25 ต.ค.2563 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า
โควิด 19 กับภูมิคุ้มกันกลุ่ม herd immunity เพื่อให้โรคสงบ
ภูมิคุ้มกันกลุ่มหรือที่เรียกว่า herd immunity คือ ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องมีภูมิต้านทานต่อ โควิด 19 โดยการติดเชื้อโรคแล้วหายจากโรค มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น
หรือเกิดจากการฉีดวัคซีน เป็นจำนวนมากที่เพียงพอ โรคก็จะไม่ระบาด
เปรียบเสมือนคนที่มีภูมิต้านทานแล้วเป็นแกะขาว คนที่ไม่มีภูมิต้านทานเป็นแกะดำ ถ้าในฝูงแกะ มีแกะขาวเป็นส่วนใหญ่
เชื้อโรคหรืออันตรายที่จะลุกล้ำเข้าไปหาแกะดำ จะมีแกะขาวล้อมรอบอยู่ เข้าไปได้ยาก
การเกิดภูมิต้านทานในแต่ละโรคในการป้องกันหรือให้สงบ
อัตราส่วนของประชากรที่มีภูมิต้านทานแล้วแตกต่างกัน โรคที่ติดต่อกันง่ายมากเช่น โรคหัด ติดต่อทางอากาศ
จำเป็นที่จะต้องมีภูมิต้านทานกลุ่ม ในอัตราที่สูงมากมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป
โรคไข้หวัดใหญ่อาศัยภูมิต้านทานเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ก็ไม่เกิดการระบาดของโรค
จากการประมาณการว่า โควิด 19 อาศัยภูมิคุ้มกันกลุ่มประมาณร้อยละ 60 หรือกล่าวว่าถ้าเราปล่อยให้ประชากรติดเชื้อไป 60% ก็จะสงบ หรือต้องสร้างภูมิต้านทานขึ้นด้วยการให้วัคซีนอย่างน้อย 60% ของประชากร โรคก็จะสงบ แต่ไม่ใช่หมายความว่าโรคหมดไป เพียงแต่ไม่เกิดการระบาด แต่อาจจะพบได้ประปราย
ดังนั้น โควิด 19 จะสงบ จึงมีการคาดการณ์ว่าใช้เวลาประมาณ 2 ปี
ประชากรส่วนใหญ่จำนวนหนึ่งติดโรค และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น และอีกส่วนหนึ่งได้รับวัคซีนสร้างภูมิต้านทาน เมื่อรวมกันแล้วมากกว่าร้อยละ 60 ส่วนประชาชนที่เหลือ ก็ยังหากเป็นโรคได้ แต่ไม่ได้ถึงกับระบาดมากมาย
โรคนี้ก็จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละปีก็ยังอาจพบได้ และยังคงต้องให้วัคซีนในการสร้างภูมิต้านทานเสริมอยู่ตลอด หรือให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาแล้วยังไม่มีภูมิต้านทาน
ให้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ เหมือนอย่างที่เราให้วัคซีนในเด็ก ให้เด็กส่วนใหญ่ไม่เป็นโรคหัด ไม่เป็นโรคโปลิโอ
โควิด 19 ยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน วิถีชีวิตใหม่ ยังมีความจำเป็น ไม่น้อยกว่า 2 ปีแน่นอน
จนกว่าเราจะสร้างภูมิต้านทานให้ประชากรของเรา ได้ในปริมาณที่สูงเกินกว่าภูมิคุ้มกันกลุ่ม