เช่นเดียวกันกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกาะเทรนด์ทุ่มพันล้านซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ลอตแรก ในเดือนกุมภาฯ นี้ เพื่อฉีดให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและกลุ่มเสี่ยง รับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดซ้ำที่แพร่กระจายไปในวงกว้าง หลังจากเกิดเคสแพร่เชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติเถื่อน กับ “บ่อนพนัน” ทำชาติพัง การเร่งรีบจัดหาวัคซีนถือเป็นเรื่องเร่งด่วนสุดที่ไม่อาจรอคอยได้อีกต่อไป
ล่าสุด ครม. มีมติเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 อนุมัติการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ประเทศจีน โดยไม่รีๆ รอๆ วัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา แห่งอังกฤษ ที่รัฐบาลไทยสั่งจองไปก่อนหน้า ซึ่งกว่าจะมาคาดว่าประมาณกลางปี 2564
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมในกรณีเร่งด่วนว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม จะร่วมดำเนินการและจัดซื้อจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จำนวน 2 ล้านโดส ในวงเงินจัดสรร 1,228 ล้านบาท วัคซีนที่นำเข้าเร่งด่วนจากบริษัทของจีน จะแบ่งเป็น 2 แสนโดสแรก นำเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ นำไปฉีดให้เจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด ประมาณ 2 หมื่นคน และในกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูง รวมทั้งกลุ่มจำเป็นอื่นๆ อีกประมาณ 1.8 แสนคน
เดือนมีนาคม 2564 จะได้วัคซีนอีก 8 แสนโดส โดยจะฉีดเข็มที่ 2 ให้กลุ่มที่ 1 จำนวน 2 แสนโดส ส่วนอีก 6 แสนโดส จะฉีดในกลุ่มจังหวัดที่ควบคุมสูงสุด ชายแดนภาคตะวันตก ภาคใต้ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มที่ติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ อีกประมาณ 5.4 แสนคน
เดือนเมษายน 2564 จะได้รับวัคซีนเพิ่มอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2 ล้านโดส โดยจะฉีดเข็มที่ 2 ให้แก่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนในเดือนมีนาคม ประมาณ 6 แสนคน ส่วนอีก 4 แสนโดส จะฉีดให้แก่บุคลากรอื่นๆ เพิ่มเติม โดยการฉีดแต่ละคนต้องได้รับวัคซีนจำนวน 2 โดส
หลังจากนั้น ประเทศไทย ที่จองซื้อวัคซีนรวมทั้งสิ้น 26 ล้านโดส จากบริษัท แอสตราเซเนกา คาดว่าจะนำเข้ามาเพื่อให้คนไทยได้ใช้ประมาณกลางปี 2564 ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังอนุมัติเพิ่มเติมในการจัดหาซื้อวัคซีนอีก 35 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ครอบคลุมคนไทยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด รวมวัคซีนทั้งหมด 63 ล้านโดส ภายในปี 2564
เพจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ยืนยันว่า “.... ผมขอย้ำว่า “คนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนฟรี” นะครับ” และยังกล่าวถึง “ระยะยั่งยืน” ว่า เราได้ตั้งศูนย์การผลิตในประเทศอยู่ที่ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีโรงงานอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างใหม่ โดยได้การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีมาแล้ว สามารถผลิตวัคซีนตามมาตรฐานของออกซฟอร์ดและแอสตราเซนเนกา โดยมีกำลังการผลิตที่ 200 ล้านโดสต่อปี
“นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นอีกแหล่งผลิตภายในประเทศ ที่มีองค์ความรู้ มีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ทันต่อวิวัฒนาการของเชื้อโรคได้ในอนาคต สร้าง “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข” และส่งเสริมบทบาทให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด หรือวัคซีนโรคอื่นๆ ในภูมิภาค
“ผมมองว่า “ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส” ใครที่มีวิสัยทัศน์ สร้างความพร้อม ย่อมได้รับประโยชน์ โดยในวิกฤตโควิดนี้ หากเราทำตามสิ่งที่ผมเล่ามาได้ ก็จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub)” ได้อีกด้วยครับ”
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ขยายความถึงศักยภาพของประเทศไทยที่จะผลิตวัคซีนเอง ว่าขณะนี้ บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ อยู่ระหว่างการถ่ายทอดกระบวนการผลิตจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้า จะเริ่มผลิตในประเทศปลายเดือนพฤษภาคม 2564 มีกำลังผลิต 200 ล้านโดสต่อปี ซึ่งบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ถือหุ้น 100% โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก่อตั้งจากพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อผลิตยาคุณภาพดีราคาถูกให้ประชาชนได้ใช้โดยไม่หวังผลกำไร
นายทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์การผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา แถลงความคืบหน้าเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากแอสตราเซเนกา มาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ได้เตรียมความพร้อมทั้งสถานที่ โรงงาน วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ เครื่องจักร ปัจจุบันอยู่ในขั้นทดสอบการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีกำลังการผลิตปีละ 200 ล้านโดส หรือเดือนละ 15-20 ล้านโดส จะมีการทดสอบการผลิต 5 รอบ รอบแรกผลิตไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 กำลังผลิตรอบ 2 เมื่อผลิตครบ 5 รอบก็จะนำไปยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ถ้าสำเร็จ เดือนมิถุนายนนี้คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนที่ผลิตในเมืองไทยแน่นอน
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ฉุกเฉินทั่วโลก มีเพียง 4 ชนิด จากผู้ผลิต 9 ราย ไทยจะรับขึ้นทะเบียน อย.เฉพาะวัคซีนที่มีผลของเฟส 3 มีประสิทธิผลชัดเจนเท่านั้น โดยวัคซีนที่ยอมรับกันในเวลานี้มีเพียง 3 ชนิดคือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา ที่เหลือเป็นการทดลองเฟส 2 แม้แต่วัคซีนของจีนและรัสเซียที่ขึ้นทะเบียนในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563 ก็ยังไม่มีผลเฟส 3 เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม อย.ก็ไม่ได้ปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนมาจำหน่ายในประเทศ แต่ต้องได้รับการอนุมัติจาก อย. ซึ่ง อย. ได้เตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินไว้แล้ว
ด้าน “หมอยง” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่บทความผ่านทางเฟซบุ๊กในหัวข้อ "โควิด 19 วัคซีน (ต่อ)" ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก ว่า “.... ขณะนี้มีวัคซีนกำลังรอขึ้นทะเบียน Pending ในภาวะฉุกเฉินอีกหลายตัว แบ่งกลุ่มวัคซีนได้เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก mRNA วัคซีน มีการศึกษากันมาก มีการศึกษาในมนุษย์ถึงระยะที่ 2 -3 ถึง 3 ชนิด กลุ่มนี้มีความก้าวหน้า และขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉินแล้ว 2 ชนิด ได้แก่ ของ Pfizer BioNtech และ Moderna ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึงร้อยละ 95
วัคซีน Pfizer ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว มากกว่า 8 ประเทศได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศในเครือ EU นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ Faroe Iceland กรีนแลนด์และเซอร์เบีย และขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน อีก 18 ประเทศรวมทั้งสิงคโปร์ที่ใกล้กับบ้านเราด้วย วัคซีนของ Moderna ขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉินในอเมริกาและแคนาดา
กลุ่มที่สอง ใช้ไวรัสเป็นตัวนำ ก็มีการศึกษากันมากเช่นเดียวกันและมีการศึกษาในมนุษย์ระยะท้ายในมนุษย์อยู่ 4 ชนิด และได้ขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉิน 3 ชนิดได้แก่ Ad 5-nCov ของ Cansino ประเทศจีน Sputnik V ของรัสเซียและ AstraZeneca ประเทศอังกฤษ ประสิทธิภาพรวม 70% มีการแจกแจงแบบให้ครึ่ง dose แล้วตามด้วยเต็มโดส (90%) และเต็มโดส (62%) การให้ครึ่งโดส จากความผิดพลาดของโรงงานโดยบังเอิญ และวัคซีนดังกล่าว เพิ่งขึ้นทะเบียนได้ล่าสุด 30 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จากประเทศเจ้าของคืออังกฤษ
วัคซีนของจีนขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในประเทศจีนเท่านั้น AstraZeneca ขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในอังกฤษและอาร์เจนตินา วัคซีนของรัสเซียขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในรัสเซีย เบลารุส และอาร์เจนตินา
กลุ่มที่สาม วัคซีนเชื้อตาย มีการศึกษาในมนุษย์ระยะท้าย 5 ชนิด และได้ขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉินแล้ว 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนของ Sinovac และ Sinopharm ประเทศจีน วัคซีน Sinovac ขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในประเทศจีน ส่วนของ Sinopharm ขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะปกติในจีนสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน
