว่าวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์มีประสิทธิผลประมาณ 65-70% และวัคซีนทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิผลในภาคสนามไม่แตกต่างกัน
ตรงนี้ผมแค่อยากจะบอกว่า การพยายามเปรียบเทียบคุณภาพของวัคซีนแบบแยกกันดู แล้วพยายามมาบอกว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหน จริงๆ แล้วไม่สามารถทำได้ และสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้มาก
ในปัจจุบันที่มีกระแสความคิดที่ว่าวัคซีนไฟเซอร์ดีที่สุด ก็น่าจะมาจากความเข้าใจผิดแบบนี้
ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นยังไงเราก็ยังไม่รู้แน่ชัด เรายังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่นหนักว่ามันเช่นนั้นจริงๆ เลย
งานวิจัยที่ผมยกตัวอย่างมาเพื่อแสดงว่าประสิทธิผลของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ก็เป็นเพียงข้อมูลชุดแรกๆ ที่เพิ่งออกมา เราคงต้องติดตามดูข้อมูลเหล่านี้กันต่อไป
ครับ
อิทธิฤทธิ์ของ "วัคซีนโควิด" แต่ละตัวถูกนำมาประกวดกันราวเลือกนางสาวจักรวาลและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ที่น่าตื่นเต้นก็คือญี่ปุ่นกำลังคิดจะใช้ ส้วม เป็น เครื่องมือทางการทูต (Toilet Diplomacy) อีกทางหนึ่งด้วย
แต่ละวันเราได้รับข้อมูลด้านบวกและลบของ วัคซีนโควิด-19 แต่ละตัวอย่างไม่รู้จะเชื่อใครดี และก็ไม่ควรจะเชื่อง่าย ๆ ด้วยเพราะมันได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งระหว่างประเทศและในประเทศไปแล้ว ข้อมูลมีทั้งของจริง ตั้งใจลวง เกินเลยความจริง บิดเบือน เท็จล้วนๆ ฯลฯ ของวัคซีนเต็มไปหมดในโลกไซเบอร์อย่างมีวัตถุประสงค์ดีและชั่วร้ายแอบแฝงอยู่
สหรัฐ ที่ขัดแย้งกับจีนและรัสเซียไม่พูดถึงและไม่ยอมรับ Sinovac (เอกชนจีนเป็นเจ้าของ) Sinopharm (เอกชนจีนกับรัฐวิสาหกิจร่วมงานกัน) และ Gamaleya (สถาบันวิจัยของรัฐของรัสเซียผลิตวัคซีน ชื่อ Suptnik V)
แต่สหรัฐเชียร์ Pfizer (เอกชนสหรัฐร่วมมือกับเอกชนเยอรมัน) Johnson and Johnson ซึ่งเป็นของบริษัทเอกชนสหรัฐ และ Moderna (บริษัทเอกชนสหรัฐร่วมกับสถาบันของรัฐสองแห่ง)
ส่วน อังกฤษ ก็เชียร์ Astra Zeneca (เอกชนอังกฤษร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Oxford) ยุโรปก็เฉย ๆ กับวัคซีนจีน และจีนก็เช่นเดียวกันกับวัคซีนตัวอื่น ๆ ด้วย
จีน เป็นผู้ใช้ Vaccine Diplomacy (การทูตวัคซีน) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่งประเทศที่แข็งขันที่สุด ทำก่อนใครเพื่อนและกว้างขวางด้วย จีนช่วย 97 ประเทศทั่วโลก (ทั้งโลกมี 195 ประเทศ ปัจจุบันเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้วใน 181 ประเทศ) โดยมอบให้ฟรี 69 ประเทศ และขายในราคามิตรภาพ 28 ประเทศ นับถึงปลายมีนาคม 2021 จีนส่งออกนอกประเทศไปแล้วกว่า 100 ล้านโดส และมีแผนอีกนับพันล้านโดส
ถึงแม้ในปัจจุบันจีนจะมีปัญหาบ้างในการผลิต แต่เชื่อว่าในเวลาไม่นานก็คงแก้ไขได้ เพราะเพียง Sinovac ก็สามารถผลิตได้ 2 พันล้านโดสต่อปี
อินเดีย ก็มีแผนการเดียวกัน ก่อนหน้าระบาดรอบสองที่รุนแรง อินเดียส่งออกให้ 84 ประเทศไปแล้วกว่า 55 ล้านโดส รัสเซีย ก็มีแผนส่งให้ 20 ประเทศ
