เช็คชัด ๆ กิน "ฟ้าทะลายโจร" รักษาโควิดในผู้ป่วยอาการน้อย ต้องกินอย่างไรจึงจะปลอดภัย หากกินแล้วอาการแย่ลงควรทำอย่างไร คนกลุ่มใดบ้างที่ไม่ควรกินเด็ดขาด
สำหรับการใช้ยา "ฟ้าทะลายโจร" ดูแลผู้ติดโควิด 19 ในผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียว คือ อาการน้อยหรือไม่มีอาการ ซึ่งจากการติดตามพบว่าได้ผลดี โอกาสจะเกิดภาวะปอดอักเสบน้อยมาก แต่จะต้องใช้ให้ถูกต้อง โดยฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุแนวทางการกิน "ฟ้าทะลายโจร" สำหรับรักษาโควิด ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยที่ถูกวิธี และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา โดยมีรายละเอียดดังนี้
"ฟ้าทะลายโจร" เป็นพืชสมุนไพรรสขมที่มีการใช้กันมานานในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ในปัจจุบันเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีนักวิจัยสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยพบว่าสารสำคัญที่ชื่อว่า "แอนโดรกราโฟไลด์" (andrographolide) มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส จากผลการวิจัยดังกล่าวทำให้มีประชาชนจำนวนมากสนใจที่จะซื้อยาฟ้าทะลายโจร นำมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการของโควิด-19
ยา "ฟ้าทะลายโจร" ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มี 2 รูปแบบ
1. รูปแบบผงยา ซึ่งผงยาจะเตรียมจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร
2. รูปแบบสารสกัด
โดยทั้ง 2 รูปแบบ จะพบได้ในลักษณะของยาแคปซูลหรือยาเม็ด โดยมีสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือ สารสำคัญที่มีชื่อว่า "แอนโดรกราโฟไลด์" (andrographolide) ที่จะมีระบุไว้บนฉลากยา ซึ่งในแต่ละผลิตภัณฑ์อาจมีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) แตกต่างกัน หากผลิตภัณฑ์ใดไม่ได้ระบุไว้ แนะนำให้สอบถามจากทางผู้ผลิต
ผู้ที่รับประทานยา "ฟ้าทะลายโจร" ได้มีใครบ้าง
1. ผู้ที่มีอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปในผู้ใหญ่จะแนะนำให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มี andrographolide 60 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน
2. ผู้ที่ติดเชื้อโควิด19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ในผู้ใหญ่แนะนำให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มี andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วย โควิด19 ทุกคนควรใช้ยาฟ้าทะลายโจรภายใต้การดูแลของแพทย์
ผู้ที่รับประทานยา "ฟ้าทะลายโจร" ไม่ได้มีใครบ้าง
1. ผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่นลมพิษ ปากบวม หน้าบวม หายใจไม่ออก
2. หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
3. ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี และต้องการรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากยาฟ้าทะลายโจรไม่มีฤทธิ์ที่จะยับยั้งไวรัสเข้าเซลล์ จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้
วิธีเลือกยา "ฟ้าทะลายโจร" ที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย ควรพิจารณาข้อมูลที่สำคัญบนฉลากยา ดังนี้
1. เลขทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ ที่ขึ้นต้นด้วยอักษรตัว G ทั้งนี้สามารถนำเลขทะเบียนดังกล่าวไปตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้
2. ปริมาณสาร andrographolide และขนาดบรรจุ
3. ข้อมูลของผู้ผลิต
4. วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ
การเลือกซื้อยา "ฟ้าทะลายโจร" ควรเลือกซื้อกับผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตขายยาแผนโบราณที่ถูกต้องตามกฏหมาย
ข้อควรระวังในการรับประทานยา "ฟ้าทะลายโจร"
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต หากจำเป็นต้องใช้ยาฟ้าทะลายโจร ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต*
- ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด* เช่น ยาวอร์ฟาริน (warfarin)
- ผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด* เช่น ยาแอสไพริน (aspirin)
*เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร อาจเสริมฤทธิ์กันได้ หากจำเป็นต้องใช้ ยาฟ้าทะลายโจร ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ข้อควรระวัง
การรับประทานยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง หากท่านรับประทานยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงขึ้น แนะนำให้หยุดใช้ และรีบปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยาฟ้าทะลายโจรอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ ใจสั่น ซึ่งอาการเหล่านี้เมื่อหยุดรับประทานยาฟ้าทะลายโจร อาการจะค่อย ๆ หายเป็นปกติได้ หากสงสัยว่าจะแพ้ยาฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม หายใจไม่ออก ให้หยุดรับประทานทันที แล้วรีบพบแพทย์
ที่มา: โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล