Pap Smear ได้ถูกนำมาใช้ในการคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกมาแล้วกว่า 80 ปี ได้ช่วยป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในสตรีได้จำนวนมาก หลักการคือป้ายเอาเซลล์จากปากมดลูกมาป้ายบนกระจกสไลด์ แล้วนำไปย้อมสี เพื่อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อค้นหาเซลล์ที่มีการติดเชื้อไวรัส HP(Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก
การทำ Pap Smear ส่งผลทำให้ลดโอกาสที่สตรีจะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้ถึงประมาณ 70% ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับสตรีไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่หลังจากใช้มาแล้ว 80 ปี การตรวจ Pap Smear ยังมีโอกาสวินิจฉัยผิดพลาดค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกรณี ที่เป็น ระยะแรกของโรคซึ่งผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการ ประมาณว่า หนึ่ง ใน สาม ของผู้ที่มารับการตรวจ Pap Smear ได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาด
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ไวรัส HPV มีหลายสายพันธุ์ แต่มีเพียง 2 สายพันธุ์ ที่เชื่อถือได้แน่ชัด ว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก คือ สายพันธุ์ HPV 16 และHPV 18 จึงได้มีการพัฒนาเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ตรวจหา DNA ของ HPV ไวรัส(HPV DNA testing) จากผลการศึกษาพบว่าการตรวจ Pap Smear ควบคู่ไปกับ HPV DNA Testing ทำให้การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก ขั้นต้น ผิดพลาดลดลงเหลือเพียง 5%
มีข้อแนะนำเกี่ยวกับสตรีอายุ 25 ปี ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ และสตรีอายุ 30 ปี ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการตรวจ Pap Smear ทุก 2 ปี เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องมีการตรวจ Pap smear ถี่ขึ้นแทบจะทุก 1 ปี แต่ถ้ามีการตรวจ HPV DNA Testing ควบคู่ไปด้วยระยะเวลาในการตรวจซ้ำอาจยืดไปได้ถึง 3 ปี ข้อมูลเพิ่มเติมที่ควรรู้ คือ
- 4 ใน 5 คน ของสตรี เคยได้รับเชื้อ HPV
- ร้อยละ 90 ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อ HPV ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา
- เชื้อ HPV กว่า 10 สายพันธุ์ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก แต่มีเพียง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ HPV 16 และ HPV 18 ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
- ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ถึงกว่า 95 % โดยวัคซีนสามารถนำมาใช้เชิงป้องกันได้โดยเฉพาะ ในสตรี อายุตั้งแต่ 12 – 13 ปี จนถึงอายุ 25 – 26 ปี แต่จะได้ผลดีที่สุดในสตรี ที่เคยได้รับเชื้อไวรัส HPV มาก่อน