สหรัฐ หลังจากหลงใหลคำขวัญ "America First" อยู่พักใหญ่ ก็เริ่มขยับให้การสนับสนุน WHO มากขึ้น และมีแผนการมอบ 2 พันล้านโดสให้ประเทศกำลังพัฒนา
กลุ่มใหม่ที่เรียกว่า QUAD คือ อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐ และออสเตรเลียนั้นมีแผนการจะมอบ 1 พันล้านโดสให้กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อไป (ขณะนี้จีนได้มอบให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านโดส)
คราวนี้กลับมาเรื่อง Toilet Diplomacy (การทูตส้วม) ถึงแม้คำว่าส้วมจะฟังแล้วสะดุดหู แต่ดีกว่าใช้ “ห้องน้ำ” เพราะอาจเข้าใจผิดได้เรื่องมีการอาบน้ำด้วย ว่ากันตรง ๆ เป็น “ส้วม” สำหรับถ่ายเบาและหนักให้เห็นภาพชัด ๆ เลย เรื่องนี้เริ่มจาก Nippon Foundation ร่วมมือกับเขต Shibuya ในโตเกียว สร้างโครงการ “The Tokyo Toilet” กล่าวคือสร้างส้วมสาธารณะใหม่ 17 ห้องที่พิเศษล้ำสมัยเพื่อแก้ปัญหาของการใช้ส้วมสาธารณะคือความสะอาดและการรู้ว่าห้องว่างหรือไม่
ส้วมอัศจรรย์นี้ ยามที่คนผ่านไปมาจะเห็นไฟสว่างชัดเจนเข้าไปถึงในห้องส้วมว่า มีว่างกี่ห้อง ห้องไม่ว่างก็จะทึบแสงมองเข้าไปและมองออกมาไม่เห็น (เมื่อมีผู้ใช้ห้องน้ำ ทันทีที่ปิดประตู กระจกที่เห็นโปร่งใสนั้นก็จะทึบแสงขึ้นทันที)
โตเกียวโอลิมปิก 2021 จะเป็นโอกาสของการส่งออกวัฒนธรรมความสะอาดของญี่ปุ่นที่ถูกจุดประกายขึ้นโดยโครงการนี้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการทูตแนวใหม่ที่น่าสนใจ
การออกแบบทำกันละเอียดละออมากเพราะต้องการแสดงให้เห็นความล้ำหน้าของเทคโนโลยีญี่ปุ่นและค่านิยมความสะอาดของคนญี่ปุ่นแก่ชาวโลก ปัจจุบันทำเสร็จไปแล้ว 7 ห้อง ที่เหลืออยู่จะเสร็จในต้นปี 2022 ในปลายเดือนกรกฎาคม 2021 โตเกียวโอลิมปิก 2021 (เลื่อนมาหนึ่งปีและจะจัดแปลกที่สุดในโลกคือวางแผนว่าไม่ให้มีคนดู) จะเป็นโอกาสของการส่งออกวัฒนธรรมความสะอาดของญี่ปุ่นที่ถูกจุดประกายขึ้นโดยโครงการนี้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการทูตแนวใหม่ที่น่าสนใจ
เรื่องการมีส้วมและมีระบบสนับสนุนความสะอาดไม่ว่าจะเป็นการมีน้ำ การรักษาความสะอาด สบู่ล้างมือ กระดาษชำระ ฯลฯ เป็นเรื่องสำคัญทางสุขาภิบาล(sanitation)อย่างยิ่ง การไม่มีหรือไม่อยากใช้ส้วมเพราะสกปรกจนไปถ่ายในที่โล่งแจ้งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้สารพัด เช่น โรคอหิวาต์ โรคไทฟอยด์ โปลิโอ โรคพยาธิ ไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ เพราะเมื่ออุจจาระแห้งก็จะกลายเป็นผงฝุ่นฟุ้งกระจายไปในอากาศ
ในประชากรโลก 7 พันล้านกว่าคน มีส้วมเป็นเรื่องเป็นราวแบบขั้นพื้นฐานประมาณ 3 พันล้านคน มีแต่ขาดมาตรฐาน 3 พันล้านเศษ และ ถ่ายในที่โล่งแจ้งประมาณเกือบหนึ่งพันล้านคน ในภาพรวมก็คือผู้คน 4.6 พันล้านคนทั่วโลกหรือกว่าครึ่งของโลก ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่มีมาตรฐานซึ่งการมีห้องส้วมที่มีมาตรฐานเป็นหัวใจสำคัญได้
