Font Size

    Superbug

        ซูเปอร์บั๊ก กำลังแพร่กระจายก่อให้เกิดปัญหาทางการแพทย์ทั่วโลก ซูเปอร์บั๊ก คือ แบคทีเรียก่อโรคที่ต้านยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิด ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ซูเปอร์บั๊ก และ ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยปกติหลายเท่า รายงานผู้ติดเชื้อซูเปอร์บั๊กในสหรัฐอเมริกา ในปี 2556 มีจำนวนสูงถึงกว่า 2 ล้านคนในจำนวนนี้ เสียชีวิตประมาณ 20,000 คน ประเทศเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหลายพันล้านดอลล่าร์ โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งมีปัญหาด้านซูเปอร์บั๊กอยู่มาก มีการประมาณการว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขภายใน 30 ปี ข้างหน้า ประชาชนจีนอาจเสียชีวิตจาก ซูเปอร์บั๊ก ถึงประมาณ 1 ล้านคน

       ต้นเหตุของการเกิด ซูเปอร์บั๊ก เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อประมาณ กว่า 60 ปีที่แล้ว (คศ. 1950) เมื่อเริ่มมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเร่งให้สัตว์เลี้ยงเติบโตเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยผสมยาปฏิชีวนะในอาหาร น้ำ และพ่นฉีดบนลำตัว ทั้งในอุตสาหกรรมเลี้ยง ปศุสัตว์ และเลี้ยงไก่ โดยเฉพาะในฟาร์มไก่เนื้อ มีข้อมูลว่า ปี 2503 ต้องใช้เวลา 63 วัน เพื่อเลี้ยงไก่ให้ได้น้ำหนัก 3.4 ปอนด์ แต่ในปี 2554 ใช้เวลาเพียง 47 วัน   เพื่อเลี้ยงไก่ให้ได้น้ำหนัก 5.4 ปอนด์ ซึ่งยืนยันได้ว่ายาปฏิชีวนะ มีบทบาทสำคัญในการเร่งการเจริญเติบโต ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าระหว่างปี 2544 ถึง 2554 ยาปฏิชีวนะที่ขายในประเทศนี้ทั้งหมดประมาณ 80% ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ อีกประมาณ 20% เท่านั้น ที่ถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วย

       การเกิดขึ้นของชูเปอร์บั๊กมีสาเหตุจากยาปฏิชีวนะเข้าไปกำจัดแบคทีเรียส่วนใหญ่ที่ไม่ต้านยาให้หมดไป เปิดโอกาสให้แบคทีเรียที่ต้านยาตามธรรมชาติ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ   ปี 2556 พบว่า ไก่ที่ขายในตลาดกว่า ร้อยละ 50 ปนเปื้อนด้วยแบคทีเรีย ชนิดที่เป็นซูเปอร์บั๊กแบคทีเรียต้านยาเหล่านี้เข้าสู่มนุษย์ได้หลายทาง เช่น จากเนื้อสัตว์ที่ดิบๆสุกๆ จากการที่มีปนเปื้อนอยู่ในผัก ผลไม้   รวมทั้ง ผู้ที่ทำงานในฟาร์ม ที่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

     ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ จึงเริ่มมีมาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ ในการผสมในอาหาร และ น้ำในการเลี้ยงสัตว์ สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันยังคงไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการที่จะช่วยลดปัญหานี้