Font Size
 
กลางมิ.ย.นี้ "โควิด-19" เข้าสู่ระยะ "โรคประจำถิ่น" เร็วกว่าคาดการณ์
กลางมิ.ย.นี้โควิด19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น สธ. เผยสถานการณ์ โควิด19 ดีขึ้นมาก เข้าสู่โรคประจำถิ่นเร็วกว่าคาดการณ์กว่าครึ่งเดือน พร้อมปรับระบบดูแลรักษาผู้ป่วย-เตรียมรองรับ Long COVID ลองโควิด

 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามกำหนดกว่าครึ่งเดือน จึงให้ทุกหน่วยงานเตรียมวางแผนการดำเนินงานรองรับ โดยเฉพาะเรื่อง ระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงลดลงอย่างมาก ความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

กรมการแพทย์ ได้เสนอปรับการดูแลในรูปแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง จะรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ในโรงพยาบาล เน้นการเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ยังเตรียมพร้อมการดูแลภาวะลองโควิด โดยกรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการคัดกรองและการประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงวางระบบดูแลรักษาติดตามอาการ สิ่งสำคัญคือ มีการบูรณาการการรักษาภาวะลองโควิดไปยังทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง มีช่องทางการให้คำปรึกษาส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล และเก็บข้อมูลผู้ป่วยภาวะลองโควิดรายสัปดาห์หรือรายเดือน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ ให้สามารถเดินหน้าเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับ มาตรการด้านกฎหมายและสังคมจะมีการปรับให้สอดคล้องเช่นกัน เช่น การปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การปรับลดมาตรการต่างๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายใต้วิถีชีวิตใหม่ บนหลักการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคได้ โดยเฉพาะการคงหลักพฤติกรรมสุขอนามัยที่พึงประสงค์ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าไปในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี มีคนรวมตัวกันหนาแน่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรือมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย การล้างมือบ่อยๆ คัดกรองตนเองเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ ขณะที่สถานประกอบการและกิจการต่างๆ ยังต้องเข้มการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาด จัดการขยะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย ไม่เฉพาะแค่โรคโควิด 19 แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย

กลางมิ.ย.นี้ "โควิด-19" เข้าสู่ระยะ "โรคประจำถิ่น" เร็วกว่าคาดการณ์

เกณฑ์พิจารณาโรคประจำถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดเกณฑ์การพิจารณาเป็น โรคประจำถิ่น ของโควิด19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผ่านความเห็นชอบ ศบค. เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565  ได้แก่  

1. ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน  เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย ในวงกว้างกันอย่างเต็มที่ โดยวิธีการดู คือ ดูแนวโน้มการติดเชื้อ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก อัตราการครองเตียง ระดับ 2 และระดับ 3 

2.การฉีดวัคซีนโควิด19  ครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรรวม ฉีดเข็มกระตุ้นได้ มากกว่า 60 % ของประชากรตามสิทธิ์การรักษา  โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 80 % จากประชากรตามสิทธิการรักษา ได้รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60%ขึ้นไป ก่อน  1 ก.ค.2565

และ3. จำนวนผู้เสียชีวิต โดยคิดคำนวณจากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด19 หารด้วยผู้ป่วยโรคโควิด19ที่รับการรักษา  คูณด้วย 100  จะต้องน้อยกว่า 0.1 % รายสัปดาห์ ช่วง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน 

คาดกลางมิ.ย.โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ สธ.ได้มีการเสนอ ระยะดำเนินการแผนและมาตรการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข โดยแบ่งการบริหารจัดการ โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นหรือPost pandemic เป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 Combatting ต่อสู้  ช่วง12มี.ค.-ต้นเม.ย.2565
ระยะที่2  Plateau คงตัว  ช่วงเม.ย.-พ.ค.2565
ระยะที่3 Declining ลดลง ช่วงปลายพ.ค.-30มิ.ย.2565
และระยะที่ 4   Post Pandemic  โรคประจำถิ่น/โรคติดต่อทั่วไป ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป
ฉะนั้น เมื่อสธ.ระบุว่าโควิด-19 น่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็วกว่าคาดการณ์ราวครึ่งเดือน จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางมิ.ย.2565 เนื่องจากคาดการณ์ คือ 1 ก.ค.2565 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1005081?anf=