กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดจากการทำงานในสถานกักตัวของเอกชน(ASQ) ทำให้เกิดกลุ่มก้อนการติดโควิด 7 คนนั้น
ขณะนี้มีรายงานอย่างเป็นทางการว่า ตรวจพบ ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิดที่ลูกบิดประตู ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า
บุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าวน่าจะมีโอกาสติดโควิดจากสองแหล่งด้วยกันคือ
1) จากลูกบิดประตู
2) ติดจากผู้ที่มารับการกักตัว และบุคลากรดังกล่าวทำการตรวจสารคัดหลั่ง(Swab)โดยไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยหรือชุดป้องกันที่เพียงพอ
จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ไวรัสที่อยู่บนลูกบิดประตูจะอยู่ได้นานมากน้อยเพียงใด
มีงานวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลียพบว่า ในวัสดุที่ทำลูกบิดประตู เช่น
สแตนเลส(Stainless Steel) ไวรัสจะอยู่ได้ดังนี้
ถ้าอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส อยู่นานถึง 28 วัน อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสอยู่ได้นาน 7 วัน
อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสจะอยู่ได้เพียงวันเดียว
โดยมีปัจจัยอื่นประกอบการอยู่ได้นานหรือไม่ดังนี้
1) ถ้าวัสดุผิวยิ่งเรียบ ไวรัสจะอยู่ได้นานกว่าวัสดุผิวขรุขระ
2) ถ้าวัสดุมีไขมันหรือโปรตีน จะทำให้ไวรัสอยู่ได้นานมากขึ้น
3) ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำหรืออากาศแห้ง ไวรัสอยู่ได้นานมากขึ้น
4) ถ้ามีแสงแดดน้อยหรือมืด ไวรัสจะอยู่ได้นานขึ้น
ดังนั้นลูกบิดประตู(วัสดุผิวเรียบ) ของห้องพักโรงแรม(ไม่ถูกแสงแดด) มีอากาศเย็น(อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส) และมีคนที่จับลูกบิดประตูโดยไม่ใส่ถุงมือ(ทำให้มีไขมันหรือโปรตีนบนลูกบิด)
ก็จะทำให้ไวรัสอยู่บนลูกบิดนั้นได้นานยิ่งขึ้น
จากปัจจัยดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่จะติดไวรัสจากลูกบิดประตูได้
ต้องเกิดจากบุคลากรนำมือที่มีไวรัสนั้น มาสัมผัสกับเยื่อบุตา เยื่อบุจมูก หรือเยื่อบุในช่องปาก เพราะไวรัสจะไม่สามารถผ่านผิวหนังที่มือได้
แต่ถ้าในกรณีที่ติดจากผู้ป่วยที่หายใจ หรือไอจามสู่บุคลากรที่ไม่ใส่หน้ากาก ขณะทำการตรวจสารคัดหลั่ง ก็จะติดได้โดยตรง
คงจะต้องรอการพิสูจน์ว่า ไวรัสที่ลูกบิดประตูนั้น มีสารพันธุกรรมตรงกับที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าวติดโควิดหรือไม่ คงทราบผลกันในไม่ช้านี้ครับ
Reference