นั่นคือภาพรวมความก้าวหน้าของวัคซีนโควิดทั่วโลกจากคำอธิบายของ “หมอยง”
อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สัมพันธ์กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ หากปล่อยให้เชื้อลาม เอาไม่อยู่ ล็อกดาวน์ปิดประเทศหมุนวนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจทรุดหนัก รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงแข่งขันกันช่วงชิงวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เพื่อคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจายควบคู่กันไปกับการสร้างภูมิต้านทาน เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางสังคม ดำเนินต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุข
ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน นอกจากจะเป็นความเสี่ยงในชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ยังหมายถึงการติดอยู่ในกับดักวิกฤตเศรษฐกิจของชาติด้วย ซึ่งช่วงส่งท้ายปีที่ผ่านมาที่เชื้อไวรัสฯลามหนัก “หมอยง” จึงกระทุ้งรัฐบาลให้ขบคิดเรื่องนี้โดยเร่งด่วน อย่าไปรอเฉพาะวัคซีนจาก AstraZeneca บริษัทเดียว
“หมอยง” ชี้ว่าทั่วโลกมีวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนให้ฉีดในภาวะฉุกเฉินแล้วถึง 6 ชนิด มีของจีน 3 ชนิด รัสเซีย 1 ชนิด อเมริกา 1 ชนิด และอเมริการ่วมกับเยอรมนี 1 ชนิด ขณะนี้มีประมาณ 10 ประเทศเริ่มฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 5 ล้าน โดส และภายในมกราคม จะมีการฉีดอีกหลายสิบเท่า และคาดว่าในเดือนมกราคม จะมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นเนื่องจากมีกว่า 30 ประเทศ ได้ขึ้นทะเบียนสามารถใช้วัคซีนได้แล้ว แต่เมื่อดูแผนที่และข้อมูลการวางแผนการให้วัคซีนทั่วโลก แม้กระทั่งแผนการขึ้นทะเบียนการใช้อย่างฉุกเฉิน ยังไม่มีประเทศไทย แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ นำหน้าไปแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยขยับตัวได้เร็วกว่านี้ เพราะการระบาดครั้งนี้รุนแรงกว่าที่คิด และผู้รับวัคซีนควรมีสิทธิ์เลือกที่ว่าจะฉีดหรือไม่
นั่นเป็นคำถามที่ “หมอยง” ทิ้งท้ายไว้เมื่อปลายปีก่อนที่จะมี “ข่าวดี” รับศักราชใหม่ที่รัฐบาลไทยจัดหาวัคซีนจากจีนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลานี้
สำหรับการเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนนั้น แรกสุด อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศพี่ใหญ่สุดของอาเซียน และมีประชากรมาสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก วางเเผนจะเริ่มเเจกจ่ายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับประชาชนกว่าร้อยล้านคนภายในเดือนมีนาคมนี้ ที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย มีแผนจะฉีดให้กับประชากรวัยทำงาน เป็นกลุ่มแรกๆ ถัดจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เเละเจ้าหน้าที่ทางการ โดยหวังว่าช่วยขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในขณะที่หลายชาติ ทั้งสหรัฐฯ เเละยุโรป เลือกฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ ก่อนเนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจเเละโรคเเทรกซ้อนมากกว่า
อินโดนีเซีย เตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนในเฟสแรก ด้วยวัคซีนของบริษัท Sinovac Biotech ของจีน โดยรัฐบาลได้ทำข้อตกลงซื้อวัคซีน 125.5 ล้านโดส ซึ่งตอนนี้วัคซีนลอตแรก 3 ล้านโดส ได้มาถึงอินโดนีเซียแล้ว ขณะที่วัคซีนของ Pfizer คาดว่าจะส่งถึงอินโดนีเซียในช่วงไตรมาส 3 ส่วนวัคซีนที่พัฒนาโดย AstraZeneca-Oxford จะเริ่มแจกจ่ายในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งการฉีดวัคซีนของอินโดฯ ในกลุ่มคนวัยทำงานก่อนนั้นถูกจับตามองจากนานาชาติเป็นพิเศษ
การฉีดวัคซีนของอินโดนีเซีย จะเริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการก่อน จากนั้นจะแจกจ่ายให้คนวัยทำงาน ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี ซึ่งเป็นลำดับการเข้าถึงวัคซีนที่เเตกต่างจากสหรัฐฯ เเละสหราชอาณาจักร ที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยก่อน ทำให้การเเจกจ่ายวัคซีนครั้งนี้ของอินโดนีเซีย ถูกจับตามองจากนานาประเทศเป็นพิเศษ
Budi Gunadi Sadikin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ประชากร 181.5 ล้านคน หรือประมาณ 67% ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และต้องการวัคซีนเกือบ 427 ล้านโดส กรณีที่ต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรคนละ 2 ครั้ง เพื่อลดอัตราการสูญเสีย 15%
