Font Size
เปิดหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ สกัดโควิดในที่ทำงาน เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 8 ก.ค.
 
 
 

กรมอนามัย เปิดหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ สกัดโควิดในที่ทำงาน เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 8 ก.ค. เผย 11 ข้อปฏิบัติช่วยลดความเสี่ยง และ 4 ข้อต้องทำเมื่อพบผู้ติดเชื้อ

 

วันที่ 16 ก.ค.65 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการป้องกันโควิดของสถานประกอบกิจการ ว่า ขณะนี้มีการออกประกาศฉบับใหม่ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และมาตรการด้านสุขลักษณะป้องกันความเสี่ยงจากโรคโควิด 19 สำหรับสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป

 

สาระสำคัญคือ กำหนดให้ผู้ดำเนินกิจการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และมาตรการด้านสุขลักษณะป้องกันความเสี่ยงโควิด ดังนี้

1.ทำความสะอาดอาคารสถานประกอบกิจการ พื้น ผนัง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยหรือสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์โดยสาร เป็นต้น

2.ทำความสะอาดเครื่องมือ เครื่องใช้ ภาชนะ อุปกรณ์และเครื่องจักรเกี่ยวกับกระบวนการผลิต และการประกอบกิจการที่มีการสัมผัสบ่อย หรือสัมผัสร่วมกัน ก่อนและหลังประกอบกิจการ หรือให้บริการทุกครั้ง

3.จัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมน้ำและสบู่อย่างเพียงพอ

4.มีมาตรการเว้นระยะห่างในพื้นที่ปฏิบัติงานและพื้นที่ให้บริการอย่างเหมาะสม

5.มีระบบระบายอากาศในอาการที่ดีและเพียงพอ

6.จัดให้มีภาชนะบรรจุ หรือภาชนะรองรับที่เหมาะสมและเพียงพอกับประเภทและปริมาณของมูลฝอย

7.จัดให้มีอุปกรณ์ทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาด สารฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ

8.กำกับ ดูแล ให้ผู้ปฏิบัติงานรักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด และมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี

9.สถานประกอบกิจการที่มีโรงอาหาร สถานที่รับประทานอาหาร หรือมีการให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ต้องจัดบริการที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย 

10.กำกับ ดูแล คัดกรองผู้ปฏิบัติงาน หากพบว่ามีอาการป่วยหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อให้พิจารณาหยุดปฏิบัติงาน และ

11.กำกับ ดูแล ให้ผู้ปฏิบัติงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หรือชุดปฏิบัติงานที่เหมาะสม

“กรณีพบการแพร่ระบาดในสถานประกอบกิจการ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านสุขลักษณะและมาตรการป้องกันความเสี่ยงโควิดเพิ่มเติม จนกว่าจะพ้นระยะเวลาการแพร่เชื้อ คือ

1.ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่คาดว่าพบผู้ติดเชื้อทันที

2.ถ่ายเทอากาศบริเวณที่พบผู้ติดเชื้อทันที และปรับปรุงระบบระบายอากาศให้ดีขึ้น

3.เว้นระยะห่างผู้ปฏิบัติงานในแผนกที่พบผู้ติดเชื้อ และแผนกที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร และ

4.จัดการมูลฝอยประเภทที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง ในแผนกที่มีผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ติดเชื้อ และบริเวณที่เกี่ยวข้อง จัดที่ทิ้งเป็นการเฉพาะ แยกเก็บรวบรวมและทำลายเชื้อโรค โดยใส่ถุงแดง แต่หากไม่มีต้องมีข้อความ “มูลฝอยติดเชื้อ” บนถุง

นอกจากนี้ ต้องประเมินตนเองด้านสุขลักษณะและมาตรการป้องกันความเสี่ยงโควิดตามที่กรมอนามัยกำหนดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก่อนการต่อใบอนุญาต หรือกรณีมีความเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ข้อมูลจาก https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_7165369