ในจำนวนหนึ่งพันล้านคนที่ถ่ายกลางทุ่งนั้น 3 ใน 4 อยู่ในประเทศเอเชียกลางและเอเชียใต้ ในปีจจุบันอินเดียมีประชากรประมาณ 50 ล้านคนที่ไม่มีส้วมใช้เลย ตัวเลขนี้ลดลงมากใน 5-6 ปีที่ผ่านมาเมื่อมีการแก้ไขอย่างจริงจังเนื่องจากพบว่าเป็นสาเหตุของอัตราการตายที่สูงของทารก
ปากีสถานซึ่งมีประชากร 216 ล้านคนดูจะหนักสุดเพราะ 42% ของประชากรไม่มีส้วมใช้ และขาดระบบสุขาภิบาลพื้นฐาน
ความสะอาดของบ้านเรือนและของสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมายาวนาน (ถึงแม้จะมีส้วมสมัยใหม่ใช้กันจริงจังทุกบ้านเมื่อไม่เกิน 40 ปีมานี้ก็ตาม) ส้วมสาธารณะในญี่ปุ่นสะอาดอย่างประทับใจผู้ไปเยือน ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่คิด shower toilet คือเมื่อเสร็จกิจก็กดปุ่มข้าง ๆ ก็จะมีน้ำอุ่นฉีดขึ้นมาชำระล้างอย่างแม่นยำจนไม่เกิดปัญหาสุขาภิบาลจากการใช้มือสัมผัส
ชื่อเสียงของส้วมญี่ปุ่นจึงเป็นพื้นฐานที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ “การทูตส้วม” ได้เป็นอย่างดี บางคนอาจรู้สึกขำ แต่ถ้ามองลึก ๆ แล้วจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องลึกซึ้งกว่าแค่ส้วม
ชื่อเสียงของส้วมญี่ปุ่นจึงเป็นพื้นฐานที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ “การทูตส้วม” ได้เป็นอย่างดี บางคนอาจรู้สึกขำ แต่ถ้ามองลึก ๆ แล้วจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องลึกซึ้งกว่าแค่ส้วม การมีสุขาภิบาลที่ดีเป็นรากฐานของการสาธารณสุขและการมีสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ (ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและใจด้วย) การริเริ่มประเด็นและให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการมีส้วมที่มีมาตรฐานจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาหรือหยาบคายหากเป็นเรื่องที่แยบยลเสียด้วยซ้ำ
ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนเด็กตอบคำถามในวันเด็กว่าสิ่งที่อยากได้มากที่สุดคือส้วมโรงเรียนที่สะอาด จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่นำโดยคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ระดมทุนและสร้างส้วมให้เด็กหลายโรงเรียนในหลายจังหวัด ผู้เขียนสนใจและได้มีโอกาสติดตามก็พบว่าระบบสนับสนุนการมีส้วมที่สะอาดนั้นมีปัญหาในเกือบทุกแห่ง พอสร้างแล้วก็ขาดคนดูแลสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
อีกชื่อของห้องส้วมคือห้องสุขา เพราะมันช่วยปลดทุกข์ประจำวันให้บรรลุความสุขส่วนตัวเราควรมาช่วยกันผลักดันให้ชาวโลกมี “ความสุขา” อย่างแท้จริงและไม่เป็นภัยแก่คนอื่นด้วยครับ.
ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/938677?anf=
เรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ยังคงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญทั่วโลกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และหยุดการระบาดของเชื้อโควิดให้เร็วที่สุดประเทศไทยเองก็เดินหน้าในการปูพรมฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ประชาชน โดยพบว่าจำนวนการฉีดวัคซีนล่าสุดอยู่ที่ 2,264,308 ราย (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 16 พ.ค.)
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญ เฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุถึง คนอายุน้อย และวัยทำงานที่ฉีดวัคซีนโควิด จะมีโอกาสเป็นไข้ไม่สบายตัว เป็นเรื่องปกติดที่พบได้ พร้อมแนะนำขั้นตอนในการดูแลตนเองหลังจากฉีดวัคซีน
ทั่วโลกมีประชากร 7,000 ล้านคน ถ้าจะให้วัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาได้ต้องให้อย่างน้อย 5,000 ล้านคนหรือประมาณ 10,000 ล้านโดส ขณะนี้ทั่วโลกได้รับวัคซีนไปแล้วเกือบ 1,500 ล้านโดส หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่เป็นเจ้าของวัคซีน เช่น จีน อเมริกา และยุโรป ถึงแม้ว่าอินเดียจะระดมฉีดวัคซีนกันขนาดใหญ่ก็ยังไล่ไม่ทันการระบาดของโรค โดยขณะนี้ฉีดวัคซีนทั่วโลกเฉลี่ยวันละไม่ถึง 25 ล้านโดส ถ้าด้วยอัตราขนาดนี้ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะได้เป้าหมายทั่วโลก นอกจากว่ามีอัตราการเร่งผลิตและฉีดให้ได้มากกว่านี้อีก 1 เท่าตัว ก็จะบรรลุเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้
สำหรับประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 2.26 ล้านโดส โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 100 ล้านโดสหรือได้ประมาณ 2.2 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ใน 100 ล้านโดสนี้เราจะต้องฉีดให้คนไทยประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 300,000 โดส จึงจะบรรลุเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ นับเป็นงานใหญ่มากสำหรับประเทศไทยสิ่งที่ทุกคนจะต้องเข้าใจโดยเฉพาะการให้วัคซีน AstraZeneca ในคนที่มีอายุน้อยหรือวัยทำงาน โอกาสจะเป็นไข้ ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตัวเหมือนไข้หวัดใหญ่ จะสูงมากกว่าผู้สูงวัยที่ผ่านมาเราฉีดวัคซีน AstraZeneca ในผู้สูงวัย เราจึงยังไม่ค่อยเห็นใครบ่นเรื่องไข้หลังฉีดวัคซีน
เมื่อฉีดวัคซีนหมู่มากที่กำลังจะมาถึงโดยเฉพาะในวัยทำงานหรือที่อายุน้อยกว่า 30 ปี หลังฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้เตรียมยาพาราเซตามอลไว้ได้เลย เมื่อฉีดแล้วกลับถึงบ้านกินเลยก็ไม่ว่ากัน จากการศึกษาที่ศูนย์ฯให้วัคซีนในกลุ่มอายุน้อยจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าและบางคนอาจจะมีบวมแดงบริเวณฉีด ถือเป็นปฏิกิริยาของวัคซีนที่เป็นเรื่องที่พบได้ไม่ต้องตกใจ อาการดังกล่าวจะอยู่ชั่วคราวเท่านั้น โดยทั่วไปอาการไข้จะอยู่ 24 ชั่วโมงและมีน้อยที่จะเป็น 2 วัน และน้อยมากๆที่จะถึง 3 วัน จากการศึกษาของเราพบว่า ผู้ที่มีอายุน้อยและมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนมาก จะมีภูมิต้านทานที่สูง จึงไม่แปลกผู้หญิงมีภูมิต้านทานสูงกว่าผู้ชายผู้ที่มีอายุน้อยจะมีภูมิต้านทานสูงกว่าผู้ที่มีอายุมากหรือผู้สูงวัย ถ้าทุกคนเตรียมตัวก็จะได้ไม่ตื่นตระหนกถึงอาการที่เกิดขึ้น นอกจากว่ามีอาการมากก็ต้องพบแพทย์
ขอบคุณ : นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/regional/467162?adz=
เราต้องทำใจว่าการระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อะไรที่ว่าแน่อย่าเพิ่งแน่ใจ!
สิงคโปร์กับไต้หวันที่เคยทำท่าว่าจะ “เอาอยู่” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับต้องมายกระดับมาตรการควบคุมโควิดอีกรอบหลังพบคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น
หมู่เกาะเซย์เชลส์ (Seychelles) ในมหาสมุทรอินเดียที่เคยประกาศฉีดวัคซีนประชากรกว่า 60% เป็นชาติแรกก็ต้องกลับมาใช้มาตรการเข้มข้นอีกรอบเพราะเจอคนติดเชื้อเพิ่มเช่นกัน
สาธารณรัฐเซย์เชลส์ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อย 115 เกาะ มีประชากรประมาณ 1 แสนคน เคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว
ไต้หวันรายงานว่าจำนวนคนติดเชื้อใหม่กระโดดจากวันละ 29 รายเป็น 180