ขณะที่ Faisal Rachman นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Mandiri บอกว่า ประชาชนวัยทำงาน อายุ 18-59 ปี เป็นกลุ่มที่มีความต้องการบริโภคสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ “พวกเขาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะการบริโภคในครัวเรือนมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมากกว่า 50% ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นในประเทศนั้น เป็นการลดความเชื่อมั่นของประชาชน”
รัฐบาลสิงคโปร์ ทุ่มงบฯ ซื้อวัคซีนราว 754 ล้านดอลลาร์ จากอาร์คทูรัส เทราพิวติกส์โฮลดิงส์, โมเดอร์นา, ไฟเซอร์ และซิโนแวค เพียงพอต่อพลเมืองทั้งหมดราว 5.7 ล้านคน ภายในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยฉีดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เข้ารับการฉีด
สำหรับ ฟิลิปปินส์ วางแผนจัดหาวัคซีนอย่างน้อย 50 ล้านโดส ในปี 2564 เพื่อฉีดให้ประชากร 1 ใน 4 ภายในปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 กลุ่มเป้าหมายแรกที่จะได้รับวัคซีน คือ บุคลากรทางการแพทย์และพนักงานในอุตสาหกรรมสำคัญ และกลุ่มเสี่ยง ภายใต้งบประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ และเจรจากับหลายบริษัท
ฟิลิปปินส์ ตั้งเป้าลงนามซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์-ไบออนเทค ภายในเดือนมกราคมนี้ เจรจากับโมเดอร์นา ขอซื้อ 20 ล้านโดส และเจรจากับแอสตร้าเซนเนก้า, โนวาแวกซ์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อย่างน้อย 80 ล้านโดส รวมทั้งกำลังรอผลวัคซีนสปุตนิกไฟว์ของรัสเซีย และซิโนแวคของจีนอีกด้วย
ส่วน มาเลเซีย เตรียมทุ่มงบ 504 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อวัคซีนให้เพียงพอกับประชากร 26.5 ล้านคน หรือราวๆ 80% ของประชากรทั้งประเทศ โดยเตรียมซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า 6.4 ล้านโดส ผ่านโครงการโคแวกซ์ และซื้อตรงอีก 6.4 ล้านโดส คาดว่าวัคซีนชุดแรกจะมาถึงในไตรมาส 2 ของปีนี้ และยังเจรจาซื้อวัคซีนกับซิโนแวค 14 ล้านโดส, แคนซิโนไบโอโลจิกส์ 3.5 ล้านโดส และสปุตนิกไฟว์ 6.4 ล้านโดส รวมทั้งเจรจากับโมเดอร์นาและ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ด้วย
สำหรับเวียดนาม กำลังพัฒนาวัคซีนของตนเอง โดยบริษัทนาโนเจน ฟาร์มาซูติคอล ไบโอเทคโนโลยีของเวียดนาม กำลังเริ่มทดลองวัคซีนนาโนโคแวกซ์ทางคลีนิคเฟสแรก ถ้าประสบผลสำเร็จคาดว่าจะผลิตได้ในปี 2565 อีกสองบริษัทจะเริ่มทดลองทางคลินิกในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมนี้ นอกจากนั้น เวียดนามยังเจรจาจัดซื้อจากไฟเซอร์ และผู้ผลิตรายอื่นๆ ในสหรัฐ สหราชอาณาจักร จีน และรัสเซีย
ขณะที่ รัฐบาลกัมพูชา นายกรัฐมนตรี “ฮุนเซน” จะจัดซื้อวัคซีนเฉพาะที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เท่านั้น โดยกัมพูชาจะไม่ใช้ประชาชนของตัวเองทดสอบวัคซีนจากที่ต่างๆ ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชา ประกาศเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมาว่า จะจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ล้านโดส สำหรับฉีดเฟสแรกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่กำหนดการมาถึงของวัคซีนยังไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ผู้นำเขมรยืนยันว่า วัคซีนสำหรับประชาชน 3.2 ล้านคน จะถูกจัดเตรียมภายใต้กลไก COVAX ส่วนวัคซีนสำหรับชาวเขมรอีกราว 13 ล้านคน หรือ 80% ของประชากรทั้งหมดของประเทศจะสั่งซื้อภายใต้กระบวนการต่างๆ ที่รวมถึงการเจรจาโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ผู้บริจาค และอื่นๆ
เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่อาเซียนวางแผนเอาไว้ค่อนข้างดี ขณะที่รัฐบาลลุงแม้ว่าจะขยับตัวช้าไปนิด แต่การที่ยอมรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและปรับปรุงก็ต้องถือว่า สอบผ่าน เช่นกัน
ส่วนการที่ กลุ่มซีพีโดยบริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติเคิล กรุ๊ป (CP Pharmaceutical Group) ได้ลงทุน 515 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 15,450 ล้านบาท เข้าครองสัดส่วนการถือหุ้น 15% ในบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ (Sinovac Life Sciences) ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบการผลิตวัคซีนโคโรนาแวค CoronaVac ในเครือ “ซิโนแวค ไบโอเทค” นั้น แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา แต่หากมองในแง่ดีก็ต้องบอกว่า น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้นกว่าเดิม