Font Size
 
 

โควิดไม่จบแค่หาย "หมอธีระ" ตอกย้ำข้อมูล ภาวะ "Long COVID" มีโอกาสเป็นถึง 20-40% อาจเจอความผิดปกติได้ถึง 200 อาการ

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค Thira Woratanarat อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ไม่ได้น่ากลัวแค่การติดเชื้อ แต่ยังต้องระวังถึงภาวะหลังการติดเชื้อ คือภาวะ "Long COVID" (ลองโควิด) ด้วย โดยระบุว่า 17 ก.พ.2565 ทะลุ 417 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,020,469 คน ตายเพิ่ม 10,193 คน รวมแล้วติดไปรวม 417,859,246 คน เสียชีวิตรวม 5,866,725 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน รัสเซีย บราซิล ฝรั่งเศส และตุรกี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 98.01 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิต คิดเป็นร้อยละ 97.92 ล่าสุด จำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้น คิดเป็นร้อยละ 53.44 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 38.34 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ มีประเทศจากยุโรปและเอเชีย ครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

อัพเดตเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนในสหราชอาณาจักรต่อ Omicron

UK HSA ได้เผยแพร่รายงาน COVID-19 Vaccine Surveillance Report วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญคือ

  1. หากดูประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในสหราชอาณาจักร (Astra 2 เข็ม และกระตุ้นด้วย Pfizer หรือ Moderna, หรือ mRNA vaccines 3 เข็ม) จะพบว่า มีประสิทธิภาพในการลดโอกาสป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล และลดโอกาสเสียชีวิตได้ดี แต่ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ (ป้องกันการป่วย)ได้ไม่มากนัก คือราว 50-75% ในช่วงสามเดือนแรกหลังฉีดเข็มกระตุ้น และเหลือ 40-50% หลังจากฉีดไป 4-6 เดือน (รูปที่ 1)
  2. หากดูเปรียบเทียบผลระหว่าง Omicron สายพันธุ์ดั้งเดิมคือ BA.1 กับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้นคือ BA.2 จะพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อทั้งสองสายพันธุ์นี้ดูจะไม่แตกต่างกัน (รูปที่ 2)

"Long COVID" อาการผิดเพี้ยน 200 แบบ ไม่อยากได้แต่เสี่ยงสูง 40% ดูรายละเอียด

"Long COVID" อาการผิดเพี้ยน 200 แบบ ไม่อยากได้แต่เสี่ยงสูง 40% ดูรายละเอียด

"หมอธีระ" ระบุว่า ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของการ "ฉีดวัคซีน" แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ การป้องกันตัวในระหว่างที่ดำเนินชีวิตประจำวัน แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ป่วยได้ และเสียชีวิตได้เช่นกัน การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น มีข้อมูลวิชาการแพทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่ติดเชื้อ รักษา แล้วจะจบ แต่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะอาการคงค้างระยะยาว "ลองโควิด" หรือ "Long COVID" ได้ โดยมีถึง 20-40% ของผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมดที่อาจเกิดภาวะนี้ 

นอกจากนี้ ยังเกิดได้กับทั้งคนที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรง ป่วยรุนแรงเสี่ยงกว่าป่วยไม่รุนแรง ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก ผู้หญิงเสี่ยงกว่าผู้ชาย แต่เน้นย้ำว่า ทุกเพศ ทุกวัย ทุกความรุนแรงเกิดได้หมด เชื่อกันว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิด Long COVID เพราะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบต่อเนื่องระยะยาวในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หรืออาจเกิดภาวะภูมิต้านทานตนเอง (autoantibody) Long COVID ในปัจจุบันมองว่า เป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ถึง 200 อาการ เกิดได้ทั้งในระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ผิวหนัง ส่งผลทั้งต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน สมรรถนะในการทำงานของผู้ป่วย และเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาว ทั้งต่อบุคคล ครอบครัว และสังคมได้ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

"หมอธีระ" ย้ำว่า สถานการณ์ไทยเรา การระบาดยังรุนแรง กระจายทั่ว และยังเป็นขาขึ้น ใส่หน้ากากนะครับ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้น ๆ เลี่ยงการกินดื่ม หรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/505721?adz=