ทำให้ทางการเมืองไทเปและนิวไทเปซิตียกระดับเตือนภัยโควิดขึ้นเป็นเบอร์ 3 ในระดับความรุนแรง 1-4
กฎใหม่ให้คนไต้หวันรวมตัวกันไม่เกิน 5 คนในเคหสถานและไม่เกิน 10 คนนอกเคหสถาน
สิงคโปร์อาจต้องเลื่อนแผน Travel Bubble กับฮ่องกงที่เดิมกำหนดจะเริ่มวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ เพราะพบคลัสเตอร์โควิดใหม่มากกว่า 10 แห่ง รวมถึงที่สนามบินนานาชาติชางงีและโรงพยาบาลหนึ่งแห่ง
ทางการกำลังจะตรวจเชิงรุกผู้ถูกคุมขังและเจ้าหน้าที่กว่า 5,000 คน หลังคนทำอาหารคนหนึ่งในเรือนจำชางงีติดเชื้อ
เฉพาะที่สนามบิน พบสะสมแล้ว 40 ราย
เมื่อวันศุกร์วันเดียว เกาะแห่งนี้พบคนติดเชื้อใหม่ 24 ราย
สิงคโปร์ประกาศ Circuit Breaker (มาตรการตัดวงจรการแพร่ระบาด) ครั้งใหม่จากเมื่อวานถึง 13 มิถุนายน
ห้ามคนกินอาหารในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว
กฎใหม่อนุญาตให้คนรวมตัวกันได้ไม่เกิน 2 คน จากเดิมกำหนดให้ไม่เกิน 5 คน
โรงแรมที่นั่นประกาศว่าอาจจำเป็นต้องเคาะประตูห้องเพื่อตรวจดูว่าห้องไหนมีแขกอยู่เกิน 2 คน
ใครละเมิดกฎนี้อาจจะถูกปรับสูงสุดถึง 10,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 235,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
ขณะที่กรุงเทพฯ คลายล็อกให้คนกินในร้านอาหารได้ 25% แต่สิงคโปร์วิ่งสวนด้วยการประกาศห้ามการกินในร้านอีกรอบ
จนถึงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สิงคโปร์ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 3.2 ล้านโดส โดยที่ประมาณ 1.9 ล้านคนได้ฉีดเข็มแรก และ 1.3 ล้านได้ครบสองเข็มแล้ว
นายกฯ หลี่เสียนหลงเขียนในเฟซบุ๊กว่า คลัสเตอร์โควิดใหม่ที่พบที่โยงกับเคสในชุมชนต่างๆ ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น “เรื่องน่ากังวลมาก”
“เรากำลังยกระดับตรวจเชื้อเชิงรุกอย่างเข้มข้น และจะทำการล้อมรั้วการแพร่ระบาดอย่างแข็งขันที่สุด แต่เราก็ต้องประกาศใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพราะสกัดเคสใหม่ๆ ไม่ให้ผุดขึ้นมาอีก...”
นายกฯ สิงคโปร์เรียกร้องให้ทุกคน “อยู่บ้านมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และออกจากบ้านก็เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
หลี่เสียนหลงขอให้ทุกคนฉีดวัคซีน, ใส่หน้ากากและรักษาระยะห่างเพื่อปกป้องตัวเองและคนรอบข้าง
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางของสิงคโปร์ได้คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะกลับมาบวกได้ 6% หากเศรษฐกิจโลกไม่ผิดไปจากที่พยากรณ์เอาไว้มากนัก
แต่เมื่อเส้นทางการกลับสู่ภาวะปกติกำลังออกมาในลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนี้คงจะต้องมีการประเมินกันใหม่อีกหลายรอบก่อนสิ้นปีนี้ค่อนข้างแน่นอน
พอเกิดการหวนกลับของไวรัสเช่นนี้สิงคโปร์กับไต้หวันก็ต้อง “รักษาระยะห่าง” ระหว่างสองเกาะกันอีกรอบ
สิงคโปร์ ประกาศมาตรการใหม่ให้พลเมืองสิงคโปร์และผู้มีถิ่นพำนักถาวรที่มีเดินทางไปไต้หวันในช่วง 21 วันก่อนหน้านั้นจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ stay-home notice (SHN) โดยต้องอยู่บ้านเป็นเวลา 14 วัน
ใครมาจากไต้หวันจะต้องตรวจเชื้อโควิด-19 (PCR) เมื่อมาถึงสิงคโปร์ และตรวจครั้งอีกเมื่อครบ 14 วันตามมาตรการ SHN
ก่อนจะสิ้นสุดครบ 21 วันก็ต้องตรวจหาเชื้ออีกครั้ง
ส่วนผู้เดินทางระยะสั้น ถือบัตร Air Travel Pass (ATP) มีประวัติการเดินทางไปไต้หวันภายใน 21 วันยังเข้าสิงคโปร์ไม่ได้
คนที่ไม่ใช่พลเมืองสิงคโปร์ และมีประวัติการเดินทางไปไต้หวันก่อนนี้ภายใน 21 วัน จะต้องแสดงผลตรวจ PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนที่จะออกเดินทางมายังสิงคโปร์
สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนานและหนักหนาสาหัสแน่นอน.
หน้าที่ 42 จาก 73