Font Size
 
ไทยโดนด้วย! 'ไข้เลือดออก' ซ้ำโควิดระบาดหนัก 'อาเซียน'
 

ในช่วงที่ระบบสาธารณสุขกำลังแออัดเพราะรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ก็ต้องเจอกับไข้เลือดออกระบาด

เหลียง โฮ นัม แพทย์ด้านโรคติดเชื้อโรงพยาบาลเมาท์เอลิซาเบธ โนเวนา ในสิงคโปร์ เผยกับซีเอ็นบีซีว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พุ่งขึ้นมาก

สัปดาห์ก่อน สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นอีเอ) กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกจ่อทุบสถิติ 22,170 คน ที่เคยทำไว้ในปี 2556 ข้อมูลถึงวันที่ 6 ก.ค. จำนวนผู้ป่วยเกินกว่า 15,500 คนแล้ว

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปีนี้จะเป็นที่สถานการณ์ย่ำแย่” เหลียงให้ความเห็นถึงสถานการณ์ในสิงคโปร์ตั้งแต่ก่อนเอ็นอีเอแถลงข้อมูลเสียอีก

ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดือนก่อนปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียเตือนว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกพุ่งสูงทั่วประเทศ

ในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หน่วยงานสาธารณสุขรายงานว่า ปลายเดือน มิ.ย. จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศอยู่ที่ 68,000 คน

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) จัดความเสี่ยงไข้เลือดออกในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ยกเว้นสิงคโปร์ว่า “เกิดบ่อย/ต่อเนื่อง”

 

ไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่โลกกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายหนัก ประชาชนหลายล้านคนออกไปไหนไม่ได้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ผลจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อควบคุมโรค

“โชคไม่ดีเลยที่ไข้เลือดออกพบเนื้อคู่เหมาะสมนั่นคือการล็อคดาวน์ เมื่อคนเราต้องอยู่กับบ้านหนีโควิด ก็ยิ่งเสี่ยงเจอยุงพาหะไข้เลือดออกที่เพาะพันธุ์อยู่ในละแวกบ้านมากขึ้น ยิ่งมีผู้ติดเชื้อมากก็ยิ่งเป็นไปได้มากที่ยุงไม่ติดเชื้อมากัดคนที่ติดเชื้อเป็นเหตุให้ไข้เลือดออกขยายวงมากขึ้น” เหลียงขยายความ

ด้าน ดูแอน กูเบลอร์ ผู้อำนวยการก่อตั้งโครงการวิจัยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ มหาวิทยาลัยแพทย์ดยุค-เอ็นยูเอสในสิงคโปร์ เห็นพ้องกับเหลียง

“ผู้คนติดอยู่กับบ้านตลอดเวลาจึงมีโอกาสโดนยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัดมากขึ้น ดังนั้นต้องมีมาตรการให้มากยิ่งขึ้นมาควบคุมลูกน้ำยุงลาย” กูเบลอร์กล่าวพร้อมเตือนถึงอันตรายของพื้นที่ก่อสร้าง ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงขนานใหญ่ อันเป็นผลจากการล็อคดาวน์ป้องกันโควิด-19

“การระบาดของโควิดอาจมีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายไข้เลือดออกได้เป็นอย่างมาก” นักวิชาการให้ความเห็น

ในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนี้อินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด 70,736 คน ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ รองลงมาคือฟิลิปปินส์ 51,754 คน และสิงคโปร์ 45,423 คน

เหลียงกล่าวว่า ประเทศที่เคยควบคุมการระบาดของไข้เลือดออกได้ดีในอดีต ตอนนี้เสียหายมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ เพื่อเปรียบเทียบการติดเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญใช้มาตรวัดที่เรียกว่า “อัตราการติดเชื้อไข้เลือดออกที่อายุ 9 ขวบ”

สิงคโปร์มีเด็กอายุ 9 ขวบเป็นไข้เลือดออกไม่ถึง 9% ส่วนตัวเลขในประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่า มาเลเซียอยู่ที่ 30-40% ไทยและอินโดนีเซีย 50-60% และฟิลิปปินส์ 90%

เหลียงยกตัวอย่างฟิลิปปินส์ที่เขามองว่า “ไม่มีอะไรจะเสีย” ในทางกลับกันประเทศอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียต่างหากที่ยัง “เสียหายได้อีกมาก” เขาเตือนด้วยว่า ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ที่ลดลงในกลุ่มประชากรทั่วไป ทำให้ยุงหาตัวคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันได้ง่ายขึ้น การติดเชื้อกระจายง่ายขึ้น

เมื่อมองไปข้างหน้า กูเบลอร์ กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญคือฤดูฝน ปกติอยู่ระหว่างเดือน ก.ค.-พ.ย. ที่การติดเชื้อไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เขาเกรงว่าในช่วงโควิด-19 ระบาด ประเทศทั้งหลายอาจไม่มีสถานพยาบาลรับมือกับโรคอื่นโดยเฉพาะไข้เลือดออก

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/888839?anf=