เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ากรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ สมองและหลอดเลือดประกอบไปด้วย docosahexaenoic acid (DHA), eicosapentaenoic acid (EPA) และ Omega-3 fatty acid ส่วนใหญ่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารดังกล่าวนี้ มักจะได้มาจากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ จนมีความเชื่อว่า สารเหล่านี้พบได้มาก เฉพาะในไขมันของปลาทะเล โดยเฉพาะจะต้องเป็นปลาทะเลน้ำลึกเป็นส่วนใหญ่ โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับปลาน้ำจืดน้อยมาก ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ ไม่ค่อยนิยมกินปลาน้ำจืดซึ่งแตกต่างจากประเทศในแถบเอเชีย ในธรรมชาติไขมันที่ดีต่อสุขภาพถูกสร้างขึ้นโดย สาหร่ายเซลล์เดียวในทะเล เมื่อสาหร่ายถูกกินโดยปลาขนาดเล็ก ไขมันเหล่านี้จะเข้าไปสะสมในเนื้อปลา และเพิ่มปริมาณขึ้นไปสู่ปลาใหญ่ตามห่วงโซ่อาหาร
เมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานการวิจัย โดยนักวิจัยจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัย มหิดล พบว่า ปลาน้ำเค็ม หรือปลาน้ำจืดที่เลี้ยงในฟาร์มที่ถูกสุขลักษณะ โดยให้อาหารสำเร็จที่ผลิตทางอุตสาหกรรม หรือให้อาหารจำพวก ปลาเล็กปลาน้อยตากแห้ง จะมีการสะสมของ Omega-3 fatty acid ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปลาทะเล ดังนั้นปลาน้ำจืดจึงน่าจะเป็นแหล่งของกรดไขมันที่เป็นประโยชน์เช่นกัน ดังรายละเอียดข้อมูลเปรียบเทียบในตาราง
ชนิดของปลา |
ประเภทของปลา |
ปริมาณไขมัน (กรัม) |
ปริมาณ Omega-3 (มิลลิกรัม) |
ปลาดุก |
ปลาน้ำจืด |
14.7 |
460 |
ปลาจาระเม็ดขาว |
ปลาน้ำเค็ม |
6.8 |
840 |
ปลาสำลี |
ปลาน้ำเค็ม |
9.2 |
470 |
ปลาช่อน |
ปลาน้ำจืด |
8.5 |
440 |
ปลาตะเพียน |
ปลาน้ำจืด |
7.4 |
240 |
ปลาทู |
ปลาน้ำเค็ม |
3.8 |
220 |
เนื้อปลาประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งโปรตีน วิตามิน และไขมันที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะ DHA, EPA และ Omega-3 แต่ยังมีกรดไขมันอีกชนิดหนึ่งอยู่ในกลุ่มของ Omega-3 คือ alpha-linolenic acid (ALA) ซึ่งพบมากในเมล็ดพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ฟักทอง และทานตะวัน เป็นต้น