"หมอธีระ" เปิดข้อมูล ประสิทธิภาพ "วัคซีนโควิด" ชนิดใดสู้ Omicron ได้ดีสุด ขณะที่ Long COVID ส่งผลระยะยาว ทำขาดแคลนแรงงาน
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด19" เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 794,802 คน ตายเพิ่ม 1,377 คน รวมแล้วติดไปรวม 523,707,042 คน เสียชีวิตรวม 6,292,170 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ เยอรมัน ออสเตรเลีย ไต้หวัน และอิตาลี
สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่าเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียเท่ากับไต้หวัน ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 20.32% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
อัพเดตความรู้
1. van Gils MJ และคณะจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เปรียบเทียบประสิทธิภาพของ "วัคซีนโควิด" ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด (แอนติบอดี้) ต่อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมถึง Omicron โดยวัด ณ 4 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีน และหลังฉีดเข็มกระตุ้น เป็นที่ชัดเจนว่า วัคซีนประเภท mRNA มีประสิทธิภาพดีกว่าประเภท viral vector
2. Nordstrom P และคณะ จากประเทศสวีเดน ชี้ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่าการฉีดเข็มกระตุ้นเพียงเข็มเดียวได้อีก 42% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 35%-49%)
3. ข้อมูลจาก Prof.Page C (UK) สรุปสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรว่า ปัจจุบันมีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดในรอบ 50 ปี ทั้งนี้ทาง BBC ชี้ให้เห็นว่ามีตำแหน่งงานว่างถึง 1.3 ล้านตำแหน่ง เพราะมีจำนวนแรงงานในระบบที่ลดลง อันเป็นผลมาจาก 3 เหตุผลหลักคือ กฎเกณฑ์สำหรับแรงงานหลังนโยบาย Brexit, การออกจากระบบแรงงานของคนที่สูงอายุหลังช่วงโควิดระบาด, และการมีจำนวนคนที่ประสบปัญหาเจ็บป่วยระยะยาวที่มากขึ้น (Long term sickness)
ทั้งนี้ข้อมูลจาก Bank of England วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ระบุว่าการขาดแคลนแรงงานวัย 16-64 ปีอันเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยระยะยาวนั้นสูงขึ้นเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิง และเชื่อว่าเป็นผลมาจากโรคระบาดและ Long COVID
สถานการณ์ที่เห็นในต่างประเทศนั้น ไทยจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า และเตรียมรับมือสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นผลมาจากการติดเชื้อจำนวนมาก ตั้งแต่ระลอกสอง (ปลายปี 63 ถึงต้นปี 64 จากสายพันธุ์ G) ระลอกสาม (เมษายนปี 64 จนถึงปลายปี จากอัลฟ่าและเดลต้า) และสี่ (Omicron ตั้งแต่ต้นปี 65 เป็นต้นมา) ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดผู้ป่วย Long COVID มีผลทำให้บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน และการทำงาน การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
อ้างอิง
1. van Gils MJ et al. Antibody responses against SARS-CoV-2 variants induced by four different SARS-CoV-2 vaccines in health care workers in the Netherlands: A prospective cohort study. PLOS Medicine. 17 May 2022.
2. Nordstrom P et al. Effectiveness of a Second COVID-19 Vaccine Booster on All-Cause Mortality in Long-Term Care Facility Residents and in the Oldest Old: A Nationwide, Retrospective Cohort Study in Sweden. SSRN (Preprints with The Lancet). 12 May 2022.